รับมือม็อบอย่างไร ให้ประเทศสงบสุข

21 ต.ค. 2563 | 05:00 น.

รับมือม็อบอย่างไร ให้ประเทศสงบสุข : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฉบับ 3620 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.2563 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา (14-20 ต.ค.63) เราท่านทั้งหลาย คงได้เห็นการชุมนุมทางการเมือง ของกลุ่มคนที่เรียกตนเองว่า "กลุ่มคณะราษฎร 2563" ซึ่งรวมตัวมาจากกลุ่มประชาชน หรือ เยาวชนปลดแอก การชุมนุมดังกล่าวเป็นการผสมปนเป ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่มีความบริสุทธิ์ทางการเมือง มีความปารถนาดีต่อชาติบ้านเมืองส่วนหนึ่ง แต่ก็มีแนวร่วมและผู้สนับสนุนจากกลุ่มพรรคและนักการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ อิงแอบเข้าร่วมผสมโรง มีอาจารย์นักวิชาการ เอ็นจีโอ อดีตนักเคลื่อนไหวทางการเมืองปีกฝ่ายเสื้อแดงในอดีตบางคนเป็นแนวร่วม แต่จะมีองกรค์ต่างชาติคอยชักใยให้ทุนสนับสนุนอยู่เบื้องหลังหรือไม่ กำลังเป็นที่สงสัยจับตามอง แต่ม็อบนี้ยังไม่ใช่ตัวแทนพลังของคนส่วนใหญ่
 

การชุมนุมเมื่อ 14 ตุลาคม 2563 ถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุด เท่าที่กลุ่มดังกล่าวเคยจัดมา ในรอบ 6 ปี หลังการรัฐประหารในปี 2557 แต่ก็มิใช่เป็นการชุมนุมทางการเมืองของประชาชน ที่มีผู้เข้าร่วมมากที่สุดเมื่อเทียบกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือพฤษภาทมิฬ 2535 หรือการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ, กลุ่ม กปปส.และ นปช.
 

เมื่อกล่าวถึงการชุมนุมทางการเมือง ประเทศไทยเคยผ่านบทเรียนมาทุกรูปแบบและมากที่สุดประเทศหนึ่ง และหากนับรวมถึงเหตุการณ์ความจลาจลวุ่นวายอื่นๆ รวมถึงการปฏิวัติ รัฐประหาร กระทั่งการสู้รบกันในสงครามการเมือง ระหว่างอำนาจรัฐไทยกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยด้วยแล้ว ย่อมถือได้ว่าประเทศไทย มีบทเรียนอันอุดมสมบูรณ์ในเรื่องการต่อสู้กันทางการเมือง และแนวทางการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในสังคมให้ยุติลงด้วยความสงบสุขและสันติ

มีปัญหาว่า การชุมนุมของ "กลุ่มคณะราษฎร 2563" มีความสำคัญยิ่งใหญ่แค่ไหนเพียงใด จะพัฒนาไปถึงระดับไหน และจะจบลงในลักษณะอย่างไร จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทย แบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินหรือไม่ โฉมหน้าประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงจากเดิมไปอย่างไร และท้ายที่สุดพลังของฝ่ายใดจะเป็นผู้ชนะ ใครจะเป็นผู้กำหนดอนาคตและชะตากรรมของบ้านเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจากนี้จะเป็นอย่างไร เป็นปัญหาและคำถามที่คาใจประชาชนไทยทุกคน ซึ่งทั้งหมดนี้อยู่ที่การประเมินกำลังและสภาพปัญหาของการชุมนุม จากฝ่ายอำนาจรัฐกับแนวทางการรับมือและจัดการกับปัญหานี้ ว่าสามารถสรุปและเก็บรับบทเรียนในอดีต เพื่อแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน โดยประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับยุคสมัยและสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ เป็นสำคัญ
 

วิเคราะห์ลักษณะม็อบ จากการชุมนุมที่เปิดเผยและแสดงออกต่อสาธารณะแล้ว พลังส่วนหนึ่งมีความบริสุทธิ์ใจ พวกเขาไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารและสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ กับคณะ แต่การชุมนุมก็มีลักษณะที่น่าเคลือบแคลงใจประชาชนไทย พอสรุปลักษณะสำคัญได้ดังนี้
 

1. เป็นม็อบที่มีการนำและองค์กรนำหลายระดับ โดยมีเป้าหมายทางการเมืองที่ชัดเจนแน่นอน แต่ทำให้ดูเหมือนไม่มีแกนนำ กลุ่มองค์กรและผู้นำตัวจริงยังไม่กล้าเผยตัว
 

2. การนำมีทั้งที่เปิดเผยและปิดลับ โดยมีการวางแผน ควบคุมสั่งการเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย แบ่งบทบาทหน้าที่กันทำและมีการสนับสนุนทุกๆ ด้าน ทั้งอุปกรณ์เกี่ยวกับการชุมนุมและการเงิน โดยไม่จำต้องรับบริจาค
 

3. ใช้การสื่อสารจากเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้าถึงเยาวชนและกลุ่มเป้าหมาย สร้างข่าวและปั่นกระแส อาศัย social media เป็นเครื่องมือสื่อสาร กระจายการสั่งการ โดยปกปิดผู้สั่งการ
 

4. มีการปฏิบัติการทางข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นระบบ มีขบวนการจัดการ เพื่อชี้นำประเด็นการเคลื่อนไหว ตอบโต้ทำลายฝ่ายที่เห็นต่าง สร้างข่าวเท็จ บิดเบือนประเด็น สร้างวาทกรรม สร้างข่าวสารที่สับสนแก่ประชาชน ทำให้ข่าวสารฝ่ายรัฐไม่น่าเชื่อถือ ทำลายความชอบธรรมของฝ่ายอำนาจรัฐ และการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่
 

5. เป้าหมายสุดท้ายของการชุมนุม ไม่ได้อยู่ที่ข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือให้ พล.อ.ประยุทธ์ ลาออกเท่านั้น แต่ยังพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ ส่อไปในทางเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง โดยอ้างข้อเรียกร้องเรื่องประชาธิปไตยนำหน้า แต่เหมือนต้องการให้เกิดการจลาจลวุ่นวายในบ้านเมือง เกิดเหตุการณ์ความรุนแรง จนฝ่ายรัฐควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ เพื่ออาศัยสถานการณ์ดังกล่าวก่อการเปลี่ยนแปลงโดยมิใช่ตามวิถีทางประชาธิปไตย
 

นี่คือลักษณะของม็อบ "คณะราษฎร 2563" ที่มีความแตกต่างจากการชุมนุมทางการเมืองของกลุ่มอื่นๆ ที่ผ่านมา ดังนั้น การรับมือของฝ่ายอำนาจรัฐ จึงจำเป็นต้องเข้าใจลักษณะเฉพาะพิเศษดังกล่าว และจัดการรับมืออย่างมียุทธวิธีที่เหมาะสม และเข้าใจเหตุการณ์ ต้องแยกแยะให้ดีระหว่างมวลชนบริสุทธิ์กับกลุ่มที่มีเป้าหมายการเมืองแอบแฝง

ในข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมที่เห็นว่ามีเหตุผล มีเพียงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องให้นายกฯลาออกเท่านั้น ที่รัฐบาลควรพิจารณารับข้อเสนอและดำเนินการในทันที เพราะเป็นไปตามนโยบายที่รัฐบาลแถลง ข้อนี้จึงไม่ควรยื้อดึงเวลาให้เสียการ และนายกฯ สามารถประกาศ พร้อมยุบสภาจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ ภายหลังรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ได้ ซึ่งก็จะมีผลให้นายกฯ เป็นแค่รักษาการ โดยรัฐบาลควรเป็นเจ้าภาพเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเสียเอง เพื่อหารือและหาทางออกให้กับบ้านเมือง ซึ่งก็สอดคล้องกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม จึงน่าจะเป็นช่องทางคลี่คลายเหตุการณ์ได้ หากรัฐบาลเดินแนวทางนี้ ผู้ชุมนุมยังดื้อรั้นก่อความวุ่นวาย พวกเขาย่อมหมดความชอบธรรม เพราะข้อเรียกร้องอื่นๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบัน สังคมไม่ยอมรับและไม่เห็นด้วย การเดินหน้าในเรื่องนี้ของผู้ชุมนุมมีแต่จะโดดเดี่ยว ไร้การสนับสนุน
 

การชุมนุมของคณะราษฎร แม้จะมีจุดแข็งบางด้านแต่ก็มีจุดอ่อนที่สำคัญๆ อยู่มาก ทำให้ขาดแนวร่วมและพลังบริสุทธิ์เสียหายคือ
 

1.เป็นการชุมนุมที่ไร้ระเบียบ กร้าวร้าว หยาบคาย ส่อไปในทางที่พร้อมก่อความวุ่นวายและเหตุรุนแรง
 

2. มีการปราศรัยจ้วงจาบหยาบช้า ด่าทอ โจมตี ดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์และแสดงความอาฆาตมาดร้าย มุ่งหมายการเปลี่ยนแปลงล้มล้างสถาบันกษัตริย์ มากยิ่งกว่าที่ต้องการการปฏิรูปสถาบัน
 

3. มวลชนส่วนใหญ่หวาดกลัวไม่กล้าเข้าร่วมและไม่สนับสนุน
 

4. มีพฤติการณ์การบิดเบือน สร้างข่าวเท็จ ให้ข้อมูลที่ผิดๆ แก่ประชาชน ซึ่งผู้ชุมนุมพลังฝ่ายประชาธิปไตยไม่ควรปฏิบัติเช่นนี้
 

5. จงใจกระทำการอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย และก้าวล่วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดแจ้ง
 

การรับมือและจัดการกับปัญหาการชุมนุมดังกล่าว รัฐจึงไม่ควรใช้การจัดการทางกฎหมายแต่เพียงลำพัง จึงต้องจัดการอย่างจำแนก แยกพลังบริสุทธิ์ออกจากกลุ่มต่อต้านสถาบัน หากเป็นการชุมนุมเพื่อแสดงออกทางการเมืองโดยสงบ รัฐควรเปิดพื้นที่ให้ ควรต้องมีการตอบโต้ชี้แจง ให้ข้อมูลข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการชุมนุมอย่างต่อเนื่อง และให้เหตุผลถึงความจำเป็นที่รัฐต้องดำเนินการทางกฎหมาย ควบคู่ไปกับการดำเนินงานทางการเมือง เพื่อให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าใจ ต้องมีปฏิบัติการเอาชนะทางการเมือง และเอาชนะทางความคิด ด้วยการเอาความจริงชนะความเท็จ เอาข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องชนะข่าวปลอม โดยทันท่วงที
 

รัฐควรมีศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขสถานการณ์การชุมนุม ประกอบผู้รู้ที่มีประสบการณ์อำนวยการ มีฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติงานตลอดเวลา มีโฆษกศูนย์อำนวยการที่สามารถสื่อสารต่อประชาชนส่วนใหญ่ได้ดี มีชุดปฏิบัติงานมวลชนในสถาบันการศึกษา ผู้ปกครองและกลุ่มเยาวชน เพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความคิดพิจารณา ไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง เช่นนี้แล้ว รัฐบาลก็จะสามารถรับมือกับม๊อบ เพื่อให้การแก้ปัญหาเป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย คืนความสงบสุขแก่สังคมได้