ล่าภาษี ‘บริษัทผีทนายดัง’ รายได้ 1,350 ล้านหายวับ

07 พ.ย. 2563 | 01:00 น.

ล่าภาษี ‘บริษัทผีทนายดัง’ รายได้ 1,350 ล้านหายวับ : คอลัมน์ห้ามเขียน หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,625 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 8 - 11 พ.ย.2563 โดย... พรานบุญ

ท่ามกลางปัญหาการจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษีในปี 2563 พลาดเป้าไปนับแสนล้านบาท จากภาวะวิกฤติของประเทศ ทำให้ปีนี้มีผู้ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดารวมแค่ 10 ล้านราย จากปีก่อน 11.5 ล้านราย ส่วนนิติบุคคลยื่นแบบเสียภาษีแค่ 2 แสนราย จาก 5 แสนราย รายได้ของกรมสรรพากรจึงหลุดเป้าหมายไปจากที่ตั้งไว้ 2.11 ล้านล้านบาทจำนวนอื้อซ่า

           

แถมการจัดเก็บรายได้ในปี 2564 ที่ตั้งเป้าหมายไว้ 2.08 ล้านล้านบาทตามเอกสารงบประมาณ อาจจะต้องรื้อใหญ่กันอีกครั้ง

           

นังบ่าง นังชะนี และอีเห็นบอกว่า ปฏิบัติการพิเศษที่เป็น “มิชชั่น อิมพอสสิเบิ้ล” ของทีมตามล่าเก็บภาษีที่จับมือกับกรมพัฒนาการค้าในขณะนี้คือ การเข้าไปเกาะติดบริษัทที่เจ้าของกิจการปิดกิจการ หรือจงใจทำให้เป็น “บริษัทร้าง” ที่ไม่เคยสำแดงภาษี และไม่เคยส่งงบการเงินจนต้องขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนราว 12,630 แห่งว่า มีรายได้หรือไม่ และใครบ้างแอบโอนเงินออกไปก่อนปิดบริษัททิ้ง

           

ปฏิบัติการพิเศษนี้เกิดขึ้นภายหลังเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญการจัดเก็บภาษีกลุ่มหนึ่งไปพบว่า มีบริษัทของทนายความชื่อดังกระฉ่อนรายหนึ่งที่จับมือกับ “อาเฉิง” นายทุนใหญ่เมืองจีน ได้เข้ามาลงทุนในโรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่ในจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาในปลายปี 2558 บริษัทแห่งนี้ได้ขายหุ้นที่ถืออยู่ในโรงแรมชื่อดังออกไปให้กับกลุ่มทุนในเมืองไทย และได้รับเงินไปราว 1,350 ล้านบาท

           

อีเห็นสาธยายให้เห็นภาพเส้นทางการเงินต่อไปว่า...เงินที่ได้รับจากการขายหุ้นดังกล่าว 1,350 ล้านบาท ได้มีการชำระเงินผ่านเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 10948... จำนวน 1,100 ล้านบาท และสั่งจ่ายผ่านเช็คธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 10948....จำนวน 240 ล้านบาท ไปยังบริษัทที่จัดตั้งขึ้นมาในประเทศไทยโดยทนายความชื่อดัง โดยทนายความคนนี้เป็นถือหุ้นอยู่ถึง 80% ผู้ถือหุ้นที่เหลือเป็นทนายความในสำนักงานทนายคนดังกล่าวนั่นเอง สถานที่ตั้งก็เป็นสำนักงานของทนายความชื่อดังนั่นแหละ

คำถามคือบริษัท ที่จัดตั้งขึ้นมาและขายหุ้นออกไปมีรายได้เกิดขึ้นจากการขายทรัพย์สินใช่หรือไม่ แสดงงบการเงินหรือไม่ในระยะที่ผ่านมาเพื่อสะท้อนภาพการเสียภาษีเงินได้...

           

เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในการติดตามเส้นทางการเงินไปตรวจสอบกับกรมพัฒนาธุรกิจแล้วพบว่า ปี 2558-2559 ไม่มีการยื่นงบการเงินที่สะท้อนรายได้ ปี 2559-2560 ไม่ได้ยื่นงบการเงิน ปี2561-2562 ไม่ยื่นงบการเงิน เดือนตุลาคม 2563 ถูกกระทรวงพาณิชย์สั่งให้เป็นบริษัทร้าง... เพราะไม่ยื่นงบการเงินมาเลยในรอบ 5-6 ปี

           

เจ้าพ่อ มาเฟีย อัลคาโปน ชื่อดังของสหรัฐยังพ่ายนักฎหมายภาษีฉันใด บริษัทผีของทนายความชื่อดังกระฉ่อนที่ร่วมมือกับอาเฉิงก็อาจหายหลังในเรื่องการหลบหนีการจ่ายภาษีเงินได้ให้กับประเทศไทยฉันนั้น

 

ผู้เชี่ยวชาญพิเศษทางภาษีแกะรอยไปพบว่า ภายหลังเมื่อได้รับเงินจากการขายหุ้น 1,350 ล้านบาท มาแล้ว ทนายความชื่อดัง ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจของบริษัท ได้ทำการโอนเงินค่าขายหุ้นก้อนโตออกไปจนหมดสิ้นภายในเวลาแค่เดือนเศษๆ....

 

ฝีมือการยักย้ายถ่ายโอนเงินนั้นไม่ธรรมดานะพ่อพรานฯ นังบ่างขยี้ ขยาย

           

เงินก้อนใหญ่กว่า 600-700 ล้านบาท ได้มีการโอนไปยังบัญชีของเด็กหนุ่มชาวจีนคนหนึ่งที่จังหวัดลำพูน ซึ่งมีเสียงลือเสียงเล่าอ้างกันในหมู่ “นายทุน-ดารานักแสดง” ว่า เป็น ”ขาใหญ่” ในขบวนการขนเงินผ่านโพยก้วนเถื่อนข้ามชาติ ไม่มีการดำเนินการแลกเปลี่ยนตามปริวรรตเงินตราตามกฎหมายไทย...เงินก้อนนี้ออกไปได้อย่างไร?

 

เงินก้อนที่สองราว 500-600 ล้านบาท มีการโอนจากบริษัทที่ตั้งขึ้น ไปเข้าบัญชีส่วนตัวของทนายความชื่อดัง...เงินก้อนนี้ถือเป็นรายได้ต้องจ่ายภาษีหรือไม่?

 

เงินก้อนที่สามราว 150-200 ล้านบาท ถูกโอนต่างกรรมต่างวาระไปยังผู้คนพิเศษในขบวนการที่อยู่ในชายแดน 3 แห่ง ก้อนหนึ่งโอนไปยังชายแดนใต้ สุไหง-โกลก จ.นราธิวาส ก้อนที่สองโอนไปยังแม่สาย จ.เชียงราย ก้อนที่สามถูกโอนออกไปยังแม่สอด จ.ตาก

 

จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไปเชียวนายท่าน....เมื่อโอนเงินออกจากบัญชีบริษัทที่ตั้งขึ้นมาจนปัจจุบันมีสถานะเป็นบริษัทร้างจนหมดแล้ว ทนายความชื่อดังก็ได้ทำการโอนหุ้นที่ตนเองเคยถืออยู่ในบริษัทที่จัดตั้งขึ้นออกไปให้แก่บุคคลอื่น และมีการจัดโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหม่ ให้บริษัทถือหุ้นแทน 43-46% ซึ่งบริษัทนี้ได้แจ้งต่อนายทะเบียนกระทรวงพาณิชย์ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น (บอจ.5) ว่าเป็นนิติบุคคลจดทะเบียนมีสัญชาติไทย แต่ก็ไม่สามารถตรวจพบในสารบบของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เป็นบริษัทร้างที่ไม่มีตัวตนในปัจจุบัน

           

ส่วนหุ้นที่เหลืออีกราว 50- 51% ได้ทำการโอนออกไปให้กับทนายความลูกทีมคนหนึ่ง

 

ประเด็นคือบริษัทแห่งนี้มีรายได้ 1,350 ล้านบาท มีการเสียภาษีเงินได้หรือไม่ การโอนย้ายถ่ายเทเงินออกไปหมดเกลี้ยง และมีการทำให้เป็นบริษัทร้างแบบนี้ของทนายความชื่อดังนั้นมีอะไรเคลือบแฝง... เป็นกลุ่มขบวนการฟอกเงินหรือไม่... นี่คือสิ่งที่เจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญพิเศษตั้งคำถามไว้ในบันทึกการตามล่าหาผู้หลบเลี่ยงภาษี ผ่านยุทธวิธีทำให้บริษัทร้าง ไร้ตัวตน

คราวนี้มาดูข้อกฎหมายการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล เขาคิดจากเงินได้หรือฐานภาษี ที่แตกต่างกัน ดังนี้

           

(1) กำไรสุทธิ (2) ยอดรายได้ก่อนหักรายจ่าย (3) เงินได้ที่จ่ายจากหรือในประเทศไทย  (4)  การจำหน่ายเงินกำไรออกไปจากประเทศไทย

           

ภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับการจำหน่ายกำไรไปนอกประเทศ ผู้มีหน้าที่เสียภาษีฐานนี้ ได้แก่ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจำหน่ายเงินกำไรหรือเงิน ประเภทอื่นใดที่กันไว้จากกำไรหรือที่ถือได้ว่าเป็นเงินกำไรออกไปจากประเทศไทยให้เสียภาษีเงินได้โดยหักภาษีจากจำนวนเงินที่จำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศนี้ ให้เสียภาษีโดยหักจากจำนวนเงินที่จำหน่ายในอัตราร้อยละ 10

           

การยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่จำหน่ายเงินกำไรไปต่างประเทศ จะต้องยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี ภายในเจ็ดวันนับแต่วันสิ้นเดือนของเดือนที่จำหน่ายเงินกำไร...โป๊เช๊ะ

 

คำถามต่อมาที่พรานฯ ซักไปคือจะตามล่าเงินภาษีอย่างไร เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญภาษีท่านี้ได้ชี้ปมลงไปว่า ให้ไปดูฎีกาในคดีหนึ่งบริษัทฯ จดทะเบียนนิติบุคคลเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2513 มีสาขา 1 แห่ง จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2534 แจ้งว่าประกอบกิจการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างและรับเหมาก่อสร้าง แต่ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50) และแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ. 30) แต่จากการคัดค้น ข้อมูลการหักภาษี ณ ที่จ่าย พบว่า บริษัทฯ มีรายได้ในเดือนเมษายน 2544 ถึงเดือนมิถุนายน 2545 รวมทั้งสิ้น 3.23 ล้านบาท

           

ทว่าเมื่อคัดหลักฐานทะเบียนนิติบุคคล พบว่านายทะเบียนได้ขีดชื่อบริษัทฯ ออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ตามมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ตั้งแต่ วันที่ 8 สิงหาคม 2543 บริษัทจึงมีรายได้ภายหลังจากถูกขีดชื่อเป็นบริษัท ร้างแล้ว ซึ่งสำนักงานสรรพากรพื้นที่เห็นว่า แม้จะขีดชื่อบริษัทออกจากทะเบียนทำให้เป็นนิติบุคคลร้างแล้ว แต่ความรับผิดของกรรมการยังคงมีอยู่ตามมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จึงหารือว่า สำนักงานสรรพากรพื้นที่จะประเมินภาษีอากรได้หรือไม่ จะทำการประเมินในนามของใคร

           

ศาลฎีกาตัดสินไว้แบบนี้ กรณีบริษัท ช. ได้ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 2543 ผลทางกฎหมายถือเป็นการเลิกบริษัทตั้งแต่เมื่อโฆษณาแจ้งความในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แต่ความรับผิดของกรรมการ ของผู้จัดการ และของผู้ถือหุ้นทุกๆ คนมีอยู่เท่าไรก็ให้คงมีอยู่อย่างนั้น และพึงเรียกบังคับได้ เสมือนดั่งว่าบริษัทยังมิได้เลิก ตาม มาตรา 1246(5) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์...แอ่นแอ๊น....

           

ระวังไว้ท่านทนายชื่อดัง...กับอาเฉิง....เจ้าหน้าที่เก็บภาษีของสรรพากรกำลังตามล่าตัว...แถมรู้เสียล่วยว่าอยู่แถวๆ ห้วยขวาง...อัยหยา...