นวัตกรรมความหวังใหม่ เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (6)

14 พ.ย. 2563 | 03:45 น.

นวัตกรรมความหวังใหม่ เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (6) : คอลัมน์เศรษฐทัศน์ โดย... ดร.กฤษฎา เสกตระกูล CFP® รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หน้า 6 หนังสือพิมพืฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3627 วันที่ 15-18 พ.ย. 2563

 

การที่ธุรกิจพัฒนา Eco-Innovation ยังมีความน่าสนใจตรงที่ว่า ถ้าทำได้ ไม่ได้เป็นการเพิ่มภาระหรือต้นทุนแก่ธุรกิจ แต่ในทางตรงกันข้ามกลับจะสามารถช่วยสร้างกำไร (Profitability) ในการทำธุรกิจตลอดห่วงโซ่คุณค่าของกิจการ

 

1) Shared Gains


 ในการสร้าง Eco-Innovation ให้เกิดขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์บริการ หรือกระบวนการธุรกิจจะต้องหาทางพัฒนาแบบจำลองธุรกิจควบคู่ไปด้วย แบบจำลองที่ว่าอาจเกี่ยวข้องกับการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ ซึ่งไม่เฉพาะแต่ภายในของธุรกิจเท่านั้น แต่จะต้องให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้เสียของธุรกิจด้วย อย่างนี้จึงจะเกิดมูลค่าเพิ่ม หรือประโยชน์ส่วนเพิ่มบนห่วงโซ่คุณค่าจากต้นน้ำถึงปลายน้ำได้ทั้งหมด เราอาจเรียกมูลค่าส่วนเพิ่มนี้ได้ว่า “Shared Gains” 


 Shared Gains อาจมีลักษณะเป็นการแก้ปัญหาโดยอาศัยนวัตกรรม (New innovative solution) ซึ่งเข้าไปช่วยแก้หรือลดปัญหาทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่ส่วนรวมกำลังเผชิญอยู่ 


 Shared Gains อาจเป็นผลประโยชน์หรือการประหยัดที่ได้จากนวัตกรรมนั้นที่ช่วยให้เกิดการจัดหาใช้วัตถุดิบในการผลิต และ/หรือการขนส่งวัตถุดิบ และสินค้าบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ


 Shared Gains อาจเป็นผลประโยชน์หรือการประหยัดที่ได้จากนวัตกรรมนั้นที่ช่วยให้เกิดการลดค่าใช้จ่ายจากการบริหารการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ


 Shared Gains อาจเป็นผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการ Shared costs ในการทำงานร่วมกันในทางเทคนิคและข้อมูล ซึ่งเกิดขึ้นจากการดำเนินงานเมื่อใช้นวัตกรรมนั้น


กรณีศึกษาบริษัท Eco2Distrb


 Eco2Distrb เป็น French Startup company ที่ทำธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เครื่องดื่ม (Liquid products) แก่ลูกค้าโดยตรง ที่ผ่านมามีอัตราการเติบโตของยอดขายกว่า 15% ต่อปี และสินค้าได้มีอัตราการหมุนเพิ่มขึ้นถึง 200% ในช่วง 3 ปี มีการขยายผลิตภัณฑ์ไปยังกลุ่ม Supermarket Chains ในประเทศและตลาดต่างประเทศเพิ่มขึ้น บริษัทได้ทำโครงการลดขยะที่เกี่ยวข้องกับการหีบห่อ (Packaging) ซึ่งจะต้องเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภค ทั้งนี้ต้องให้ความสำคัญโดยการทำให้เป็นกลยุทธ์ของธุรกิจ


 Eco2Distrb ได้ร่วมมือกับผู้เกี่ยวข้องต่างๆ บนห่วงโซ่คุณค่า เช่นมีการออกแบบขนาดของถุงบรรจุเครื่องดื่มขนาด 1,000 ลิตร ทำให้ลูกค้าไม่ต้องรับไปเป็นแบบขวด ซึ่งเกิดขยะมากกว่า หรือแม้แต่การจะให้มี Vending Machine เพื่อจำหน่ายเครื่องดื่มให้ลูกค้ารับไปจากเครื่องโดยตรงโดยไม่ต้องกลับมาที่เจ้าหน้าที่ทำการหีบห่ออีก ซึ่งช่วยประหยัดบรรจุภัณฑ์ ลดขยะและยังลดต้นทุนค่าใช้จ่าย ทำให้ราคาขายปลีกปรับลดลงได้ถึง 25% ซึ่งผู้บริโภคชอบมากเพราะได้เครื่องดื่มที่ราคาถูกลง และยังช่วยดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ด้วย

 

 

กรณีศึกษาบริษัท Interface


 Interface เป็นบริษัทผลิตพรมของสหรัฐอเมริกา ซึ่งสังเกตว่า เส้นใยไนล่อน (Nylon Yarn) เป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตพรม ซึ่งต้นทางการผลิตเส้นใยสังเคราะห์ประเภทนี้ก็ไม่ค่อยดีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว และพรมไนล่อนเก่าก็จะกลายเป็นขยะที่ยากทำลาย และส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอีก Interface จึงเริ่มโครงการผลิตพรมจากเส้นใยไนล่อนเก่าโดยนำมาทำการ Recycle
 

Interface ย้อนกลับไปดูว่าจะมี Partners ใครได้บ้างบนห่วงโซ่คุณค่าของตน โดยพยายามคิดนอกกรอบ จนได้พบกับ Zoological Society of London และ บริษัท Aquafil ที่เป็นคู่ค้าด้านเส้นใยเส้นใยของบริษัท Interface อยู่แล้ว Aquafil นี้เป็นบริษัทสัญชาติอิตาลี ทั้ง 2 พันธมิตรนี้ได้แนะนำว่ามีเส้นใยเก่าจากแหอวนเก่าจากการทำประมงในน่านนํ้าของฟิลิปปินส์ ทำให้ Interface สามารถมีแหล่งวัตถุดิบของ Recycled Yarn มาผลิตพรมได้

นวัตกรรมความหวังใหม่ เพื่อฟื้นฟูไทยกลับมา (6)

2) Stay Ahead of Standards and Regulation


 ความตั้งใจที่จะพัฒนา Eco-Innovation ในตัวของมันถือว่าจะเกิดสิ่งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว แต่อย่าสร้างแค่เพียงให้ผ่านต่อข้อกำหนดขั้นตํ่าตาม กฎระเบียบ และ/หรือกฎหมายเท่านั้น แต่ควรตั้งใจทำในสิ่งที่เป็นมาตรฐานที่สูง โดยเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งที่ทำเพียงใกล้กับมาตรฐานขั้นตํ่าแล้ว จะทำให้ผลิตภัณฑ์ของเรามีคุณค่ามากกว่านำไปสู่มูลค่าที่ดีกว่าและช่วยปิดประตูของโอกาส เช่น การขยายตลาดได้อย่างกว้างขวางและมั่นคงมากกว่า


กรณีศึกษาบริษัท multibax


 Multibax เป็นบริษัทของไทยที่ทำผลิตภัณฑ์ Biodegradable bag โดยนำพลาสติกบางชนิดที่ย่อยสลายได้มาทำการผสมกับสารธรรมชาติที่มีอยู่ในประเทศไทย ผลิตเป็นเม็ดไบโอพลาสติกและนำไปขึ้นรูปเป็นถุงพลาสติกที่สามารถย่อยสลายกลับคืนสู่ธรรมชาติกลายเป็นดินและนำไปปลูกพืชได้เมื่อมีการฝังกลบ


 Multibax เป็นตัวอย่างของบริษัทที่ยึดครองโอกาสจากการขยายตัวของความต้องการ Biodegradable bags ที่มาจากทั้งกฎระเบียบในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะทางยุโรปและจากกระแสความต้องการ Green Products ในลักษณะนี้ที่เกิดขึ้นทั่วโลก การทุ่มเทวิจัยและพัฒนาในนวัตกรรมนี้ผนวกกับโอกาสทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตได้หลายเท่า ผลิตภัณฑ์ของบริษัทผ่านมาตรฐานรับรองขั้นสูงในของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคต่างๆ ซึ่งมีบริษัทจำนวนน้อยเท่านั้นที่ผ่านมาตรฐาน


 ตัวอย่างของ Multibax ซึ่งเป็นบริษัทของคนไทย สามารถเป็นแรงบันดาลใจสำหรับผู้ประกอบการไทย ยกระดับตนเองออกจากการรับจ้างผลิต หรือก้าวออกจาก Comfort Zone ที่ว่าธุรกิจไทยเก่งแต่การให้บริการเท่านั้น หรือตัวอย่างของ Eco2Distrb และ Interface ซึ่งมองดูวิธีการทำบรรจุภัณฑ์ใหม่ หรือผลิตสินค้าจาก Recycled Materials เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เท่าที่ประเมินศักยภาพของผู้ประกอบการไทย ผมคิดว่าไม่น่าเกินฝีมือ 


 ประเทศไทยหลัง COVID-19 นี้ อยากเห็นภาครัฐภาคเอกชนร่วมใจสนับสนุนการพัฒนา Startups และ SMEs ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นที่พัฒนา Eco-Innovation ให้ได้ Eco-Products ใหม่ๆ ด้วยฝีมือของคนไทย และนำออกไปสู่ตลาดโลก อยากเห็นนโยบาย แผนงาน และการปฏิบัติให้เร็วที่สุด ผมไม่ได้ฝันใช่ไหมครับ คงได้เห็นเร็วไปนี้นะครับพี่น้อง