ทางออกประเทศ เริ่มต้นจากไม่ลาก ไปสู่ความรุนแรง

21 ต.ค. 2563 | 04:15 น.

ทางออกประเทศ เริ่มต้นจากไม่ลาก ไปสู่ความรุนแรง, คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย  จีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,620 หน้า 10 วันที่ 22 - 24 ตุลาคม 2563

 

สถานการณ์ช่วงนี้ต้องเรียนแจ้งเตือนท่านผู้อ่านว่า ให้เสพข่าวสารด้วยความมีมติ ไตร่ตรองให้รอบคอบรอบด้าน ชั่งนํ้าหนักของสังคมให้ดี เพราะ “สื่อ” คำเดียวสั้นๆ แต่หมายความถึง สื่อที่มีความเป็นมืออาชีพ กับ คนที่อาศัยอาชีพสื่อ ทำมาหากิน ในสิ่งที่เรียกว่าข่าว ยิ่งในยุคที่ใครๆ ก็อ้างตัวว่าเป็นสื่อมวลชนได้ เพียงสมัครอีเมล เปิดเฟซบุ๊กเปิดแฟนเพจ ยูทูบ ลิงค์เข้าเลขบัญชีของตัวเอง หรืออาจจะใช้ทวิตเตอร์ปั่นกระแส นำเสนออะไรก็ได้ให้เป็นข่าวที่ตัวเองอยากให้เป็น 

 

เพื่อยอดไลค์ ยอดวิว ยอดแชร์ ตามเกณฑ์ที่แพลตฟอร์มจะจ่ายเงินให้ นั่นหมายถึงนำเสนออะไรก็ได้ ก็เรียกว่าเป็นสื่อมวลชนแล้ว แบบนั้นใช่หรือไม่? ท่านผู้อ่านลองตั้งคำถามแล้วต้องไตร่ตรองให้ดี

 

ผมมีโอกาสพบปะหารือกับเพื่อนพี่น้องในวงการสื่อด้วยกัน ทั้งสื่อในประเทศและสื่อต่างประเทศในสถานการณ์แบบนี้ แน่นอนครับว่า มีความเห็นต่าง แย้งกัน เป็นเรื่องปกติ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับแตกแยกหํ้าหั่นกันเอาเป็นเอาตาย ผลักเพื่อนไปอยู่ฝ่ายไหนเพียงแค่เห็นต่างทางความคิดเห็นบางจุดบางมุม สุดท้ายเราเห็นตรงกันว่า ไม่อยากให้สังคมที่ขัดแย้งมีปลายทางที่ขัดแย้งกันสูงถึงขั้นนองเลือด ซึ่งมีบทเรียนในอดีตมากมายให้เราได้นำมาเตือนใจ 

 

 

ทางออกประเทศ เริ่มต้นจากไม่ลาก ไปสู่ความรุนแรง

 

 

กำลังนั่งเขียนอยู่ จู่ๆ ก็มีแถลงการณ์องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน จำนวน 6 องค์กร ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง การตรวจสอบ-ระงับสื่อมวลชนในการสถานการณ์การชุมนุมที่มีความละเอียดอ่อน

 

 

 

เนื้อหาเขียนถึง กรณีที่มีคำสั่งหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง ให้กสทช. และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตรวจสอบและให้ระงับการออกอากาศหรือระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์แล้วแต่กรณีตามหน้าที่และอำนาจของสื่อมวลชน อันประกอบด้วยสื่อ 4 สำนัก กับอีก 1 เพจ ของฝ่ายผู้ชุมนุม

 

แถลงการณ์นี้มีทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย หนึ่งในนั้นคือการยืนยันจุดยืนคัดค้านการปิดกั้นหรือคุกคามสื่อมวลชนในทุกรูปแบบไม่ว่าจากฝ่ายใด  

 

และในแถลงการณ์ ยังส่งสัญญาณเตือนไปถึงรัฐด้วยว่า “การปิดกั้นสื่อในลักษณะนี้ ย่อมเป็นความพยายามในการปิดกั้นสิทธิการรับรู้ข่าวสารของประชาชน จึงอาจทำให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการปิดกั้นสื่อดังกล่าว ออกมาเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ชุมนุมมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้สถานการณ์มีความซับซ้อน ละเอียดอ่อนและอาจนำไปสู่ความรุนแรงได้”

 

 

 

แต่ข้อสุดท้าย เขียนว่า “องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่เห็นด้วยกับการอาศัยความเป็นสื่อมวลชนบิดเบือนข้อเท็จจริงและยั่วยุให้เกิดความเกลียดชัง ยุยงให้มีการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ รวมทั้งกระทำการใดๆ ที่ละเมิดกฎหมายบ้านเมือง และขอเรียกร้องให้สื่อมวลชนทุกแขนง ทำหน้าที่รายงานข่าวสารที่เกิดขึ้นในขณะนี้ด้วยความครบถ้วนรอบด้าน โดยนำเสนอความจริงและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นด้วยการคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ภายใต้ความรับผิดชอบต่อสังคม รวมทั้งระมัดระวังการนำเสนอข่าวที่อาจนำไปสู่การใช้ความรุนแรงในการยุติปัญหา”

 

นั่นแหละครับ ข้อสุดท้ายที่อยากจะขีดเส้นหนาๆ ว่าหน้าที่สื่อมวลชนในยามที่ความขัดแย้งสูง ที่อาจจะมีคนที่ไม่ได้มืออาชีพ ตีมูลค่ามวลชนแต่ละฝ่ายเป็นเพียงยอดวิว ยอดไลค์ ยอดแชร์แล้วมีเงินโอนเข้าบัญชีของตัวเอง แบบนี้สังคมเองก็ต้องช่วยกันตรวจสอบว่า ท่านต้องการ Peace journalism (สื่อสันติภาพ) หรือ War journalism (สื่อที่สร้างสงคราม)