“อาลีบาบา” ยกเครื่องเทศกาล 11-11 ต่อสู้พิษโควิด 

04 พ.ย. 2563 | 06:25 น.

“อาลีบาบา”ยกเครื่องเทศกาล 11-11 ต่อสู้พิษโควิด : คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย...นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

 

เทศกาลลดราคา 11-11 ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของตลาดอีคอมเมิรซ์ในจีน เพราะเป็นการวัดระดับการบริโภคของชาวจีน แต่สำหรับปีนี้ อาลีบาบาได้ยกเครื่องรูปแบบของเทศกาลนี้ เพื่อรองรับแนวโน้มการบริโภคที่ถดถอยจากพิษโควิด โดยเพิ่มจำนวนวันลดราคาเป็น 2 ช่วง เพิ่มความหลากหลายของสินค้า โดยเฉพาะจากร้านค้าที่แต่เดิมเน้นส่งออกและร้านค้าออฟไลน์ เพิ่มมิติของการทำ live streaming ในระดับแต่ละเมือง ฯลฯ 

 

จึงเป็นที่น่าจับตามองว่า ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะฟื้นตัวด้วยดี ผู้บริโภคจีนจะตอบรับต่อเทศกาล 11-11 ปีนี้อย่างไร  

 

เทศกาลลดราคาระดับโลก

 

เทศกาลลดราคา 11-11 หรือการลดราคาครั้งใหญ่ในวันที่ 11 เดือน 11 ซึ่งริเริ่มโดยอาลีบาบา เมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ได้กลายเป็นเทศกาลลดราคาในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในประเทศจีนเองตัวเลขยอดขายจากเทศกาลนี้ ได้กลายเป็นตัวชี้วัดการบริโภคที่สำคัญตัวหนึ่ง ตลอดสิบปีที่ผ่านมายอดขายในวันนี้เติบโตในอัตราที่สูงมาก 

 

สำหรับปีก่อนมียอดขายเฉพาะจาก T-Mall จากค่ายอาลีบาบาสูงกว่า 268 พันล้านหยวน เพิ่มขึ้น 25% ต่อปี ถ้าคิดเป็นสัดส่วนต่อยอดขายทั้งปี ก็สูงถึง 4-5% ทีเดียว


“อาลีบาบา” ยกเครื่องเทศกาล 11-11 ต่อสู้พิษโควิด 

 

 

 

 

 

ยกเครื่อง 11-11 เพื่อรองรับการบริโภคถดถอย

 

ถึงแม้ยอดค้าปลีกของจีนซึ่งสะท้อนการบริโภคโดยรวมได้กลับขึ้นมาเป็นอัตราบวกในช่วงเดือน 8 และ 9 โดยในเดือน 9 กลับมาเติบโตที่ 3.3% แล้ว แต่ความเสี่ยงด้านการบริโภคโดยรวมยังถือว่ามีความเสี่ยงสูง  

 

ดังนั้น ค่ายอีคอมเมิรซ์ยักษ์ใหญ่อาลีบาบา จึงได้ประกาศยกเครื่องการดำเนินการเทศกาลลดราคา 11-11 ในปีนี้ โดยมีแนวคิดหลักๆ จากเดิมที่มีการลดราคาเพียงวันเดียว ให้เพิ่มเป็น 2 ช่วงได้แก่วันที่ 1-3 พ.ย. เป็นช่วงแรก และวันที่ 11 พ.ย. เป็นช่วงที่สอง เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าในราคาส่วนลดได้เพิ่มขึ้น และยังเน้นเพิ่มความหลากหลายของสินค้าที่เข้าร่วมเทศกาลโดยเฉพาะจากร้านค้าที่แต่เดิมเน้นส่งออก เพราะว่าตลาดส่งออกถดถอยรุนแรง และเพิ่มร้านค้าออฟไลน์เป็นสัดส่วนมากถึงครึ่งหนึ่งของร้านที่เข้าร่วม  

 

นอกจกนี้ ยังให้เพิ่มมิติของการทำ live streaming อาทิ ให้สามารถทำการ live ในระดับแต่ละเมืองได้ รวมถึงการ live สดของร้านค้าออฟไลน์ เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคท้องถิ่นได้เฉพาะเจาะจงมากขึ้น และมีการเชิญชวนผู้ที่มาทำ live หลากหลายมากขึ้น ไม่เพียงเฉพาะผู้ที่เป็น influencer ทั้งนี้ การทำ live streaming ถือเป็นกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ที่ขาดไม่ได้ โดยเฉพาะช่วงหลังจากโควิด  

 

ที่สำคัญ อาลีบาบาตั้งงบประมาณเพื่อเทศกาลนี้ เพิ่มเป็นเท่าตัวจากปีที่แล้ว รวมถึงการแจกอั่งเปามูลค่า 4 พันล้านหยวน ส่วนลดร่วมกับสินค้าและร้านค้าต่างๆ รวมกว่า 3 หมื่นล้านหยวน และกำหนดเกณฑ์การรับส่วนลดเหล่านี้ที่สะดวกขึ้น อาทิ ผู้บริโภคสามารถรับส่วนลดประเภทเดียวกันจากหลายๆ ร้านพร้อมกันได้ 

 

ตอบรับนโยบาย dual circulation

 

ในร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับใหม่ ฉบับที่ 14 ได้มีการกล่าวถึงวาระใหม่ที่เรียกว่า dual circulation ซึ่งแปลง่ายๆ คือการพึ่งพาเศรษฐกิจภายในในทุกมิติ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความไม่แน่นอนสูง การบริโภคออนไลน์เป็นหัวจักรสำคัญหนึ่งเพื่อตอบรับนโยบายใหม่นี้  

 

สุดท้ายนี้ เป็นที่แน่ชัดว่าประเทศจีนกำลังก้าวขึ้นมาเป็นผู้กำหนดแนวคิดเรื่องการตลาดอีคอมเมิรซ์ใหม่ๆ ให้กับทั่วโลก ผู้ประกอบการและผู้บริโภคในไทยควรศึกษาการเปลี่ยนแปลงไปในจีนอย่างใกล้ชิด

 

หมายเหตุ : ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3624 วันที่ 5-7 พ.ย. 2563