4 ปัจจัยเสี่ยง “หลอน”ภาคธุรกิจ จี้ตั้งรับ-ลากยาวถึงปีหน้า

24 ต.ค. 2563 | 03:30 น.

เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย วิเคราะห์ 4 ปัจจัยเสี่ยงหลัก จะส่งผลกระทบภาคธุรกิจไทยปลายปีนี้ลากยาวถึงปีหน้า ให้เตรียมรับมือ

พิษโควิด-19 ที่ทำลายล้างทั้งเศรษฐกิจ ธุรกิจตกหลุมอากาศ ยอดเลิกจ้างงานมีต่อเนื่อง กระทบไปยันปัญหาปากท้องประชาชนที่หาเช้ากินค่ำในเวลานี้ และประเมินกันว่าทั่วโลกจะต้องตกอยู่ในสภาพนี้ไปอีกเป็นปี “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ถึงภาพรวมโค้งสุดท้ายปี 2563 และมองต่อเนื่องไปถึงปี 2564 ที่คนไทยไม่ได้รับศึกหนักเฉพาะปัญหาโควิด-19

 

4 ปัจจัยเสี่ยงลากยาวปีหน้า

รองประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ในช่วงโค้งท้ายปีนี้ต่อเนื่องปี 2564 ไทยจะต้องเจอกับความเสี่ยง 4 ด้านหลักคือ

1.ความเสี่ยงที่คนไทยอาจจะต้องกลับมารับมือการแพร่ระบาดรอบ 2 ของไวรัสโควิด-19 เนื่องจากขณะนี้เราเริ่มเปิดให้นักท่องเที่ยวจีนชุดแรกกว่า 40 คน นับจากที่มีการแพร่ระบาดของโควิด เข้ามาท่องเที่ยว (20 ต.ค.63) แม้เบื้องต้นเราเห็นว่าการระบาดควบคุมได้แล้ว โดยภาครัฐบาลต้องมองถึงความสมดุลทั้งด้านการควบคุมการแพร่ระบาดและการเปิดประตูให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยวเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างระมัดระวัง เพราะจะมีความเสี่ยงมากขึ้น

 

“ตั้งข้อสังเกตโดยดูจากประสบ การณ์หลายประเทศพอเปิดให้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาก็กลับมาเจอการแพร่ระบาดรอบสอง ทั้งสิงคโปร์ ยุโรป อังกฤษ ก็ต้องกลับมาปิดประเทศอีก ตรงนี้ต้องมีการควบคุมอย่างเข้มงวดที่สุด” 

 

ขณะเดียวกันจากวิกฤติโควิดทำให้เศรษฐกิจโลกกระทบอย่างรุนแรง เพราะกิจกรรมทางการค้าสะดุด จากกำลังซื้อหดตัวรุนแรง ความต้องการใช้สินค้าทั่วโลกลดลงอย่างน่าใจหาย และทำให้คนตกงานเกิดขึ้นจำนวนมาก

 

2.ความเสี่ยงที่เกิดจากภาระหนี้สิน 12.5 ล้านบัญชี ที่ครบเวลาพักชำระหนี้ 6 เดือนของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ล่าสุดธปท.ประกาศไม่ต่อ-ขยายเวลาพักชำระหนี้  มีความกังวลถึงมาตรการรองรับของผู้ประกอบการที่เป็นลูกหนี้จำนวนมากว่าจะชำระหนี้ได้มากน้อยแค่ไหน และในที่สุดจะกลายเป็นหนี้ NPL มากน้อยแค่ไหน ซึ่งมีแนวโน้มพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากจะมีคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ทั้งหมดหลังจากที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ไปแล้ว

 

“ขณะนี้มีมูลหนี้รวมสูงถึง 7 ล้านล้านบาทหรือมีราว 12.5 ล้านบัญชี และมาตรการที่ธนาคารพาณิชย์จะปรับโครงสร้างหนี้ของลูกค้าของตัวเองจะทำได้มากน้อยแค่ไหน  และจะมีจำนวนคนที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้กี่เปอร์เซ็นต์ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด”

 

4 ปัจจัยเสี่ยง “หลอน”ภาคธุรกิจ จี้ตั้งรับ-ลากยาวถึงปีหน้า

3.ปัจจัยเสี่ยงจากความไม่สงบทางการเมือง ที่ทุกวันนี้มีม็อบกระจายไปหลายจุด เป็นเรื่องผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจในประเทศ จะทำให้ภาคธุรกิจในประเทศเกิดความไม่มั่นใจ ชะลอการตัดสินใจด้านต่าง ๆ แต่โดยรวมยังถือว่าโชคดีที่ม็อบไม่ได้ใช้ความรุนแรง และไม่ปักหลักค้างคืนเป็นเพียงระยะสั้น ๆ  แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องระวังอย่าให้เกิดมือที่สามมาฉวยจังหวะสร้างสถานการณ์ ต้องรับมือให้ได้ และต้องดูว่าจะยื้อเยื้อแค่ไหน 

 

“บางข้อเรียกร้อง เช่นการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องมีการหารือกัน ซึ่งจะเป็นเวทีที่ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องมาร่วมกันแก้ไขในข้อที่แก้ไขได้ ทุกฝ่ายต้องมีความจริงใจในการแก้ไข และร่วมกันแก้ปัญหานี้อย่างรวดเร็ว เพราะถ้ามีการชุมนุมกันนานไปจะไม่ดีต่อภาพลักษณ์ประเทศในสายตาชาวโลกเรื่องความเชื่อมั่น

 

4 ปัจจัยเสี่ยง “หลอน”ภาคธุรกิจ จี้ตั้งรับ-ลากยาวถึงปีหน้า

 

4.ปัจจัยเสี่ยงเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอเมริกาที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายนนี้ ย่อมมีผลต่อการใช้นโยบายด้านการต่างประเทศ ด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสงครามการค้าที่จะเข้มข้นขึ้นหรือลดระดับลงล้วนมีผลกระทบต่อโลกทั้งสิ้น ทั้ง 4 ปัจจัยนี้ถือว่าเป็นความเสี่ยงของไทยและของโลก

 

ประเทศไทยมีการคาดการณ์ว่าสิ้นปีนี้ถ้าไม่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 จีดีพีจะติดลบที่ 7-8% แต่ถ้ามีการระบาดรอบ2 จีดีพีจะติดลบเป็นตัวเลขสองหลักทันทีหรือติดลบราว 10%

 

4 ปัจจัยเสี่ยง “หลอน”ภาคธุรกิจ จี้ตั้งรับ-ลากยาวถึงปีหน้า

 

ผวาโควิดรอบ 2 ธุรกิจล้มครืน

นายเกรียงไกรกล่าวว่า ถ้าไทยต้องเจอกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดรอบสอง  ปัญหาที่จะตามมาคือ ธุรกิจจะล้มมากขึ้นโดยเฉพาะเอสเอ็มอี ภาคท่องเที่ยวจะหมดแรง ขาดสภาพคล่อง และจะเกิดการเลิกจ้างงานเพิ่มขึ้นอีก

 

เวียดนามมาแรง แซงไทยหลายด้าน

เมื่อถามถึงการแข่งขันกับเวียดนาม รองประธานส.อ.ท.กล่าวด้วยความกังวลว่า “น่าห่วง” ถ้าเราไม่รีบปรับตัวจากภาวะสงครามการค้า ต่อเนื่องมาวิกฤติโควิด-19 ที่กำลังเป็นตัวเร่งให้เกิดการย้ายฐานการผลิต   เวลานี้ทั้งญี่ปุ่น ยุโรป  อเมริกา ที่มีโรงงานอยู่ในจีนก็พากันย้ายฐานผลิตออกจากจีน ส่วนหนึ่งกระจายมาลงทุนในอาเซียน ส่วนหนึ่งกลับไปลงทุนในประเทศตัวเอง

 

สำหรับประเทศที่ถูกจับตามองในอาเซียนมากที่สุดมีทั้งไทย  เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย  แต่ที่ได้รับความสนใจมากเป็นที่หนึ่งในอาเซียนคือเวียดนาม  สังเกตได้ชัดเจนดูจากที่ก่อนหน้านี้รัฐบาลญี่ปุ่นส่งเสริมให้นักธุรกิจญี่ปุ่นไปลงทุนในจีน ตอนนี้มีการย้ายฐานกลับญี่ปุ่นราว 60 ราย แต่ที่น่าจับตาคือมีราว 10 รายเลือกไปลงทุนต่อในเวียดนาม ทั้งหมดไม่มีหันหัวเรือมาลงทุนในไทย

 

เวลานี้เวียดนามมีข้อได้เปรียบเหนือไทยตรงที่ล่าสุดจีดีพีในเวียดนามยังไม่ติดลบแบบไทย(ไทยสิ้นปีนี้คาดจีดีพีจะติดลบ 7-8%)  และเวียดนามมีข้อได้เปรียบตรงที่มีข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA)กับประเทศต่าง ๆ มากมายและอยู่ในความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกหรือ CPTPP ที่มีญี่ปุ่นเป็นตัวนำ

 

จะฝ่าวิกฤติอย่างไรปี 2564

ปี 2564 ประเทศไทยจะฝ่าโจทย์หินไปได้ มีความจำเป็นจะต้องเร่งปฏิบัติคือ จะต้องปลุกเศรษฐกิจภายในประเทศให้ได้ก่อน และเร่งเจรจา FTA ที่ไทยยังเจรจาค้างอยู่ และเปิดเจรจาเพื่อจัดทำ FTA ใหม่ ๆ เพื่อสู้กับเวียดนามที่ไทยเสียเปรียบอยู่ในขณะนี้

 

“มั่นใจว่าปีหน้าวัคซีนที่ยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังกระจายไปได้ไม่ทั่วถึงทั้งโลกและมีอย่างจำกัด ดังนั้นปีหน้าทุกประเทศจะต้องพึ่งพาเศรษฐกิจภายในประเทศตัวเองเป็นหลักก่อนโดยกระตุ้นการใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง เร่งใช้จ่ายการลงทุนจากภาครัฐเหล่านี้จะเป็นตัวเร่งหลัก มาชดเชยกับภาคส่งออก และภาคท่องเที่ยวที่แย่”

 

นอกจากนี้การส่งเสริมการใช้สินค้าไทยที่ผลิตกันเองในประเทศตามยุทธศาสตร์ที่ ส.อ.ท.วางไว้คือสนับสนุนสินค้าไทยสินค้าเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำไปยันปลายน้ำ รวมถึงการดูแลภาคโลจิส ติกส์ทำงานร่วมกับส.อ.ท.จังหวัด จะเป็นอีกช่องทางในการช่วยสร้างงาน  รองรับแรงงานในเมืองในจังหวัดต่างๆ เพราะมีคนตกงานจำนวนมากกลับบ้านเกิดตัวเองแต่ไม่มีงานทำ เป็นต้น

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจหน้า 9 ฉบับที่ 3621 วันที่ 25-28 ตุลาคม 2563

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกาะติด สถานการณ์การชุมนุม ม็อบคณะราษฎร 24 ตุลาคม 2563

ทั่วโลกติดโควิด-19 ทะลุ 42.4 ล้านราย เพิ่มขึ้น 4.7 แสนราย

“ทรัมป์ VS ไบเดน” ดีเบตรอบสุดท้าย ชี้ชะตาเลือกตั้งปธน.สหรัฐ

"เวียดนาม"ประกาศชิงธง ผู้นำดึงลงทุนโลกปี 64