ปรับโฉมการสื่อสาร

28 ต.ค. 2563 | 02:15 น.

 

 

คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,622 หน้า 10 วันที่ 29 - 31 ตุลาคม 2563

 

 

เมื่อคํ่าวันที่ 21 ตุลาคม 2563 ทุกท่านอาจจะได้รับชมแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี ผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อแถลงการณ์ว่า “ถอยคนละก้าว เข้าสภา ใช้สติและปัญญา แก้ปัญหาร่วมกัน”

ตัวเนื้อหาสาระคงรับรู้รับทราบกันหมดแล้ว แต่เชื่อว่ามีคนสงสัยว่าทำไมลีลา จังหวะจะโคนของพล.อ.ประยุทธ์ ในการพูดแถลงการณ์เปลี่ยนไปอีกแล้ว (ครับท่าน) 

มีคนถามผมว่า นายกฯออกแถลงการณ์นี้ มีสคริปไหม คำตอบคือ มีครับ ถามว่าใครเขียนให้ คำตอบคือ ก็ “บิ๊กตู่” นั่นแหละครับที่เขียนสคริปที่ออกมาจากใจด้วยตัวเองกับมือเหมือนทุกครั้ง เพียงแต่ว่ามีทีมที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ช่วยขัดเกลาภาษาให้อยู่ในโทนเนื้อหาที่น่าฟังมากที่สุด ซึ่งอันนี้ก็ต้องอยู่ขึ้นกับทัศนคติของผู้ฟังนะครับ 

ยกตัวอย่างเช่นท่อนนี้ “ในเวลานี้ เราต้องถอยกันคนละก้าว เพื่อออกห่างจากทางที่จะนำไปสู่ปากเหว เส้นทางที่จะพาประเทศไทยของเราค่อยๆ ตกลงไปสู่หายนะ และสิ่งที่อยู่เหนือการควบคุมจะเริ่มเกิดขึ้นมากขึ้นๆ การใช้อารมณ์ความรู้สึกนำ ก็จะยิ่งสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ร้อนมากยิ่งขึ้น และการใช้ความรุนแรง จะยิ่งนำมาซึ่งความรุนแรงที่ มากกว่าเดิม สิ่งเหล่านี้ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ได้สอนเรามาแล้วหลายครั้ง ซึ่งตอนจบของทุกครั้งก็คือความเสียหายที่ทิ้งไว้กับประเทศ

ถ้าท่านนึกถึงบุคลิกที่โผงผางของพลเอกประยุทธ์ อาจจะนึกไม่ออกว่าทำไมถึงเขียนภาษาแบบนี้ออกมา ผมมีโอกาสคุยกับทีมงานของนายกฯลุงตู่ อธิบายให้ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า อย่าลืมว่า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นคนที่ชอบแต่งเพลง แต่กลอน ฉะนั้นเรื่องถ้อยคำสวยๆ ที่ร้อยเรียงมาเป็นตัวหนังสือแบบนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกเลย ไม่เชื่อลองย้อนไปฟังเพลงที่บิ๊กตู่แต่งหลายๆ เพลงก่อนหน้านี้ได้

 

 

 

 

เมื่อเขียนเรื่องการสื่อสารในภาวะวิกฤติของพลเอกประยุทธ์แล้ว พลันเหลือบไปเห็นมติคณะรัฐมนตรี ที่มีมติเกี่ยวกับการปรับการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ผลงานของหน่วยงานและรัฐบาล แบ่งเป็น 2  ส่วน ได้แก่

1. การประชาสัมพันธ์ผลงานของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ ให้ทุกส่วนราชการ และหน่วยงานของรัฐ นำเสนอข้อมูลผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานในเรื่องต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ ผลสัมฤทธิ์ หรือประโยชน์ที่ประชาชนได้รับที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยอาจจัด ทำในรูปแบบของวีดิทัศน์ หรือสื่อรูปแบบอื่นๆ ที่มีความทันสมัย มีสาระสำคัญที่กระชับ เป็นที่น่าสนใจ และเข้าใจได้ง่าย ทั้งนี้เรื่องที่จะนำมาเสนอให้พิจารณาเลือกเรื่องที่มีความสำคัญ และมีผลกระทบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชนโดยตรง เช่น การช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง การช่วยเหลือเกษตรกร และการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน เป็นต้น

 

ปรับโฉมการสื่อสาร

 

 

2. การประชาสัมพันธ์ผลงานของรัฐบาลและกรมประชาสัมพันธ์ ให้กรมประชาสัมพันธ์ประสานงานกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาปรับปรุงแนวทาง รูปแบบ และสารัตถะของการเผยแพร่ข้อมูลผลงานของรัฐบาล ผ่าน ช่องทางการสื่อสารต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถสร้างการรับรู้ที่ถูกต้องแก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันสถานการณ์มากยิ่งขึ้น 

 

 

 

 

ขีดเส้นใต้ที่ ข้อ 1 “...หรือสื่อรูปแบบอื่น ๆ ที่มีความทันสมัย...” คงหมายถึงการใช้แพลตฟอร์มทางโซเชียลมีเดียให้มากขึ้นในยามนี้ ที่กลุ่มผู้ชุมนุมที่ล้วนเป็นคนรุ่นใหม่ วัยรุ่น นัดหมาย สื่อสารและเสพข่าวสารทางมือถือ มากกว่าดูทีวีหรือหนังสือพิมพ์ 

จากนี้คงได้เห็นโฉมใหม่ของการสื่อสารของรัฐบาลที่เจาะกลุ่มวัยรุ่นมากขึ้น