ดึง“ฐากร” ปั้นแบงกิ้ง ฝันใหญ่ “เจ้าสัวเจริญ”

05 พ.ย. 2563 | 05:02 น.

ดึง“ฐากร” ปั้นแบงกิ้ง ฝันใหญ่ “เจ้าสัวเจริญ” : คอลัมน์ห้ามเขียน หน้า 19-20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,624 วันที่ 5 - 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563 โดย... พรานบุญ

 

          คนในวงการตลาดเงิน ตลาดทุน และผู้ที่สนใจในธุรกิจของเจ้าสัวเมืองไทยฮือฮากันมากเมื่อ บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “SEG” บริษัททางด้านการเงินและประกันของ “เจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี” ประกาศแต่งตั้ง “ฐากร ปิยะพันธ์” อดีตประธานกรรมการ กรุงศรี คอนซูมเมอร์และผู้บริหารสายงานดิจิทัล

          แบงก์กิ้งและนวัตกรรม ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ซึ่งได้ลาออกจากกรุงศรี มีผลเมื่อเดือนสิงหาคม ที่ผ่านมา ก้าวขึ้นเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “SEG” คนใหม่ 

          และเป็นการก้าวเข้ามาทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร แทนที่ นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ลูกเขยใหญ่ของเจ้าสัวเจริญที่แต่งงานกับ อาทินันท์ ลูกสาวคนโตของเจ้าสัวเจริญ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2563

          เขยใหญ่-นายโชติพัฒน์ พีชานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มติแต่งตั้ง นายฐากร เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ เพื่อให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ที่ต้องการเพิ่มฐานผู้บริโภครายย่อย พร้อมมุ่งสู่ความเป็นดิจิทัลด้านธุรกิจประกันและการเงินของประเทศไทย  

          “การตัดสินใจมอบตำแหน่งสำคัญให้กับคุณฐากรในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสดีที่องค์กรจะได้ร่วมงานกับคนที่มีความสามารถระดับแนวหน้าของประเทศ โดยคุณฐากรจะมีบทบาทในการวางกลยุทธ์ ตอบโจทย์ เทรนด์ธุรกิจและผู้บริโภคที่มีการปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา พร้อมบริหารงาน บริหารคน และรายงานตรงกับคณะกรรมการบริหารที่ผมเป็นประธานอยู่”

          นายโชติพัฒน์ กล่าวว่า นายฐากร เป็นหนึ่งในผู้บริหารด้านการเงินที่มีประสบการณ์ ความรู้ ความสามารถ และความเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินมากว่า 20 ปี ประสพความสำเร็จในการทำงานอย่างมาก จึงมั่นใจว่า นายฐากร จะสามารถขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายในการก้าวเป็นผู้นำธุรกิจประกันและการเงิน ที่สามารถครองใจผู้บริโภคด้วยคุณภาพ มาตรฐาน บริการที่ทันสมัย รวดเร็ว โปร่งใสและเป็นธรรมกับทุกคน  

          นอกจากนี้ คณะกรรมการบริษัท มีมติเห็นชอบให้นำเสนอชื่อ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายฐากร ปิยะพันธ์ เป็นกรรมการ และ ดร.บูรณวงศ์ เสาวพฤกษ์ อดีตกรรมการและผู้จัดการ ศูนย์บริการธุรกิจ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค บริษัท เอ็กซอนโมบิล จำกัดเป็นกรรมการอิสระ ของบริษัทฯ โดยจะเสนอต่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 มกราคม 2564 เพื่ออนุมัติต่อไป 

          เป็นสัญญาณว่า กลุ่มเจ้าสัวเจริญจัดคน จัดทีม เพื่อรองรับธุรกิจการเงินที่ครบวงจร อีเห็นบอกว่า สไตล์ของเจ้าสัวเจริญ เมื่อปรับโครงสร้างลงตัว จะเริ่มรุกซื้อกิจการเพื่อขยายขนาดธุรกิจ เพราะเจ้าสัวเจริญเชื่อมั่นในทุกกรณีว่า ต้องใหญ่เท่านั้น จึงจะชนะ      

          หลายคนไม่รู้ว่า ฝันของแบงก์ของ “เจ้าสัวเจริญ” คือการสร้างแบงก์ขึ้นมาอีกรอบ แม้ว่าแบงก์มหานคร-บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์มหาธนกิจ ถูกคำสั่งยุบรวมเข้ากับแบงก์กรุงไทยในห้วงวิกฤติต้มยำกุ้ง แต่ “เจ้าสัวเจริญ” ไม่เคยหยุดฝันที่มีอาณาจักรการเงิน  

          กลุ่มธุรกิจประกันและการเงิน ถือเป็นหนึ่งในห้าเรือธงของทีซีซี กรุ๊ป นับตั้งแต่ “เจ้าสัวเจริญ” ซื้ออาคเนย์ประกันภัยและประกันชีวิต จากกลุ่มศรีกาญจนา ในปี 2531 ถึงขนาดตั้ง โชติพัฒน์ พีชานนท์ เขยใหญ่ และ อาทินันท์ พีชานนท์ บุตรสาว เป็นประธานกรรมการบริหาร และรองประธานกรรมการ ในปี 2551 ซึ่งเป็นปีที่ “เจริญ” เริ่มต้นการปรับโครงสร้างธุรกิจในกลุ่มและถ่ายโอนอำนาจให้กับทายาท ตอนนั้น โชติพัฒน์ ประกาศจะนำ กลุ่มอาคเนย์ ซึ่งประกอบด้วย บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต บริษัทอาคเนย์ประกันภัย และบริษัทอาคเนย์ แคปิตอล ติดท็อปเท็นให้ได้

          ปี 2560 บริษัทอาคเนย์ประกันภัย มีเบี้ยประกันภัยรวม 10,485 ล้านบาท อยู่อันดับ 5 บริษัทอาคเนย์ประกันชีวิต มีเบี้ยประกันชีวิตรวม  10,575 ล้านบาท ติดอันดับ 11 บริษัทอาคเนย์ แคปิตอล ครองตลาดรถเช่าองค์กรอันดับหนึ่ง มีรถเช่า 19,000 คัน 

          ปี 2561 “เจ้าสัวเจริญ” กระโดดเข้ารับตำแหน่งประธานกรรมการ  คุณหญิงวรรณา เป็นรองประธานกรรมการ เป็นการบ่งบอกว่า เจ้าสัวเจริญเดินหน้ารุกขายธุรกิจประกันและการเงินเต็มสูบ   

          พรานฯ จำได้ว่า ช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 บริษัท เครืออาคเนย์ (เอสอีจี) ประกาศเป็นพันธมิตรกับ บมจ.ไทยประกันภัย (ทีไอซี) บริษัทประกันเก่าแก่ในตลาดหุ้นที่ตระกูลตู้จินดา ถือหุ้นใหญ่ราว 41% แต่รับรู้กันว่านี่คือการควบรวมกิจการ แต่ใช้เทคนิกแบบวิศวกรรมการเงินควบรวมกิจการด้วยการจ่ายเป็นหุ้น ไม่ต้องควักเงินสดเหมือนคนอื่นๆ

          รูปแบบที่ทำคือ “เจ้าสัวเจริญ” ตั้ง บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ ขึ้นมา ด้วยทุนจดทะเบียน 10,000 ล้านบาท ก่อนเพิ่มทุนเป็น 25,000 ล้านบาทจากนั้นจึงทำคำเสนอซื้อหุ้นทั้งหมดจาก บมจ.ไทยประกันภัย ด้วยการเสนอแลกหุ้น 1 หุ้น บริษัทเครือไทยโฮลดิ้งส์ ต่อ 1 หุ้น บมจ.ไทยประกันภัย และ 1 หุ้นบุริมสิทธิ เครือไทยโฮลดิ้งส์ ต่อ 1 หุ้นสามัญ บมจ.ไทยประกันภัย 

          ทั้งหมดผ่านวิธีการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน (บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์) จำนวน 23.5 ล้านหุ้น สำหรับการแลกเปลี่ยนหุ้นครั้งนี้  โดยบริษัท ไทยประกันภัยจะถือหุ้นใน บริษัท เครือไทยโฮลดิ้งส์ 3.12% เมื่อกระบวนการแลกเปลี่ยนเสร็จสิ้น ต่อจากนั้น บมจ.ไทยประกันภัย ยื่นถอนตัวจากตลาดหุ้น ส่วน บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ 
จะยื่นเรื่องเข้าตลาดหุ้น เรียกกันติดปากว่า Backdoor listing

          ขั้นตอนต่อมา บมจ.เครือไทย โฮลดิ้งส์ จัดสรรหุ้นเพิ่มทุนอีก 730 ล้านหุ้น เพื่อแลกหุ้นกับบริษัทกลุ่มอาคเนย์ ที่มีกิจการในกลุ่มประกอบด้วย บริษัท อาคเนย์ประกันภัย บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต และอีก10 บริษัทย่อย ในราคา 34.24 บาทต่อหุ้น เมื่อกระบวนการแล้วเสร็จสมบูรณ์ กลุ่มเอสอีจี จะถือหุ้นใน บมจ.เครือไทยโอลดิงส์ 97% และ บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ เข้าไปเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น

          ขั้นต่อมา “เจ้าสัวเจริญ” ดึง สมชัย สัจจพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงการคลัง มานั่งเก้าอี้ ประธานคณะกรรมการ บมจ.ไทยประกันภัย ทุกคนคาดว่าเพื่อรอขึ้นนั่งเก้าอี้ประธานกรรมการ บมจ.เครือไทยโฮลดิ้งส์ เมื่อการแลกหุ้นและควบรวมกิจการเสร็จ

          พลันเมื่อมีการดึง “ฐากร” ผู้มีดีกรีเป็นนายธนาคาร นักการเงินมาคุมบริษัท เครือไทย โฮลดิ้งส์ ย่อมเป้นการบ่งบอกว่า เจ้าสัวเจริญกำลังปั้นเรือธงด้านการเงินให้ผงาดแน่นอน 

          โปรดอย่าลืมว่าก่อนหน้านี้เจ้าสัวเจริญรุกสร้างแบงก์รายย่อยผ่าน “อาคเนย์ มันนี่” สร้างธุรกิจการเงินครบวงจร ด้วยโซลูชั่นครอบคลุมสินเชื่อธุรกิจและรายย่อย ด้วยการปล่อยสินเชื่อโครงการแรก “รับซื้อลดเช็คเกษตรกรชาวไร่อ้อย” สนับสนุนการเงินให้แก่เกษตรกรชาวไร่อ้อยในเครือโรงงานน้ำตาลของทีซีซี ตั้งเป้าเกษตรกว่า 1,600 ราย วงเงินกว่า 400 ล้านบาท

          ธุรกิจหลัก 3 ธุรกิจ ในเครือไทยโฮลดิ้ง คือ ธุรกิจประกันชีวิต ธุรกิจประกันภัย และ ธุรกิจลีสซิ่ง ได้แก่ บริษัท อาคเนย์ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) บริษัท อาคเนย์ประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไทยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ธุรกิจลีสซิ่ง ผ่านบริษัท อาคเนย์ แคปปิตอล จำกัด ที่ให้สินเชื่อตามสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ การให้สินเชื่อรถแลกเงิน การให้สินเชื่อระยะสั้นสินเชื่อเงินทุนหมุนเวียนสำหรับสินค้าคงคลัง อาจไม่ใช่เป้าหมายหลักเสียแล้ว 

          คอยดูการซื้อกิจการด้านการเงินรายย่อย การเงินอิเลคทรอนิกส์มาผนวกในเร็ววัน

          โปรดอย่าลืมว่า “ฐากร ปิยะพันธ์” นั้นเคยเป็นประธานกรรมการกรุงศรี คอนซูมเมอร์ และผู้บริหารสายงานดิจิทัลแบงกิ้งและนวัตกรรม เขาคือ “สัญญลักษณ์” ตัวจริงของมือบริหารธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลขนาดสินทรัพย์ 90,000 ล้านบาท พอร์ตเบี้ยประกันแค่ 15,000 ล้านบาท กำไรปีละ 900 ล้านบาท อาจจะไม่ครนามือของ “ฐากร” แน่นอน เชื่อหัวพ่อพรานฯเถอะ

          ซื้อและซื้อกิจการ สร้างนวัตกรรมสินเชื่อแบบ “P2P” จะตามมาแน่ๆ