อื้ออึงค่าโง่โฮปเวลล์ เหลือ1.5 หมื่นล. โอนไป ‘มอริเชียส’

18 พ.ย. 2563 | 04:32 น.

อื้ออึงค่าโง่โฮปเวลล์ เหลือ1.5 หมื่นล. โอนไป ‘มอริเชียส’ : คอลัมน์ห้ามเขียน ฉบับที่ 3,628 หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 19 - 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563

          นกกา กระจิบกระจาบ พิราบน้อยพากันบินแตกฮือ ตีพึ่บๆพั่บๆ ดังลั่นสนั่นไปทั่วทั้งศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 อาคารรัฐประศาสนภักดี 

          เมื่อคณะผู้ตรวจการแผ่นดิน 3 คน ประกอบด้วย พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน อดีตรักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม อดีตเลขาธิการสภากลาโหม นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดศรีษะเกษและระยอง นายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา อดีตประธานศาลอุทธรณ์ภาค 3 และภาค 9 ได้วินิจฉัยข้อร้องเรียนของกระทรวงคมนาคม และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)ซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายรัฐ กรณีศาลปกครองสูงสุดมีคำตัดสินให้ “รัฐ” จ่ายเงินค่าผิดสัญญาแก่บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) ตามคำตัดสินของคณะอนุญาโตตุลาการ รวมเงินต้นดอกเบี้ย 2.5 หมื่นล้านบาทว่า “ไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 213”

          คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยเรื่องร้องเรียนแล้ว มีมติ “หักคำสั่งศาลปกครองสูงสุด” แบบเละเป็นโจ๊ก

          อีเห็นบอกว่า นี่อาจจะเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่มีการจัดตั้งศาลปกครอง และมีการจัดตั้งผู้ตรวจการแผ่นดินขึ้นมาในประเทศไทย ที่หน่วยงานของรัฐตรวจสอบคะคานอำนาจกันจะ “หัก” กันชนิดที่เดินไปคนละทาง...หึหึ

อื้ออึงค่าโง่โฮปเวลล์ เหลือ1.5 หมื่นล. โอนไป ‘มอริเชียส’

          พ.ต.ท.กีรป กฤตธีรานนท์ เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า คณะผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาคำร้องแล้ววินิจฉัยว่า 1. มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2545 ไม่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมาย เนื่องจากไม่ได้ส่งให้สภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบและไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา มตินั้น จึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่สามารถใช้บังคับได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 5 มาตรา 6 และมาตรา 44 

          2. มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดดังกล่าว ยังกำหนดให้เริ่มนับอายุความคดีปกครองตั้งแต่วันที่ “ศาลปกครองเปิดทำการ” คือ ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2544 นั้น ถือว่า ผิดไปจากพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 มาตรา 51 ที่บัญญัติว่า ให้เริ่มนับระยะเวลาอายุความคดีปกครองตั้งแต่ “วันที่รู้ หรือควรรู้ ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี” 

          ดังนั้น จึงเป็นการขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง มาตรา 188 และมาตรา 197 อันเป็นมติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นการกระทำที่ไม่อาจใช้บังคับได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 วรรคหนึ่ง และบุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิดังกล่าว สามารถใช้สิทธิทางศาลรัฐธรรมนูญได้ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 25 วรรคสาม 

          ดังนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงวินิจฉัย ให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบ มาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561

          พรานฯ แปลไทยเป็นไทยว่า คดีค่าโง่โฮปเวลล์ 2.4 หมื่นล้าน ยังไม่จบอย่าเพิ่งนับศพทหารขอรับนายท่าน

อื้ออึงค่าโง่โฮปเวลล์ เหลือ1.5 หมื่นล. โอนไป ‘มอริเชียส’
 

           แนวทางการยื้อเวลาจ่ายเงินค่าโง่โครงการโฮปเวลล์ 2.5หมื่นล้านบาทของ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระรวงคมนาคม และ “นิรุฒ มณีพันธ์” ผู้ว่าการ รฟท.ผู้เป็นนักกฎหมาย ที่แลกกับการยอมจ่ายค่าปรับดอกเบี้ยวันละ 4.6 ล้านบาท กำลังเจอแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ในข้อต่อสู้ทางคดี...ปรบมือสิพี่น้อง

           แรกเริ่มเดิมทีผู้คนในประเทศต่างปรามาสรัฐมนตรีศักดิ์สยามว่า “บ่มีไก๊ ค่าโง่โฮปเวลล์ 2.5 หมื่นล้านบาทปิดเกมไปแล้ว” แต่รัฐมนตรีโอ๋-ศักดิ์สยาม เป็นเลือดนักสู้เต็มตัวประกาศไม่ยอมจ่าย ดิ้นรนตั้งกรรมการขึ้นมาและตั้ง “ทนายนกเขา-นิติธร ล้ำเหลือ” เดินเกมสู้ตามข้อกฎหมาย เรียกร้องไปยังดีเอสไอ-ปปง.ผู้ตรวจการแผ่นดินให้กระโดดเข้ามาร่วมหาทางแก้ไข จนสุดท้ายผู้ตรวจการแผ่นดินกลายเป็นผู้ปลดล็อก

          ตอนแรกทุกคนงงที่ รัฐมนตรีโอ๋-ศักดิ์สยาม ประกาศว่า ตอนนี้ประเด็นตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยถือว่าถึงที่สุดแล้ว   

          อย่างไรก็ตาม หากมีข้อเท็จจริงอื่น ก็อาจร้องขอให้พิจารณาคดีใหม่ได้ตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ฝ่ายรัฐอาจยื่นคำร้องต่อศาลปกครองชั้นต้นได้ โดยต้องกระทำภายใน 90 วันนับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุนั้น แต่ต้องไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่อ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด...

          แต่ตอนนี้ถึงบางอ้อ...สมแล้วที่ท่านเป็นศักดิ์แห่งสยาม...พรานฯขอชื่นชม

          ขณะที่ ผู้ว่าการรถไฟฯ นิรุฒ ก็ประกาศชัดเจนว่า จะยังไม่ชดใช้ค่าเสียหายให้บริษัทโฮปเวลล์ฯ แต่อย่างใด เพราะยังไม่มีข้อยุติ

          นิรุฒเคยบอกว่า “เมื่อศาลปกครองสูงสุดกลับคำตัดสินเป็นว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการใช้ได้ หลายคนอาจเข้าใจว่าคำตัดสินใจของศาลปกครองสูงสุดเป็นที่สุด และเป็นคำพิพากษาที่ให้ชดใช้ค่าเสียหาย แต่ไม่ใช่... คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เป็นเพียงการบอกว่า คำตัดสินของอนุญาโตตุลาการใช้ได้เท่านั้น ดังนั้น การบังคับคดีในส่วนของการ

          ชดใช้ค่าเสียหายจะต้องดำเนินการตามพ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545”  

          “คณะทำงานฯที่มีรองปลัดกระทรวงคมนาคมกำลังทำงานหนัก โดยพยายามหาทางทุกวิถีทาง เช่น เดินทางไปที่ดีเอสไอ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษว่า กระบวนการไม่ชอบกฎหมายตั้งแต่เริ่มต้น เช่น ประเด็นที่บอกว่าทีโออาร์กำหนดให้คนที่มาทำงานมีคุณสมบัติอย่างนี้ แล้วโฮปเวลล์ฮ่องกงมีคุณสมบัติที่เข้ามาแล้วได้งาน แต่วันเซ็นสัญญาจริงๆ ก็เอาเด็กเกิดใหม่คนหนึ่ง คือ บริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เข้ามารับงานก็ต้องสู้” วันนี้คนไทยได้เห็นผู้บริหารหน่วยงานของรัฐฮึดสู้แล้ว

          ในระหว่างทางของการสู้รบทางคดีค่าโง่โฮปเวลล์ก้อนโต 2.5 หมื่นล้านบาทนั้น พรานฯพามาดูเรื่องราวที่ฉาวโฉ่และป้องปากซุบซิบกันในกระทรวงหูกวางและย่านวิภาวดีรังสิต

          เมื่อศาลปกครองสูงสุดมีมติให้รัฐจ่ายเงินแก่โฮปเวลล์ ปรากฎว่า รองปลัดกระทรวงคมนาคมท่านหนึ่งได้ไปเจรจากับ “เสี่ย อ.” เจ้าของตัวจริงเสียงจริงเพื่อหาทางปรับลดค่าเสียหาย ปรากฏว่า ทาง “เสี่ย อ.” เจ้าของยอมลดค่าเสียหายเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท ลดให้ไปก้อนโต 7,000 ล้านบาท ยิ้มแปร้กันทั้งคณะ

          แต่ทนายนกเขาดั๊นประกาศว่า ใครคนไหนจ่ายค่าโง่โฮปเวลล์ไปพ่อจะฟ้องให้หมด...ก็ถอยกรูดสิพี่น้อง

อื้ออึงค่าโง่โฮปเวลล์ เหลือ1.5 หมื่นล. โอนไป ‘มอริเชียส’
 

           2 เดือนต่อมามีการเจรจากันใหม่ รอบนี้ทาง “เสี่ย อ.” ใจปั้มยอมลดให้อีก 3,000 ล้านบาท เหลือจ่ายแค่ 1.5 หมื่นล้านบาทขาดตัว...

          อื้อหือ ลดให้ 2 ครั้งรวม 10,000 ล้านบาทเชียวขอรับ...พรานฯ ไม่ขอนับค่าปรับนับตั้งแต่ศาลสั่งอีกกว่า 1,200 ล้านบาทนะพ่อเจ้าพระคุณ

          เจ้าของตัวจริงเสียงจริงระบุว่า โฮปเวลล์มีค่าใช้จ่ายที่จ่ายซัพพลายเออร์ที่ค้างมายาวนานราว 5,000 ล้านบาท มีภาระที่ต้องจ่ายภาษีแก่กรมสรรพากร 1,200 ล้านบาท ค่าเช่าที่ดิน รฟท.อีกราว 1,100 ล้านบาท

          เหลือค่าเสียหายที่ต้องรับจริงจากที่ลงทุนไปแล้วแค่ 7,000 ล้านบาทเท่านั้น...อิๆ

          แต่มีข้อแม้ว่า รัฐจะต้องเป็นผู้โอนจ่ายเงินค่าเสียหายทั้งก้อน 1.5 หมื่นล้านบาท ไปให้ที่หมู่เกาะมอริเชียส...โปรดฟังอีกครั้งหนึ่ง โอนเงินไปให้ที่เกาะมอริเชียสซึ่งเป็นหมู่เกาะที่ปลอดภาษี ...555

          คำถามคือทำไมต้องไปที่นั่น เพราะโครงสร้างบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จำกัด มี บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้งส์  ลิมิเต็ด สัญชาติฮ่องกงถือหุ้นใหญ่ ต่อมาเมื่อวันที่ 29 พ.ย.2548 โอนให้  บริษัท ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด สัญชาติ มอริเชียส เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 1,499,999,994 หุ้น สัดส่วน 96.66%

          บริษัท ยูไนเต็ด ซัคเซส ลิมิเต็ด นั้น ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ฟีเล็กซ์ เฮ้าส์ ดร.โจเซฟ ริวิเย ซึ่งเป็นพื้นที่ย่านไชน่าทาวน์ของเมือง Port Louis ประเทศมอริเชียส 

          อะแฮ่มแล้วบริษัทที่หมู่เกาะมอริเชียสนี้ใครเป็นเจ้าของ...ใช่คนไทยหรือไม่...อีนี่พรานฯ รู้นะเสี่ย...555

          ถึงตอนนี้พอผู้ตรวจการแผ่นดินยิ่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้ตัดสินคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด เชื่อพรานฯหรือไม่ว่า ราคาการจ่ายของหน่วยงานรัฐจะลดลงอีก แต่จะเหลือเท่าใด อันนี้พรานฯ ไม่รู้ รู้แต่ว่า อำนาจการต่อรองของ “เสี่ย อ.” ลดลงเรื่อยๆ  

          ยกเว้น มีคำสั่งพิเศษ...555

                                                                           ขอบคุณเอกสารของสำนักข่าวอิศรา