สัญญาณดี เศรษฐกิจฟื้นตัว

18 พ.ย. 2563 | 07:26 น.

สัญญาณดี เศรษฐกิจฟื้นตัว : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3628 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 19-21 พ.ย.2563

 

          สถานการณ์ทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ เห็นได้จากตัวเลขล่าสุดที่สภาพัฒน์ได้ออกมาแถลงจีดีพีไตรมาส 3 ฟื้นตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 โดยตัวเลขจีดีพีหดตัว 6.4% ทำให้ตัวเลขจีดีพี ช่วง 9 ดือนแรกของปีนี้หดตัวแค่ 6.7% ทำให้ปรับคาดการณ์จีดีพีใหม่ทั้งปี จากที่เคยคาดว่าจะหดตัวสูงถึง 7.8% ลงเหลือเพียงแค่ 6% เท่านั้น ซึ่งสภาพัฒน์เป็นหน่วยงานทางการรายแรกที่ออกมาประเมิน หลังจากนี้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คงปรับประมาณการตามมาอีกที โดยตัวเลขจะมีข้อแตกต่างกันบ้าง ตามปัจจัยความเสี่ยงและน้ำหนักในการวิเคราะห์ที่แต่ละหน่วยงานมองเห็น

          ตัวเลขสำคัญที่เป็นสัญญาณบ่งชี้ทิศทางที่ดีขึ้น เป็นการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของเอกชนในไตรมาส 3 ลดลง 0.6% เทียบกับการลดลง 6.8% ในไตรมาสก่อนหน้า ปัจจัยสนับสนุนมาจากการที่รัฐบาลผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ส่งผลให้ประชาชน ส่วนใหญ่เริ่มคลายความวิตกกังวล ขณะที่ภาคธุรกิจเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัว ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น หลังจากที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่รายได้ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร
  

          ด้านการลงทุน ลดลง 2.4% ปรับตัวดีขึ้นจากที่ลดลง 8% ในไตรมาสที่ 2 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 10.7% เทียบกับการลดลง 15% ในไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่การลงทุนภาครัฐขยายตัว 18.5% ต่อเนื่องจากการเพิ่มขึ้น 12.5% ในไตรมาสก่อนหน้า การก่อสร้าง ขยายตัว 0.3% ปรับตัวดีขึ้นจากการลดลง 2.0% ในไตรมาสก่อนหน้า การก่อสร้างโรงงานอุตสาหกรรมขยายตัว 17.5% และการก่อสร้างอื่นๆ ขยายตัว 22.9% ด้านเครื่องจักรเครื่องมือ ลดลง 14% ดีขึ้นจากที่ลดลง 18.4% ในไตรมาสก่อนหน้า และแนวโน้มการลงทุนในด้านเครื่องจักรเครื่องมือของภาคเอกชน เริ่มมีสัญญาณการปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการโควิด-19

​​​​​​​          การส่งออกลดลง 7.7% การนำเข้าลดลง 17% อันเนื่องมาจากมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศคู่ค้าส่งผลให้สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญชะลอตัวตามไปด้วย ซึ่งยังคงต้องรอสถานการณ์โควิดคลี่คลาย การลงทุน การบริโภคของตลาดโลกฟื้นตัวสินค้าส่งออกจะฟื้นตัวตาม อย่างไรก็ดี แนวโน้มไตรมาส 4 การส่งออกของไทยมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ที่ยังคงมีปัญหาการฟื้นตัวอย่างมากคือด้านบริการ การท่องเที่ยว ที่กลุ่มนี้มูลค่าลดลง 73.3% ต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าที่ลดลง 68% เนื่องจากรายได้การท่องเที่ยว ค่าโดยสารลดลงอย่างมาก จากการที่ยังไม่มีการเปิดรับนักท่องเที่ยวตามมาตรการป้องกันโควิด-19
     

​​​​​​​          อย่างไรก็ดี สภาพัฒน์ยังคงกังวลปัจจัยลบในแง่การจ้างงานที่ยังคงเปราะบาง ทั้งอัตราการว่างงานที่อยู่ในระดับสูงขึ้น และชั่วโมงการทำงานที่ลดลง แต่จากตัวเลขที่รายงานออกมานั้น ชี้ให้เห็นสัญญาณการฟื้นตัว ที่ทุกฝ่ายต้องผลักดันให้เกิดแรงเหวี่ยงรักษาแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุน การบริโภคภาคเอกชน ที่จะขยับสนับสนุนแรงส่งที่มาจากภาครัฐ ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองในประเทศต้องเอื้อต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจด้วย ซึ่งจะเป็นการช่วยปิดความเสี่ยงจากต่างประเทศที่ไม่สามารถควบคุมได้