ธุรกิจคนตัวเล็กของไทย “สลบ-ไอซียู” หรือ “เผา”

29 ต.ค. 2563 | 07:48 น.

ธุรกิจคนตัวเล็กของไทย “สลบ-ไอซียู”หรือ“เผา” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3622 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

          คำถามดังๆ ในสถานการณ์เศรษฐกิจและการเมืองไทยที่อยู่ในภาวะ “ติดกับดักทางการเมือง” คือ ธุรกิจของไทยโดยเฉพาะบรรดาเอสเอ็มอีที่เป็นจุดเริ่มต้นของเจ้าของกิจการคนตัวเล็กแทบทั้งหมดนั้นจะรอดหรือจะตาย

          เอสเอ็มอีกว่า 3 ล้านราย มีการจ้างงานกว่า 12-13 ล้านคน ถือเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจไทย ที่ต้องเผชิญกับการเเพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้รายได้หดหายไป ขาดสภาพคล่องทางการเงินอย่างหนักและตกอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงต่อการปิดกิจการมากมาย   

          ผมขออนุญาตพามาดูข้อมูลที่ TMB Analytics ประเมินธุรกิจ SME หลังโควิด-19 บรรเทาลง ออกเป็น 3 กลุ่ม 

          “กลุ่ม Slow” คือ ธุรกิจที่ปรับตัวได้ช้า มีความจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอด ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม 

          “กลุ่ม Viable” คือ ธุรกิจที่พอปรับตัวได้ แต่ยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวังเพื่อประคองกิจการ ได้แก่ รับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา  

          “กลุ่ม Swift” คือ ธุรกิจที่มีความพร้อมในการปรับตัวค่อนข้างรวดเร็ว ได้แก่ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล 

          นับตั้งแต่มีการล็อคดาวน์ประเทศในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก หลายรายประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน แม้ว่าภาครัฐ ภาคเอกชน ธนาคารแห่งประเทศไทย และธนาคารพาณิชย์ ต่างพยายามช่วยเหลือพยุงผ่านมาตรการพักชำระหนี้ ลดดอกเบี้ย แต่ทว่าก็ยังไม่กลับเข้าสู่ระดับปกติ ยังต้องประคองช่วยเหลือกันต่อไป

          สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจึงมีคำถามว่า สุขภาพทางการเงินของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่หลังโควิดจะเป็นอย่างไร?  

          TMB Analytics ประเมินว่า จากภาพแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2563 ที่ถูกผลกระทบจากโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยวิเคราะห์แนวโน้มการฟื้นตัวตามลักษณะของธุรกิจ (V, U, L Shape Recovery) ว่าจะส่งผลกระทบมายังผลการดำเนินงานของธุรกิจส่งผ่านมายังกำไรก่อนหักภาษีของกิจการ โดยใช้ข้อมูลงบการเงินของเอสเอ็มอีกว่า 3 แสนราย ที่ทำธุรกิจอยู่และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

          ผลศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ 65.7% อยู่ใน “กลุ่ม Viable” ซึ่งเป็นกลุ่มที่พอปรับตัวได้ รายได้ลดลงบางส่วน ผลกำไรลดลงค่อนข้างมาก แต่ผลการดาเนินงานยังพอไปได้อยู่ ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลงแต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 92.9% และขาดทุน 7.1%  ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา 

          เอสเอ็มอีกว่า 21.7% เป็น “กลุ่ม Slow” ปรับตัวได้ช้า รายได้ลดลงมาก แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายกลับลดลงได้น้อยกว่า ทำให้กำไรหดตัวจนส่วนหนึ่งประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ กำไรลดลง แต่ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกมี 73.7% และขาดทุน 26.3%  ได้แก่ ธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม 

          เอสเอ็มอีกว่า 12.6% เป็น “กลุ่ม Swift” ที่ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว รายได้ฟื้นตัวกลับมาใกล้ระดับปกติ และมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดี ผลกำไรลดลงไม่มาก ผลการดาเนินงานยังเป็นบวกอยู่มาก พบว่ากลุ่มที่มีกำไรลดลงแต่ผลการดาเนินงานยังเป็นบวกมีอยู่ราว 96.1% และมีขาดทุนเพียง 3.9%ได้แก่ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา/เวชภัณฑ์ ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล 

          จะเห็นได้ว่า “กลุ่ม Viable” เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่รายได้ลดลงเป็นบางส่วน ตลาดยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ กำไรของกิจการลดลงค่อนข้างมาก ธุรกิจในกลุ่มนี้จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องระมัดระวัง เพื่อประคองกิจการให้ข้ามผ่านไปให้ได้

          ขณะที่ “กลุ่ม Slow” หนักสุดเป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่ รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและรายจ่ายไม่สามารถลดลงได้ ผลการดำเนินงานขาดทุนมาก เป็นกลุ่มที่มีความจาเป็นที่จะต้องเร่งปรับโครงสร้าง เพื่อความอยู่รอดในระยะต่อไป

          เพื่อให้การวิเคราะห์สภาพธุรกิจของเอสเอ็มอี “หลังโควิด” มีความชัดเจนยิ่งขึ้น จึงนำข้อมูลทางการเงิน 2 ด้านมาประเมินร่วมกัน  

          หนึ่ง...ความสามารถในการทำกำไร (Profitability Performance) โดยวัดจากรายได้สุทธิก่อนหักภาษี เมื่อได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหากอัตราส่วนรายได้สุทธิต่อรายได้สูงกว่า 5% ถือว่าเป็นธุรกิจศักยภาพสูงในการหารายได้ 

          สอง...สภาพคล่องธุรกิจ (Liquidity Performance) โดยใช้ตัวชี้วัดวงจรเงินสด หากอยู่ในระดับที่ต่ากว่า 45 วัน หมายถึง ธุรกิจยังมีเงินสดจำนวนหนึ่งที่สามารถไปลงทุนเพื่อขยายกิจการ ควบคู่ไปกับอัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน Current Ratio ที่สูงกว่า 2 เท่า จะหมายถึง ธุรกิจมีสภาพคล่องที่แข็งแรง มีเงินสดในการดำเนินธุรกิจและสภาพคล่องของกิจการเพื่อชำระหนี้ระยะสั้น ด้วยวิธีการประเมินสุขภาพการเงินที่จากจำนวน 3 แสนราย ที่ดำเนินธุรกิจอยู่และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สามารถจัดลักษณะธุรกิจออกมาเป็น 4 กลุ่ม ดังต่อไปนี้

          กลุ่มที่ 1 พร้อมโต เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินดีที่สุด จากความสามารถในการทำกำไรสูง และมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง จากการวิเคราะห์พบว่ามีเอสเอ็มอีอยู่ในกลุ่มนี้มีสัดส่วน 20% ของธุรกิจทั้งหมด โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด–19 ต่ำ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค และธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีศักยภาพในการเติบโตสูง หากสามารถวางแผนการลงทุนและการตลาดล่วงหน้าได้เพื่อทำการขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

          กลุ่มที่ 2 พร้อมฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินรองลงมา มีความสามารถในการทำกำไรที่สูง แต่ยังมีสภาพคล่องธุรกิจที่เปราะบาง จากการวิเคราะห์พบว่ามีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ราว 27% จากทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบวงจรเงินสดที่ยาวขึ้น สินทรัพย์หมุนเวียนน้อยลง ทำให้มีสภาพคล่องธุรกิจที่ค่อนข้างต่ำ ได้แก่ ค้าปลีกสินค้ายา/เวชภัณฑ์ และเครื่องจักร เป็นต้น 

          อย่างไรก็ตาม ควรที่จะบริหารสภาพคล่องให้ดีขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้นเพื่อพยุงธุรกิจให้ไปต่อได้อย่างราบรื่นขึ้น

          กลุ่มที่ 3 รอฟื้น เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินพอไปได้ ด้วยธุรกิจยังมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรงสามารถประคองธุรกิจให้ไปต่อ แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำลง พบว่ามีสัดส่วนราว 19% ของทั้งหมด ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร งานบริการทางธุรกิจ เช่น งานซ่อมบารุง/ทาความสะอาด รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษา ธุรกิจกลุ่มนี้ต้องให้ความสาคัญกับการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อหารายได้ทดแทน รวมไปถึงการลดต้นทุนตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปเพื่อรอการฟื้นตัวของตลาด

          กลุ่มที่ 4 รอรักษา เป็นกลุ่มนี้มีสุขภาพทางการเงินอ่อนแออย่างหนักจากรายได้ที่หดหายไปมาก กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องธุรกิจไม่ดี ในกลุ่มนี้มีธุรกิจกระจุกอยู่ถึง 34% ส่วนใหญ่จะอยู่ในธุรกิจโรงแรมที่พัก/บริการท่องเที่ยว ค้าปลีกเสื้อผ้า ประดับยนต์และสถานบันเทิง  
ธุรกิจกลุ่มนี้จำเป็นต้องมีการจัดหาสภาพคล่องเพิ่ม การบริหารสภาพคล่อง ปรับโครงสร้างหนี้และธุรกิจ รวมไปถึงการปรับรูปแบบธุรกิจ เพื่อหาตลาดใหม่เพื่อหารายได้ทดแทน เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการต้องทำงานหนัก เพื่อให้ธุรกิจดีขึ้น

          สถานการณ์นี้ผู้ประกอบมีความเข้าใจสถานการณ์และประเมินธุรกิจรอบด้าน และนำมาปรับตัวเพิ่มศักยภาพตัวเองให้เติบโตไปตามทิศทางตลาดในอนาคตได้ 
อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลอีกชุดที่ผมนำมาให้พิจารณาเพื่อระมัดระวังกันคือ กรณีที่ คุณพชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ศูนย์วิจัยกรุงไทย คอมพาส สำรวจกิจการแล้วพบว่า “อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio : ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยจะลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม  และใน 1-2 ปีข้างหน้ากิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30%”  

          ขณะที่ “กิจการซมไข้ยาวนาน หรือกิจการที่มี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า ติดต่อกันเป็นเวลา 3 รอบปีบัญชี มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากเดิม 9.5% ของกิจการทั้งหมด ในปี 2562 เป็น 14% ของกิจการทั้งหมดในปี 2563 และจะพุ่งสูงขึ้นเป็น 26% ภายในปี 2565 กลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ต้องจับตาเป็นพิเศษ หลังพบว่าเป็นกิจการซมไข้ยาวนาน ในปี 2563 มากถึง 29% และจะเพิ่มขึ้นเป็น 48 % ในปี 2565”  

          เมื่อผนวกกับข้อมูลที่ HSBC วิเคราะห์เศรษฐกิจประเทศในเอเชียแล้ว ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะต้องใช้เวลาฟื้นตัวอย่างน้อย 12 ไตรมาส (3 ปี) ถึงจะฟื้นตัวเท่ากับช่วงก่อนโควิด-19 รั้งท้ายประเทศต่างๆ ในเอเชีย 

          ขณะที่ เวียดนาม และไต้หวัน เศรษฐกิจสามารถฟื้นได้ช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้  จีนเป็นประเทศเดียวในเอเชียที่สามารถฟื้นตัวได้ก่อนคนอื่น 

          ไทยจึงต้องระวังเป็นพิเศษ ก่อนมรณาสติจะมาเยือนคนที่ไม่ระวัง!