“ท่าเรือชินโจว” เชื่อมการค้าระหว่างประเทศแบบไร้รอยต่อ และโอกาสการส่งออกของไทย

17 พ.ย. 2563 | 23:25 น.

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

         กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

         สถานกงสุลใหญ่ ณ นครหนานหนิง

- - - - - - - - - - - 

“ท่าเรือชินโจว” (Qinzhou Port) ตั้งอยู่ที่เมืองชินโจว ศูนย์กลางของกลุ่มท่าเรือสากลอ่าวเป่ยปู้ ในเขตทดลองการค้าเสรีกว่างซี เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงของจีน ถือเป็น “จุดเชื่อมต่อ” สำคัญที่ใช้เชื่อมการขนส่งทางเรือกับทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ “ระเบียงการขนส่งเชื่อมทางบกกับทางทะเลแห่งภาคตะวันตก” (New International Land-Sea Trade Corridor - ILSTC) ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่จีนกำลังเร่งผลักดันอย่างหนัก เพื่อเชื่อมโยง การค้าระหว่างอาเซียน-จีน- เอเชียกลาง-ยุโรป

“ท่าเรือชินโจว” เชื่อมการค้าระหว่างประเทศแบบไร้รอยต่อ และโอกาสการส่งออกของไทย

เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ผ่านมา ท่าเรือชินโจวได้เริ่มพัฒนาและยกระดับท่าเทียบเรือให้เป็น “ท่าเทียบเรืออัจฉริยะ (Smart Port)” ที่ทำงานด้วยระบบควบคุมอัตโนมัติ รวมถึงระบบร่องน้ำเดินเรือทางคู่ ที่สามารถรองรับเรือขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ 1 หมื่น TEUs และภายในปลายปี 2563 จะเริ่มงานก่อสร้างและพัฒนาท่าเทียบเรือหมายเลข 9-10 ให้เป็นท่าเทียบเรือขนาดใหญ่ระดับ 2 แสนตัน ซึ่งท่าเรือชินโจวนั้นนับเป็นเป็นท่าเทียบเรืออัจฉริยะที่มีฟังก์ชันรองรับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ “เรือ+รถไฟ” เป็นแห่งแรกของประเทศจีน 

 

ท่าเรือชินโจวมีการพัฒนาระบบ“ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์” สำหรับรองรับเส้นทาง ILSTC ที่เปิดการใช้งานเฟสแรกไปแล้วเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 เพื่อให้การขนส่งตู้สินค้าระหว่างจีนและต่างประเทศสามารถขนส่งระหว่างกัน หรือส่งต่อไปยังประเทศที่ 3 ในแถบเอเชียกลางและยุโรปได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น จึงถือเป็น 1 ใน 12 ศูนย์บริการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ที่สำคัญของประเทศจีน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากการขนส่งในข้างต้น คือ การบริการด้านโลจิสติกส์ที่มีประสิทธิภาพสูงและข้อได้เปรียบด้านระยะทางที่สั้น ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาไปได้มาก อีกทั้งต้นทุนการประกอบการของภาคธุรกิจจะลดลงอีกด้วย จากตัวอย่างการขนส่งระหว่างเดือนมกราคม-สิงหาคม 2562 (เปรียบเทียบกับปี 2561) พบว่าด่านท่าเรือชินโจวใช้เวลาในการดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้า 61.99 ชม. (จากเดิมใช้เวลา 267.44 ชม.) และพิธีการศุลกากรขาออกใช้เวลา 4.2 ชม. (จากเดิมใช้เวลา 43.55 ชม.) แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างอย่างชัดเจน หากเปลี่ยนมาทำการขนส่งรูปแบบดังกล่าว อย่างไรก็ดี การขนถ่ายตู้สินค้าระหว่างเรือและรางในเฟสแรกยังคงต้องใช้รถ shuttle เป็นตัวกลางในการวิ่งขนย้ายตู้คอนเทนเนอร์ไปก่อน เนื่องจากการติดตั้งระบบเครนตัวยกอัตโนมัติเพื่อขนย้ายตู้สินค้า โดยไม่จำเป็น ต้องใช้รถยกหรือรถ shuttle จะเริ่มงานก่อสร้างภายในปี 2564

“ท่าเรือชินโจว” เชื่อมการค้าระหว่างประเทศแบบไร้รอยต่อ และโอกาสการส่งออกของไทย

นอกจากการพัฒนาด้านระบบและสิ่งก่อสร้างของท่าเรือฯ แล้ว รัฐบาลจีนก็กำลังมุ่งส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาใช้ประโยชน์จากเส้นทางขนส่งที่ท่าเรือชินโจวมากขึ้น ผ่านนโยบายเงินอุดหนุนและลดค่าใช้จ่าย ไม่ว่าจะเป็นการอุดหนุนตู้สินค้าที่ใช้การขนส่ง การลดค่าขนส่งทางรถไฟ และการลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ของท่าเรือฯ ในอัตราเท่ากับท่าเรือขนาดใหญ่อย่างท่าเรือเซี่ยงไฮ้ ประกอบกับการเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบน้ำหนักรถบรรทุกและการควบคุมปริมาณเรือในแม่น้ำ เพื่อให้ภาคธุรกิจหันมาใช้การขนส่งทางรถไฟแทนการขนส่งแบบเดิม

 

ปัจจุบัน ท่าเรือชินโจวสามารถรองรับการเทียบเรือได้หลากหลายประเภท ทั้งเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ เรือเอนกประสงค์ เรือบรรทุกน้ำมันดิบ เรือบรรทุกรถยนต์ประเภท Ro-Ro และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง มีเส้นทางเดินเรือทั้งหมด 49 เส้นทาง เป็นเส้นทางเดินเรือระหว่างประเทศ 28 เส้นทาง ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 57.14 และสินค้านำเข้า-ส่งออกส่วนใหญ่ก็มาจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยเฉพาะเวียดนาม สิงคโปร์ และไทย คิดเป็นสัดส่วนรวมถึงร้อยละ 40 จากทั้งหมด

 

ด้วยศักยภาพของท่าเรือชินโจว จึงไม่น่าแปลกใจที่ท่าเรือแหลมฉบังของไทยได้ร่วมลงนามสถาปนาความสัมพันธ์เป็น “ท่าเรือพี่น้อง” กับท่าเรือชินโจวเมื่อปี 2561 ซึ่งพันธมิตรทางธุรกิจนี้ ได้ช่วยให้ไทยมีปริมาณการขนส่งสินค้าไปท่าเรือชินโจวเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% ในปี 2562 และยังคงรักษาระดับการขยายตัวที่ 6% ในครึ่งแรกของปี 2563 แม้จะเผชิญผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19

 

 สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ผลไม้ แป้งมันสำปะหลัง และสินแร่ ทั้งนี้ การขนส่งสินค้าระหว่างท่าเรือชินโจวกับประเทศไทยในปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการวางแผนการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์รวมถึงตู้เปล่าจากฝั่งจีนไปไว้ที่ท่าเรือกรุงเทพและท่าเรือแหลมฉบัง เพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งสินค้าจากไทยไปยุโรปโดยไม่ต้องเปลี่ยนตู้สินค้า ช่วยให้สายเรือและผู้ประกอบการไทยที่ต้องการจะส่งออกสินค้าสามารถประหยัดต้นทุนและคลายข้อกังวลในเรื่องการขนตู้สินค้ากลับมายังท่าเรือต้นทางที่ไทยได้อย่างดี ดังนั้น ท่าเรือชินโจวจึงถือเป็นท่าเรือที่มีความสำคัญต่อการส่งออกไทยเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้ ท่าเรือชินโจวยังมีความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้งและการพัฒนาด้านห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งจะช่วยให้ท่าเรือฯ ก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการเดินเรือระหว่างประเทศที่มีความสำคัญในระดับภูมิภาค และมีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลก จึงถือเป็นทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจส่งสินค้าไปยังทั่วประเทศจีน ซึ่งจะสามารถช่วยประหยัดเวลาได้มากกว่าร้อยละ 70 จากการส่งแบบเดิมที่ใช้เวลาการส่งราว ๆ 1 เดือน จะเหลือเพียง 6-7 วันเท่านั้น

 

หรือผู้ประกอบการไทยอาจพิจารณาใช้ท่าเรือชินโจวเพื่อเป็น “ช่องทางกระจายสินค้า” สำหรับการส่งออกสินค้าไปยังเอเชียกลางและยุโรป ซึ่งการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการค้าระดับภูมิภาคนั้น จะช่วยยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการไทยทั้งภาคอุตสาหกรรม การเกษตร นำเข้า-ส่งออก และเทคโนโลยีในภายภาคหน้าอีกด้วย