ปฏิรูป-ปฏิวัติ หรือก่อการจลาจล

28 ต.ค. 2563 | 04:00 น.

ปฏิรูป-ปฏิวัติ หรือก่อการจลาจล : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3622 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 29-31 ต.ค.63 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

การชุมนุมทางการเมืองของ "กลุ่มคณะราษฎร 2563" โดยอ้างใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ และเสรีภาพในการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่ทำไมผู้ชุมนุมจึงโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบัน แถมข่มขู่คุกคามด้วยว่า หากไม่ยินยอมปฏิรูปด้วยดี ต้องเจอการปฏิวัติของประชาชน นี่คือปัญหาข้อสงสัยของประชาชนผู้จงรักภักดีต่อสถาบันโดยทั่วไปว่า หัวหอกแกนนำผู้ชุมนุมต้องการอะไรกันแน่
 

แม้ว่าผมจะเคยเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาหลายยุคหลายเหตุการณ์ เคารพต่อสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนผู้ชุมนุม แต่เมื่อเห็นรูปแบบ เนื้อหา และการดำเนินการในการชุมนุมของกลุ่มราษฎรดังกล่าวแล้ว ขอบอกตรงๆ ครับว่า ผมไม่เห็นด้วยในเนื้อหาสาระการชุมนุมของกลุ่มบุคคลดังกล่าวนั้นเลย ด้วยเหตุผลสำคัญคือ
 

1. การชุมนุมของคณะราษฎร คือกลุ่มและพวกเดียวกันกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์การชุมนุม กลุ่มเยาวชนหรือประชาชนปลดแอกนั่นเอง ที่พวกเขาก่อการชุมนุมทางการเมือง เพราะต้องการไล่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเปลี่ยนแปลงล้มล้างสถาบันกษัตริย์ สถาปนาการปกครองแบบสาธารณรัฐ โดยมิใช่เป็นการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด
 

2. การชุมนุมเกิดขึ้นโดยมีกลุ่มแกนนำจากพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้วอยู่เบื้องหลัง ที่มีเป้าหมายทางการเมือง แกนนำดังกล่าว มีแนวความคิดต่อต้านสถาบัน ต้องการล้มล้างหรือจำกัดอำนาจ และบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งที่ถูกจำกัดอำนาจและอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญทุกฉบับนับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แล้วก็ตาม แต่พวกนี้ยังไม่จบ และผู้ชุมนุมมีความเชื่อมโยงและรับการสนับสนุนจากต่างประเทศ ลักษณะเหมือนที่เกิดในฮ่องกง และ ตะวันออกกลาง

3. แนวร่วมผู้สนับสนุนการชุมนุมที่ร่วมกันลงชื่อ มาจากกลุ่มอาจารย์ นักวิชาการ ประเภทพวกสารพิษตกค้างมาจากแนวคิด "คณะราษฎร 2475" ที่เคยก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองแต่ล้มเหลว ผสมกับอดีตสหายในพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่หลงเหลือ ผ่านบทบาท 1 หญิง 2 ชาย ป่วนแผ่นดิน ปลุกเด็กออกหน้าไปตายแทน ด้วยการยัดเยียดความคิดใส่หัวเด็กที่ไร้เดียงสาทางการเมือง อาศัยใช้เป็นเครื่องมือป่วนประเทศ
 

4. มีการปลุกปั่น ปลุกระดม ปราศรัย ด้วยถ้อยคำหยาบคาย ด่าทอ ดูถูก เหยียดหยาม ประชาชนที่เห็นต่าง โดยมิได้ให้เหตุผลข้อมูลที่ดี หรือเสนอทางออกใดๆ ให้กับประเทศ ด้วยความสุจริตใจและสร้างสรรค์ ที่เลวร้ายหนักกว่านั้นคือ การกล่าวถ้อยคำหยาบคาย ใส่ร้าย โจมตี แสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นพฤติกรรมและการกระทำที่ประชาชนส่วนใหญ่มิอาจยอมรับได้ มิใช่การเสนอการปฏิรูปสถาบัน ส่อพฤติกรรมไปในทางต้องการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองประเทศ ไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
 

5. การชุมนุม มิได้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของประชาชนส่วนใหญ่ เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ควรเป็นไปตามประชามติของประชาชน หากต้องการให้นายกฯลาออก ควรต้องกล่าวหาโดยมีเหตุผลข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ทำให้ประเทศได้รับความเสียหายร้ายแรง หรือได้กระทำความผิดโดยการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ ก่อความเสียหายต่อประเทศและประชาชน ที่สำคัญต้องเป็นไปตามมติมหาชนคนส่วนใหญ่ของประเทศ มิใช่ความเห็นของคนเพียงหยิบมือเดียว
 

6. การชุมนุมมีการใช้เครื่องมือสื่อสาร social media ปั่นกระแส สร้างข่าวเท็จ ให้ข้อมูลที่บิดเบือนจากความจริง โดยร่วมมือกับต่างชาติดังปรากฎข้อมูลการสำรวจของสำนักวิจัยซุปเปอร์โพล เรื่องต่างชาติอย่ายุ่งเรื่องของคนไทย ระหว่าง 20-24 ตุลาคม 2563 โดยร้อยละ 97.6 ระบุว่า นักการเมือง พรรคการเมืองบางพรรค แกนนำพรรคบางคน ร่วมมือต่างชาติ ช่วยยุยงปลุกปั่น สร้างความแตกแยกของคนในชาติ หวังแลกผลประโยชน์กัน ร้อยละ 97.1 ระบุว่า ต่างชาติเข้าแทรกแซง อ้างความชอบธรรม หลังประเทศไทยพังพินาศ เข้ามาจัดระเบียบกอบโกยผลประโยชน์ชาติไทย
 

และยังพบว่าผลสำรวจ "เสียงประชาชนในโลกโซเชียล" (Social Media Vioce) พบว่ามีการระดมปั่นกระแสเข้ามาในประเทศไทยจากต่างประเทศ ทำให้เกิดภาพหลวงตาสูงกว่าความเป็นจริงประมาณ 7 เท่า และมีกลุ่มผู้ใช้งานในโลกโซเชียลที่เคลื่อนไหวสูง(High-Active Users)ขับเคลื่อนข้อความการเมือง ในช่วง 30 วัน ที่ผ่านมาจากต่างประเทศเข้ามาในไทยมีจำนวนมากกว่ากลุ่มผู้ใช้งานในโลกโซเชียล ที่เคลื่อนไหวสูงภายในประเทศไทย บางข้อความการเมืองเพื่อยุยงปลุกปั่นกระแสเกือบ 200 เท่า มากกว่าความเป็นจริง นี่คือความเลวร้ายจากการชุมนุมยุคใหม่ ของคนที่อ้างประชาธิปไตย แต่ชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้าน สร้างข้อมูลเท็จ ตบตาหลอกลวงคนไทย ทำลายประเทศตนเอง

7. การชุมนุมมิใช่ทางออกที่ดีของประเทศ แต่เป็นการซ้ำเติมความเดือดร้อนของประชาชน ซ้ำเติมวิกฤติทางเศรษฐกิจ จากวิกฤติโควิด-19 โดยความจงใจ ทั้งที่หากต้องการเรียกร้องทางการเมืองการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือให้รัฐบาลลาออก ควรกระทำตั้งแต่ก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 หรือก่อนจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป มิใช่แพ้เลือกตั้ง พรรคถูกยุบ ก็หาเรื่องก่อการชุมนุม
 

8. แกนนำผู้ชุมนุม และผู้ที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง จงใจกล่าวหาใส่ร้ายและโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยความอาฆาตมาดร้าย ด้วยเจตนาเพื่อยั่วยุให้คนไทยโกรธแค้นและไม่พอใจต่อผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง โดยมุ่งหวังให้เกิดการตอบโต้ หรือการปะทะกันกับประชาชนผู้จงรักภักดี อันเป็นแผนชั่วร้ายของผู้บงการ เพราะหากเกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นในหลายพื้นที่ อาจนำไปสู่การก่อการจลาจล เพื่อหวังใช้เหตุความรุนแรงเรียกร้องต่างชาติที่สมคบคิดวางแผนไว้ เข้าแทรกแซงการเมืองไทย เหมือนที่ประเทศมหาอำนาจอเมริกา กระทำกับประเทศอื่นๆ มาแล้ว
 

9. พรรคเพื่อไทยและฝ่ายค้าน ต่างรอฉวยโอกาสตีกินกับสถานการณ์การเมืองนี้ โดยผสมโรงเรียกร้องให้นายกฯ ลาออก เพื่อโอกาสในการเข้ามาเป็นรัฐบาลแทนที่ ในขณะที่พวกเขาปากตะโกนประชาธิปไตย แต่ด้านหนึ่งกลับสนับสนุนอนาธิปไตยของผู้ชุมนุม พวกเขาโจมตีรัฐบาลหาว่าใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม แต่พวกเขาไม่เคยตักเตือนห้ามปรามผู้ชุมนุมที่ใช้ความรุนแรงกับเจ้าหน้าที่ หรือประชาชนกลุ่มอื่นที่เห็นต่าง พวกเขาอ้างว่าจงรักภักดี แต่ก็แอบให้ท้ายเด็กและไม่เคยตักเตือนเด็กที่พูดจากร้าวร้าวไม่บังควร พวกเขาได้แต่พยายามใส่ฟืนเข้าไปในกองไฟ ช่วยโหมกระพือให้เกิดปัญหาทางการเมืองลุกลามบานปลาย
 

10. การชุมนุมทางการเมืองครั้งนี้ ไม่ได้เสนอทางเลือก ทางออกที่ดีแก่ประเทศ ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด การเปลี่ยนแปลงใดๆ ในทางการเมือง โดยปราศจากสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่พวกเขาเรียกร้อง ไม่มีใครบอกได้ว่าอนาคตประเทศชาติจะก้าวเดินไปทางใด ตรงกันข้ามหากปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม อนาคตประเทศชาติมีแต่ความมืดมน หายนะ และความวิบัติย่อมเกิดแก่ประเทศชาติ เหมือนที่เกิดขึ้นแล้วกับประเทศอื่นๆ
 

ทั้งหมดนี้ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ไม่อาจเห็นด้วยกับกลุ่มผู้ชุมนุม เพราะพฤติกรรมทำให้เชื่อได้ว่า มิใช่ต้องการปฏิรูป แต่พวกเขาต้องการปฏิวัติ โดยก่อจลาจล และอาศัยมวลชนลุกฮือขึ้นสู้ เพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ มิใช่การชุมนุมทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย