ประเทศไทย …. “เหนื่อย” เพราะใคร

29 ต.ค. 2563 | 02:35 น.

วันนี้ไม่ต้องถกเถียงกันว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยวันนี้ สาเหตุมาจากไหน หลายคนบอกว่าเป็นเพราะ “โควิด” นักวิชาการหลายคนก็บอกว่าเป็นเพราะ “โครงสร้างเศรษฐกิจไทยไม่เข็มแข็ง” ไม่มีภูมิคุ้มกันดีพอกับปัญหาที่เข้ามา ทางแก้ก็สร้างความแข็งแกร่งทุกระดับในฐานของเศรษฐกิจ แต่ถ้าถามนักการเมืองฝ่ายค้าน “ก็เป็นเพราะนายกรัฐมนตรีไม่เก่ง” ทางแก้ ให้ลาออกซะ และแก้รัฐธรรมนูญ

 

ส่วนฝ่ายบริหารก็จะออกตัวว่าเป็นปัญหาจากภายนอก แต่ถ้าถามคนที่เดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจจริง ๆ แล้ว ผมว่า เขาจะงง ๆ และหากถามว่าควรจะทำอย่างไงดี คำตอบคงเป็นแบบ “อะไรก็ได้ที่ให้…มีกินมีใช้”

 

สำหรับผมแล้ว ผมว่าวันนี้ไม่ต้องมาเถียงกันทำไมว่าเศรษฐกิจไทยทรุด และทรุดมากกว่าทุกประเทศในอาเซียน ตัวเลข บทวิเคราะห์ และประมาณการณ์ของสำนักเศรษฐกิจต่าง ๆ ทั้งของโลกและของไทยเองก็ออกมาประมาณนี้ และมากกว่านั้น ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศก็ประมาณการณ์ว่า GDP ของเราในปีนี้น่าจะติดลบ 10% ขณะที่ประเทศอื่น ๆ น้อยกว่าเรามาก แถมไม่พอของเวียดนามยังเป็นบวกอีกต่างหาก

 

หากเรามองย้อนกลับไปในประวัติศาสตร์ช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าทุกวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะจากภายนอกประเทศ ไม่ว่าวิกฤติการเงินปี 1997 หรือวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ 2008 ซึ่งเราจะพบว่าเศรษฐกิจของไทยทรุดหนักกว่าทุกประเทศในอาเซียนและฟื้นตัวช้ากว่าชาวบ้านเขา และวันนี้ก็เหมือนเดิมที่เคยเกิดขึ้นมาตลอด แต่เวลาลงลึก เราลงลึกไม่ค่อยมากเหมือนคนอื่น เพราะเรามีหลายสาขา พอมีปัญหาเข้ามา บางสาขาอาจได้รับผลกระทบมาก

 

บางสาขากระทบน้อย บางสาขาไม่ได้รับผลกระทบ พอมองภาพรวมก็ถัว ๆ กันไป มีนักเศรษฐศาสตร์เคยบอกว่าระบบเศรษฐกิจไทยเหมือนแมงมุมที่มีหลายขา พอขาหนึ่งหัก ยังมีอีกหลายขาพอพยุงกันไปได้ แต่พอสถานการณ์ปกติ คนอื่นเขาวิ่ง แต่เรามีหลายขาเลยงุ่มง่าม เชื่องช้าสักหน่อย 

ส่วนผมก็มองตามระดับปัญญาที่ผมมีอยู่ ว่าโครงสร้างเศรษฐกิจของเรามีปัญหามานานและไม่ได้รับการดูแลมาหลายยุคหลายสมัย อาจเป็นเพราะในช่วงสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านมายังไม่มีปัญหารุนแรง หรือสถานการณ์จากปัจจัยที่มีอิทธิพลมาก ๆ ต่อเรา อาทิเช่น เศรษฐกิจโลก ฯลฯ ยังดีอยู่ จนทำให้ไม่มีใครสนใจที่จะดูปัญหาโครงสร้างเนื่องจากใช้เวลานานและยุ่งยากพอควร เลยถูกเก็บไว้ในลิ้นชักของทุกรัฐบาลและผู้คนก็ไม่สนใจในการแก้ไขเพราะหนึ่งในส่วนของโครงสร้างที่ต้องแก้ไก็คือคนไทยเองด้วย คนที่คิดเลยไม่อยากยุ่งมาก

 

เราลองมาดูความเหนื่อยของเศรษฐกิจไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าในปี 2540 เราเกิดวิกฤติเศรษฐกิจเริ่มจากบ้านเรา แต่ลูกค้าเราไม่มีปัญหา เราก็ใช้เวลาฟื้นตัวไม่นาน จากนั้นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยก็ขึ้นลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกแม้ว่าขาขึ้น เราจะขึ้นไม่ไว แต่เวลาลงก็ไม่เจ็บเหมือนคนอื่น ทั้งนี้อาจเป็นเพราะโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไม่เหมือนคนอื่นที่แบบอยู่ ๆ กันไป

 

ถ้าไปได้ก็ไม่อยากเปลี่ยน จนกว่าต้องเปลี่ยนจริง ๆ ไม่งั้นตาย ยังไม่พอ นอกจากปัญหาทางเศรษฐกิจแล้ว เรายังเจอไวรัสทางการเมืองจากหลากพรรค หลายพวก สารพัดสี ตลอดเวลาที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริหารเศรษฐกิจไทยและคนไทยให้ “เหนื่อย” มากกว่าปกติเป็นช่วง ๆ เวลา ความขัดแย้งทางการเมืองที่กลายเป็นแบบฉบับไทย ๆ และคล้าย ๆ กับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ ที่เราจะไม่เคยเห็นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้นำ รัฐบาลที่อยู่ไม่ครบเทอม ไม่รู้จะออกหรือเป็นไปเมื่อไร ทำให้โอกาสการแก้ไข พัฒนา สร้างความเข้มแข็งเชิงโครงสร้าง

ประเทศไทย ….  “เหนื่อย” เพราะใคร

แต่คราวนี้ ปัญหาวิกฤติโควิดส่งผลกระทบแบบวงกว้าง กระทบทุกซอกมุม ทุกส่วน และทุกประเทศ ความเสียหายที่มหาศาลมากพอที่จะทำให้สิ่งที่ปิดบังหรือคลุมปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยถูกรื้อเปิดออกมา และไม่พอวันนี้มีของแถมจากปัญหาอื่นซ้ำเติมเข้ามาอีก ซึ่งตัวปัญหาซ้ำเติมที่เกิดบ่อย ๆ ในบ้านเรามากกว่าชาวบ้าน ในช่วงสิบกว่าปี คือปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่นักการเมืองยังคงมองผลประโยชน์และอำนาจของตนเองด้วยสัญญาและคำพูดหวาน ๆ ซึ่งผมว่าไม่ผิดนะครับ เป็นปกติของมนุษย์ แต่จะผิดอย่างเดียวก็คือ “อ้างทำเพื่อประชาชน” เท่านั้นเอง 

เมื่อก่อนนั้น ผมก็มองจากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองของประเทศไทย เป็นเรื่องของการช่วงชิงอำนาจ ผลประโยชน์ และความได้เปรียบทางการเมืองของนักการเมือง มากกว่าความขัดแย้งทางความคิดจริง ๆ  เพราะไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายค้าน เดี๋ยวอดอยากปากแห้ง เหมือนอดีตหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อดังท่านหนึ่งกล่าวไว้ ดังนั้น จากประสบการณ์เหล่านี้ที่สะสมมาทำให้เราสามารถเข้าใจ มองผลลัพท์และแนวทางการปรับตัวของเราได้ไม่ยาก เรียกว่าพอเห็นภาพสุดท้ายได้ว่าไม่ว่าพรรคใดชนะ

 

ระบบและนโยบายเศรษฐกิจของไทยก็เหมือน ๆ กัน คือยังเป็นระบบนายทุน ระบบแคปปิตอลลิซึ่มเหมือนเดิม เพียงแค่ “เปลี่ยนคนคิด คนทำ” เท่านั้นเอง นักลงทุนเลยเฉย ๆ แม้ว่าการเมืองจะวุ่น แต่การลงทุนยังไปได้เรื่อย ๆ แต่วันนี้ “ไม่ใช่” วันนี้แนวคิดของการเมืองของไทยบางกลุ่มกำลังจะเปลี่ยนโครงสร้างสังคม ความคิดผู้คน ระบบการเมืองทุกอย่าง ถ้าเป็นไปตามปากที่เขาว่าไว้ และแน่นอนหากทำได้อย่างที่พูด การเปลี่ยนแปลงหากเกิดจริงก็คงจะกระทบต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน จะดีขึ้น หรือเลวลง ไม่รู้จริงๆ แต่วันนี้ไม่มีใครบอกได้ชัดเจน นอกจากคำพูดสวย ๆ ตามด้วยสัญญาต่าง ๆ ตามแบบการเมือง

 

เศรษฐกิจไทยเจอแรงกระทบจากด้านสาธารณสุข ส่งผ่านมาทางนโยบายและมาตรการของรัฐ กระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง ตั้งแต่ต้นปี 2563 จนถึงวันนี้ กำลังถูกกระหน่ำด้วยปัญหาทางการเมือง ที่เราจะต้องไม่มองด้วยสายตา วิเคราะห์ด้วยประสบการณ์ที่สะสมจากอดีตได้ ทั้งนี้รูปแบบตามแนวคิดทางการเมืองใหม่ที่กำลังเป็นกระแสใหม่ในปัจจุบันจะออกมาเป็นรูปธรรม กติกาสังคม การปกครอง แบบไหนอย่างไร ผมยังนึกภาพไม่ออก

 

แต่เชื่อว่าจะสร้างภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจใหม่ที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนในบ้านเรา และยากจะคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร ถ้าเราเป็นนักลงทุน เราจะทำอย่างไร สำหรับผม ผมจะกอดเงินไว้ก่อน หรือไม่ก็ไปทำมาหากินที่อื่นที่มีกติกาชัดเจน และถ้าเป็นคนทั่วไปที่พอมีรายได้ ผมจะพยายามลดการใช้จ่ายลง ออมมากขึ้นเพื่อป้องกันความเสี่ยงที่ผมมองว่ามีมากขึ้น ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง ความคิดของผู้คน ยังรุนแรงต่อไป และนักการเมืองยังหาทางออกไม่ได้ ไม่รู้จะจบเมื่อไร เหนื่อยพอ ๆ กับปัญหาโควิด ที่ตอนนี้ก็ยังไม่รู้ว่าเมื่อไรจะมีวัคซีน และจะจบเมื่อไร

 

ทั้งหมดนี้ก็พอยิ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยและคนไทย … เหนื่อยอีกนาน