เมื่อมีโอกาสต้องรื้อ “กลไกรัฐ” เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ทั้งระบบ

21 ต.ค. 2563 | 05:05 น.

เมื่อมีโอกาสต้องรื้อ “กลไกรัฐ” เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ทั้งระบบ : คอลัมน์เศรษฐศาสตร์ นอกขนบ โดย สุวิทย์ สรรพวิทยศิริ มูลนิธิ สวค.

 

“ถ้าการเมืองดี เราคงกลายเป็นประเทศที่พัฒนาไปแล้ว” หากติดตามการชุมนุมของคนรุ่นใหม่จะได้ยินประโยคนี้บ่อย ๆ คำว่า “การเมืองดี” จริง ๆ แล้วก็คือ “กลไกรัฐที่ดี” นั่นเอง ความคิดของคนรุ่นต่อไป (Next Generation) เป็นสัญญาณสะท้อนไปที่ “กลไกรัฐ” ในปัจจุบันว่าอาจจะไม่ตอบโจทย์ต่ออนาคตของพวกเขาเหล่านั้นได้ 

ปัญหาเชิงระบบซุกปัญหาไว้ใต้พรมมากมาย เสาหลักทางเศรษฐกิจและสังคมอ่อนแอภูมิต้านทานต่ำ โครงสร้างเศรษฐกิจที่เหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ไม่เป็นธรรม สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นเป็นประจักษ์ (Empirical Evidence) และที่สำคัญประเด็นเหล่านี้ถูกบรรจุไว้ในแผนพัฒนาประเทศในทุกระดับไม่น้อยกว่า 10 ปี 

แต่กาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าปัญหาเหล่านั้นไม่ได้รับการแก้ไขและมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า “กลไกรัฐ” มีปัญหา ขณะที่ปัญหาเฉพาะหน้าเรื่องโควิด-19 ก็กำลังบั่นทอนสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล 

อีกทั้งการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ที่กำลังร้อนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เหมือนกับประเทศไทยที่เมื่อ 20 ปีก่อนเคยได้รับการขนานนามว่า “เสือตัวที่ 5 ของเอเชีย” แทบจะไม่เหลือภาพเหล่านั้นอีกแล้ว แต่กลับกลายเป็นภาพของ “คนป่วยแห่งเอเชีย” โผล่ขึ้นมาแทนที่ 

จากนี้ไปประเทศไทยคงไม่เหมือนเดิมเหมือนกับที่หลายคนได้กล่าวไว้ (อ่านได้จากบทความของผมในฉบับย้อนหลัง) ในขณะที่เรากำลังวางแผนเพื่อที่จะสร้างเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า New-s curve เพื่อที่จะทำให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตรุ่งเรืองอีกครั้ง ภายใต้แรงกดดันทางเทคโนโลยี ในยุคศตวรรษแห่งเอเชียและสงครามการค้า การทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเพื่อรองรับโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว ดูเหมือนว่า “กลไกรัฐ” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถที่จะทำให้ฝันของรัฐบาลภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมีโอกาสเป็นจริงได้แม้แต่น้อย

หากประเทศไทยมีโอกาสล้างไพ่ (Reset) แล้วสร้าง “กลไกรัฐใหม่” ที่มีประสิทธิภาพ ภาพของเศรษฐกิจประเทศไทยจะเป็นอย่างไร ภายใต้สมมติฐานภายในประเทศที่จะต้องดำเนินการเพื่อเปลี่ยน “กลไกรัฐ” เพื่อเศรษฐกิจและสังคมใหม่อีกครั้ง

เมื่อมีโอกาสต้องรื้อ “กลไกรัฐ” เพื่อสร้างเศรษฐกิจใหม่ทั้งระบบ

รูปภาพจำลองการเปลี่ยนแปลงของมูลค่าทางเศรษฐกิจสำหรับการฉายภาพอนาคต (Foresight) เป็นลักษณะ 2 ฉากทัศน์ (Scenario) ดังนี้

ฉากทัศน์ ที่ 1: กลไกรัฐเดิม คือ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดในทางการเมืองและนโยบายเศรษฐกิจ ทัศนคดิในการบริหารยังคงเหมือนเดิม มูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศจะค่อย ๆ ฟื้นกลับมาหลังหดตัวใหญ่ ตามเส้นประสีดำ นั่นคือ การเติบโตเฉลี่ยในระยะยาวจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.9 ต่อปี แล้วทุกอย่างจะกลับไปเหมือนเดิมตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้นทุกประการ ปัญหาทุกอย่างที่ปกปิดและซุกซ่อนไว้ไม่ได้รับการแก้ไข ยังคงใช้ยาหม่องระงับปวดจากแผลเรื้อรังกันต่อไป

ฉากทัศน์ที่ 2: กลไกรัฐใหม่ คือ การสร้างอำนาจในการบริหารเศรษฐกิจด้วยกลไกใหม่ ที่ต้องการเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างแท้จริง เป้าหมายคือ การลดความเหลื่อมล้ำ การกระจายรายได้ที่เป็นธรรม การลดอำนาจราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปยังท้องถิ่น ปฏิรูปและลดขนาดของกลไกรัฐที่ล้าหลัง ควบรวมจังหวัดสร้างเป็นพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จ (อ่านบทความก่อนหน้า: แพลตฟอร์มประเทศไทย: เมื่อเราต้องกลับมาเริ่มต้นใหม่ภายใต้ข้อจำกัดที่มากขึ้น) และขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่มุ่งเน้นที่การลดปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานของภาครัฐ (Remove Frictions) และการเพิ่มผลิตภาพ (Increase Productivity) เป็นเป้าหมายสำคัญ ตาม Timeline ดังต่อไปนี้

• ในปี พ.ศ. 2563 เกิดการหดตัวของมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างรุนแรง ซึ่งคาดว่าจะทำให้ GDP ของภาคประเทศหดตัวลงกว่าร้อยละ 8.0 ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของกิจการและความสามารถในการชำระหนี้ กลไกของรัฐที่ออกแบบโครงสร้างปัจจัยแวดล้อมต้องให้ความสำคัญกับการเยียวยา เพื่อรองรับผลกระทบเป็นสำคัญ โดยการตั้งรับในแง่ของการผ่อนคลายกฎระเบียบ รวมทั้งการเพิ่มเติมสภาพคล่องในปริมาณที่เหมาะสม

• ปี พ.ศ. 2564 คาดว่าน่าจะเป็นปีที่เป็นจุดต่ำสุดของผลกระทบ ทำให้สามารถประเมินความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมทั้งเป็นการทดสอบความแข็งแกร่ง (Stress Test) แก่ผู้ประกอบการซึ่งกิจการที่อยู่รอดต้องพร้อมสำหรับการปรับโครงสร้างทั้งทางด้านปัจจัยการตลาดและการเงิน การจ้างงาน เพื่อรองรับการกลับมาฟื้นฟูใหม่อีกครั้งหลังจากการซ่อมแซม (Repair)

• ปี พ.ศ. 2565-2566 การเติบโตของเศรษฐกิจประเทศจะยังคงขยายเป็นบวกต่อเนื่อง กิจการที่จะอยู่รอดต้องปรับกระบวนการคิดใหม่ (Rethink) โดยภาครัฐยังคงต้องออกแบบ Ecosystem ที่ผ่อนคลาย ซึ่งรวมทั้งการทบทวนและประเมินการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความยืดหยุ่นและลดภาระของภาคส่วนต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจ เพิ่มเติมเครื่องมือและสิ่งอำนวยความสะดวก ลดข้อจำกัดในการสร้างการเติบโตใหม่อีกครั้ง เพื่อลดแรงเสียดทานหรืออุปสรรค (Remove Frictions) ทั้งนี้การตั้งเป้าหมายใหม่ในการพัฒนาและยกระดับ กำหนดค่าของการพัฒนาใหม่ (Reconfigure) ให้ความสำคัญกับการเพิ่มผลิตภาพการผลิต (Increase Productivity) โดยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเพิ่มศักยภาพของแรงงานทั้งระบบให้มีความสามารถในการแข่งขันอย่างแท้จริงและยั่งยืน

• ปี พ.ศ. 2567-2568 ต้องเป็นช่วงเวลาที่สร้างการเติบโตใหม่ (New S-Curve) ที่อัตราการเติบโตของ เศรษฐกิจภาคตะวันออกต้องเติบอย่างน้อยเป็น 2 เท่าของอัตราการเติบโตเฉลี่ยในอดีต ที่ระดับร้อยละ 6 ต่อปี ภายใต้โครงสร้างสภาพแวดล้อมใหม่ (New Ecosystem) ใหม่ที่มีจุดเริ่มต้นจาก Data Platform ที่มีความทันสมัยมีความเป็นปัจจุบันตลอดเวลาและใช้ร่วมกันในทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้การบริหารของหน่วยงานบูรณาการในแต่ละด้าน เพื่อสร้างผลลัพธ์ที่เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งหมดอย่างแท้จริง ซึ่งจะลดผลกระทบและค่าเสียโอกาสที่สูญเสียไปในช่วงปี พ.ศ. 2563-2566 ให้ผังภาคตะวันออกเป็นฐานที่มีความพร้อมทั้งเป็น New Ecosystem ที่ดี มีความสามารถในการรองรับความเสี่ยงในอนาคตที่อาจจะผันผวนได้ตลอดเวลาและสามารถเติบโตได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ (Full Potential)

หากการเปลี่ยนกลไกรัฐเกิดขึ้นได้จริงในปี 2567-2568 การขยายตัวทางเศรษฐกิจตามรูปภาพด้วยเส้นประสีแดงจะสามารถเอาคืนช่วงเวลาที่สูญเสียไปในช่วงปี 2563-2564 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นมูลค่าที่ไม่น้อยเลยเมื่อเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจ 17 ล้านล้านบาทในปัจจุบัน ซึ่งฉากทัศน์ที่ 2 ที่ผมนำเสนอนี้มีโอกาสเป็นไปและศักยภาพของประเทศไทยก็ดำเนินการได้ แต่หากกลไกรัฐไม่เปลี่ยนประเทศไทยก็ไปต่อไปไม่ได้อย่างแน่นอน แล้ววิกฤตที่ใหญ่กว่าโควิด-19 ก็รอจะจัดการกับประเทศที่เป็นเสมือน คนแก่ ป่วย เป็นหนี้ อย่างโหดร้ายและทารุณแน่นอน ทั้งหมดเป็นเรื่องราวของคนมีฝัน “I have dream” ตามที่ มาร์ติน ลูเทอร์คิง จูเนียร์ และ “จากครรภ์มารดา ถึงเชิงตะกอน” ตามที่ ป๋วย อึ้งภากรณ์ ได้กล่าวไว้