Futures Literacy

21 ต.ค. 2563 | 04:20 น.

Futures Literacy : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย...ผศ.ดร.วรประภา นาควัชระ ผู้ช่วยอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,620 หน้า 5 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม 2563

 

Futures Literacy คืออะไร?

 

Futures Literacy คือทักษะในการใช้จินตนาการ (Imagination) เพื่อการคาดการณ์ (Anticipate) โลกอนาคตที่สามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายแบบ (Futures ถึงมี s) โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับกรอบเดิม หรือสิ่งที่เคยเกิดขึ้นแล้วในอดีต

 

ที่ผ่านมาเราอาจคาดการณ์อนาคตด้วยการใช้ข้อมูลในอดีตร่วมกับข้อมูลปัจจุบัน (Forecasting หรือ Nowcasting) แต่จริงๆ แล้วอนาคตมีเรื่องที่เป็น Unknown อยู่อีกหลายอย่าง (ซึ่งไม่รู้ว่าคืออะไร เพราะมันยังไม่เกิด) การมองอนาคตจึงต้องจินตนาการ Unknown เหล่านี้เข้าไปใน Scenarios ต่างๆ ด้วย

 

เมื่อมองอนาคตที่หลากหลายนี้ได้แล้ว ก็จะสามารถนำเอาสิ่งนี้มาใช้ประโยชน์ในปัจจุบัน (using-the-future) เช่น เมื่อเห็นได้ว่าอนาคตเกิดขึ้นได้หลาย Scenarios การวางแผนเตรียมความพร้อมอาจต้องทำแบบ Diversified Portfolio คือมองความเป็นไปได้ว่าอะไรจะเกิดบ้าง และกระจายความเสี่ยงออกไปตามสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ รวมถึง Unknown ที่นึกไม่ถึงด้วย

 

 

Futures Literacy

 

 

ใครเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดนี้?

 

UNESCO (United Nations Educational Scientific and Cultural Organization) เป็นองค์กรที่สนับสนุนการสร้างทักษะด้านนี้ โดยมี Reil Miller ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการคิดคาดการณ์อนาคต (Futures Thinking) เป็นผู้ริเริ่มและบริหารโครงการ Futures Literacy อยู่ที่ UNESCO

 

โดยปัจจุบัน UNESCO กำลังพยายามสร้างเครือข่ายนานาชาติสำหรับโครงการ Futures Literacy นี้ ในหลายประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้ง Futures Literacy Lab ซึ่งจะเป็นที่จัดกิจกรรมเพื่อฝึกทักษะนี้ให้ กับคนในพื้นที่

 

 

 

ทำอย่างไรจึงจะมีทักษะนี้? (Becoming Futures Literate)

 

ปกติมนุษย์หลายคนจะคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากสิ่งที่เคยรู้จัก เช่น สร้างรถที่เร็วขึ้น, สร้าง CPU ที่ capacity เพิ่มขึ้นแต่ขนาดเล็กลง, etc. หรือคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่จากของเดิมที่รู้จักเอามาประกอบกัน เช่น เอา AI มาประกอบกับรถยนต์ ให้ได้ Self-Driving Car

 

จะสร้างทักษะ Futures Literacy นี้ได้ต้องหัดคิดนอกกรอบที่เคยมีอยู่ มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ยึดติดกับวิธีเดิมๆ ไม่ยึดติดกับเฉพาะสิ่งที่เคยเห็นหรือสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ต้องเปิดใจให้กว้างว่าสิ่งที่ไม่เคยเห็นไม่คุ้นเคย ก็สามารถเกิดขึ้นได้ ลองหัดจินตนาการสิ่งที่ไม่เคยเห็น หัดทดลองสิ่งใหม่ๆ

 

 

 

ในโลกที่มีความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความซับซ้อน (Complexity) และความคลุมเครือ (Ambiguity)  การทำธุรกิจหรือการใช้ชีวิตควรจะต้องมีการวางแผนเตรียมความพร้อม โดยทักษะ Futures Literacy จะช่วยให้เรามองให้เห็นถึงความเป็นไปได้หลายๆ อย่างที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงพร้อมรับกับ Unknown ต่างๆ ที่วันนี้อาจจะยังไม่มีชื่อเรียก เพราะยังไม่รู้จัก เมื่ออนาคตมาถึงจะได้พร้อมรับ ไม่ตกใจ หรือสามารถปรับตัวได้ทัน

 

ปรากฏการณ์ Covid-19 เป็นตัวอย่างให้เห็นแล้วว่า สิ่งที่เราไม่เคยเจอมาก่อน อยู่ๆ ก็เกิดขึ้นได้ และมีผลกระทบกับทุกคนบนโลกนี้และเปลี่ยนโลกนี้ไปในพริบตา 

 

References:

https://en.unesco.org/themes/futures-literacy UNESCO (2018), Transforming the Future: Anticipation in the 21st Century