ฤดู “ไม่หนี-ไม่มี-ไม่จ่าย” มาแล้ว ไม่ยืดพักหนี้-แก้ไขรายกรณี

21 ต.ค. 2563 | 04:00 น.

ฤดู “ไม่หนี-ไม่มี-ไม่จ่าย” มาแล้ว ไม่ยืดพักหนี้-แก้ไขรายกรณี : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3620 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 22-24 ต.ค.2563 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

ฝีแตกสิครับพี่น้องผู้ประกอบการคนตัวเล็กทั้งหลาย
 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่า 2 องค์กรหลักที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ “ธนาคารแห่งประเทศไทย-กระทรวงการคลัง” มีความเห็นร่วมกันว่า “จะไม่ขยายระยะเวลามาตรการพักหนี้” ตามพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ที่จะครบกำหนด 6 เดือน ในวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ออกไปตามที่ภาคเอกชนร้องขอ
 

แต่จะให้ลูกหนี้คนตัวเล็กที่ลมหายใจรวยริน ไปเจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เอาเองเป็นรายกรณี
 

ใครไม่ไหว ไม่หนี ไม่มี ไม่มีจ่าย จะต้องไปเจรจาเงื่อนไขการจ่ายหนี้กันเอาเอง ตามกลไกตลาดการเงินเสรี...
 

ผมทำนายไว้ตรงนี้เลยว่า ปริมาณหนี้เสียของเอสเอ็มอีจะเพิ่มขึ้นเกินกว่าใครจะคาดคิด...

ไม่แน่ตัวเลขหนี้เสียของกลุ่มเอสเอ็มอี ที่ปัจจุบันหายใจร่อแร่อยู่แล้วจะทะลุไปยืนเลขสองหลัก...อย่าชะล่าใจกันเชียว ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
 

มาตรการความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินผ่านมาตรการการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือ หรือพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ปรับเงื่อนไขการจ่ายหนี้รวม 12.82 ล้านบัญชี ยอดหนี้รวม 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของสินเชื่อในระบบทั้งหมด
 

เฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มีมูลหนี้ที่เข้าร่วมโครงการพักหนี้ถึง 2.25 ล้านล้านบาท จำนวน 1.17 ล้านราย และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว มีเงินทุนไม่มากนัก กลุ่มนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้เสียทันที เพราะไม่มีรายได้พอจ่ายหนี้ได้ เมื่อสิ้นสุดมาตรการพักหนี้ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
 

ใครจะบอกว่า กลุ่มนี้มีความสามารถในการจ่ายหนี้ได้ ผมขอเถียงคอขึ้นเอ็นว่า ไม่มีทาง....เพราะเขาไม่รู้จะหาเงินมาจากไหนมาจ่ายหนี้ ยอดขายไม่มี รายได้ลดฮวบฮาบ...ใครไม่ชักดาบออกมาสู้ก็ให้มันรู้ไป
 

แบงก์กรุงไทยประเมินไว้ชัดว่า ตอนนี้อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio : ICR) ซึ่งสะท้อนว่ากิจการมีกำไรจากการดำเนินงานเพียงพอที่จะจ่ายภาระดอกเบี้ยมากน้อยแค่ไหน พบว่า ลดลงจาก 3.62 เท่า ในปี 2562 มาอยู่ที่ 3.11 เท่า ในปี 2563 และจะใช้เวลาอย่างน้อย 3 ปี ถึงจะกลับไปสู่ระดับเดิม
 

ร้ายกว่านั้นกิจการที่มีกำไรจากการดำเนินงานไม่เพียงพอจ่ายดอกเบี้ย หรือมี ICR ต่ำกว่า 1 เท่า จะมีสัดส่วนมากถึง 28-30% ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า
 

ชุดข้อมูลในทางปฏิบัติของผมจึงดูจะแตกต่างกับที่ คุณรุ่ง มัลลิกะมาส ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร ธปท. ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า...
 

1. ลูกหนี้เอสเอ็มอีที่เลือกขอรับความช่วยเหลือตามมาตรการพักหนี้มี 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท จากยอดสินเชื่อทุกกลุ่มทั้งรายย่อยและบัตรเครดิตที่เข้าโครงการพักหนี้ทั้หมด 6.89 ล้านล้านบาท
 

2. ธปท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และคาดว่าจะไม่เกิดปัญหาผิดนัดชำระหนี้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว (cliff effect) หลังมาตรการพักหนี้ครบกำหนด เนื่องจาก....
 

ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่เข้ามาตรการวงเงินราว 4 แสนล้านบาท ได้รับการขยายระยะเวลาการพักหนี้ไปอีก 3-6 เดือนแล้ว ส่วนลูกหนี้ของธนาคารพาณิชย์อีกราว 9.5 แสนล้านบาท ธนาคารพาณิชย์แจ้งว่าลูกหนี้ส่วนใหญ่แสดงเจตจำนงว่าจะจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติหลังหมดมาตรการพักหนี้
 

กรณีที่ลูกหนี้รายใดที่ยังไม่สามารถกลับมาจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติ หรือจ่ายได้บางส่วน ธนาคารพาณิชย์จะให้ความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นมากพอที่จะชำระหนี้ได้
 

คุณรุ่งบอกว่า ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งได้จัดเตรียมหลายมาตรการมารองรับไว้แล้ว เช่น การปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้แต่ละรายเพื่อไม่ให้กลายเป็น NPL รวมถึงการลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล การพักชำระค่างวด การปรับปรุงโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้รายย่อยด้วยวิธีการรวมหนี้ และการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย เป็นต้น
 

คุณรุ่งเธอบอกว่า ในจำนวนหนี้ 1.05 ล้านบัญชี เป็นยอดหนี้ 1.35 ล้านล้านบาท มีลูกหนี้เพียง 6% ของยอดสินเชื่อที่ได้รับการพักหนี้ที่ยังอยู่ระหว่างการติดต่อของธนาคารพาณิชย์หรือยังติดต่อไม่ได้
 

ผมดีด “ลูกคิดรางแก้ว” แบบเร็วๆ ก็พบว่า ยังมีลูกหนี้ราว 81,000 ล้านบาท ที่แบงก์ติดต่อไม่ได้หรือขาดการติดต่อ ไม่ต้องแปลก็บอกได้ว่ากลุ่มนี้ “นอนสลบไสล” อยู่ในห้องไอซียู และถ้าแบงก์เจ้าหนี้ติดต่อไม่ได้ หมายถึงว่ากลุ่มนี้เป็นหนี้เสียไปแล้วเจ้าค่ะ!

คุณรุ่งเธอให้ข้อมูลว่า ผลจากการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ การฟื้นตัวของธุรกิจในแต่ละสาขาไม่เท่ากัน กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม เครื่องใช้ไฟฟ้า และการค้า ฟื้นตัวกลับเข้าใกล้ระดับเดียวกับช่วงก่อนโควิด 19 แล้ว มีแต่ธุรกิจที่เกี่ยวพันกับการท่องเที่ยวยังพื้นตัวช้า โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมที่ฟื้นตัวแค่ 26% แบงก์ชาติจึงปรับมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้จากการให้สถาบันการเงินช่วยเหลือเป็นการทั่วไป มาเป็นการช่วยเหลือเชิงรุกและตรงจุดกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย  หากยังคงดำเนินมาตรการพักหนี้เป็นการทั่วไปต่อไป อาจส่งผลกระทบทางลบในระยะยาวได้เนื่องจาก
 

1. ลูกหนี้ที่พักหนี้อยู่จะยังคงมีภาระดอกเบี้ยในแต่ละเดือนตลอดช่วงการพักหนี้ ซึ่งเป็นภาระแก่ลูกหนี้ในระยะยาว
 

2.ไม่ส่งเสริมให้เกิดวินัยทางการเงิน (moral hazard) เพราะลูกหนี้ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือได้รับผลกระทบไม่มาก อาจอาศัยเป็นช่องทางเพื่อประวิงเวลาการชำระหนี้
 

3.ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินเพราะการพักหนี้เป็นการทั่วไปเป็นระยะเวลานาน คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องในระบบจากการชำระคืนหนี้และดอกเบี้ยหายไปประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี
 

ยังโชคดีที่ธปท. ได้ออกประกาศให้สถาบันการเงินคงสถานการณ์จัดชั้นลูกหนี้ยาวออกไปถึงสิ้นปี 2563 สำหรับลูกหนี้ที่อยู่ระหว่างเจรจาปรับเงื่อนไขการชำระหนี้ เพื่อช่วยไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็น NPL เพื่อเป็นการเพิ่มแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งดำเนินการปรับเงื่อนไขการชำระหนี้แบบรายบริษัทให้ยาวไปถึงมิถุนายน 2564 ....ปัญหาคือการเจรจากับลูกหนี้รายกรณีเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ให้ธุรกิจเดินไปได้จะบรรลุผลแค่ไหน
 

คราวนี้มาดูข้อมูลที่ผมได้รับมาจากสถาบันการเงิน และลูกหนี้กันบ้าง
 

1.ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทางการเงินผ่านโครงการพักหนี้ ลดดอกเบี้ย ขยายเวลาการชำระหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้ ลดค่างวดการผ่อนออกไป มีอยู่ราว 7.2 ล้านล้านบาท คิดเป็น 12.89 ล้านบัญชี
 

2.ระยะเวลาที่ผ่านมาแม้จะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้รายย่อยและลูกหนี้ธุรกิจ ทั้งการเลื่อนพักชำระหนี้ การลดภาระผ่อนชำระต่อเดือน ขยายระยะเวลาชำระหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ย แต่มีเกินกว่า 70% ยังจ่ายหนี้ไม่ได้ แทบทุกรายต่างบอกว่ารายได้ลดลงกว่าเดิมราว 50% เงินที่มีไม่พอรายจ่าย ตอนนี้จำเป็นต้องนำรายได้ไปจ่ายเงินเดือนพนักงานก่อน เพื่อพยุงชีวิต เรื่องจ่ายหนี้ขอพักไว้ชั่วคราว
 

3.มูลหนี้ของกลุ่มเอสเอ็มอีที่พากันผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน  ที่เรียกกันว่าหนี้ที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษตอนนี้ทะลักขึ้นไปกว่า 750,000 ล้านบาทแล้ว  ส่วนหนี้เสียที่เป็นเอ็นพีแอล ตามมาตรฐานบัญชีใหม่หรือหนี้ที่ผิดนัดชำระเกิน 3 เดือนไปแล้วของเอสเอ็มอี ตอนนี้มีอยู่กว่า  370,000 ล้านบาท สองกลุ่มนี้ปาเข้าไป 1.12 ล้านล้านบาทเข้าไปแล้ว
 

4.สินเชื่อเอสเอ็มอีที่เป็นหนี้เสียคือค้างชำระ 3 เดือนเกือบทั้งหมดนั้น แบงก์พากันไปจับมือกับบสย.เพื่อช่วยประกันสินเชื่อเพื่อพยุงมิให้เป็นหนี้เสียได้แค่ 50,000 ล้านบาท และขอให้ค้ำประกันหนี้ที่ผิดนัดชำระตั้งแต่ 1-3 เดือน ได้อีกราว 250,000 ล้านบาท สิริรวมแค่ 300,000 ล้านบาท จากหนี้เอสเอ็มอีทั้งสิ้นกว่า 2.25 ล้านล้านบาท
 

มันกำลังบอกอะไรเรานะหรือครับ มันบอกว่ากลุ่มที่เหลือซึ่งไม่ได้ประกันสินเชื่อ มีความสุ่มเสี่ยงเป็นหนี้เสียมากกว่าดีหนี้เป็นร้อยเท่านะขอรับเจ้านาย
 

5.ตอนนี้สถาบันการเงินหลายรายแจ้งไปยังลูกหนี้ที่เข้าโครงการพักหนี้กันแล้วเกือบทุกราย เขาแจ้งว่า นับตั้งแต่สิ้นเดือนตุลาคมเป็นต้นไป ขอให้ลูกหนี้ชำระหนี้ตามเงือนไขที่ตกลงกันไว้ตามปกติ
 

ปัญหาที่ต้องการคำตอบคือ ลูกหนี้กลุ่มนี้จะหารายได้มาจากไหนเพื่อนำมาชำระหนี้ เพราะใครๆ ก็มีรายได้ที่ลดลงแทบทั้งสิ้น ผมถึงบอกว่าฤดูกาล”ไม่หนี-ไม่มี-ไม่จ่าย”จะเบ่งบานทะลักพอๆ กับ “แฟลชม็อบ” ของเยาวชน และยิ่งปล่อยยาวออกไปปัญหาจะเกิดขึ้นมาดั่งดอกเห็ด เพราะกว่าที่เศรษฐกิจจะฟื้นต้องใช้เวลาร่วม 2 ปี
 

สถานการณ์ตอนนี้เป็นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ปกติ การใช้มาตรการแบบปกติ ที่ยึดหลักการของมาตรฐานระดับโลก ใช้ไม่ด้กับ “การช็อค” ของระบบเศรษฐกิจ การค้าและพฤติกรรมของคนที่แปรเปลี่ยนไป
 

“เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ” ผู้ว่าการแบงก์ชาติ “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คลัง ต้องกล้าที่จะคิดนอกกรอบ เพื่อยืดเวลาให้คนตัวเล็กได้ปรับตัว มีลมหายใจต่อไป
 

ไม่เช่นนั้นพังกันเป็นดอกเห็ดแน่ เชื่อหัวผมเถอะครับ!