อินเดียบุกหนัก ผลักดัน “ฮับยานยนต์ไฟฟ้า” ครบวงจร

19 ต.ค. 2563 | 22:06 น.

คอลัมน์ ชี้ช่องจากทีมทูต

โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์

กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน

- - - - - - - -

 

อินเดีย นับเป็นอีกหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับปัญหา มลพิษทางอากาศเรื้อรัง มาเป็นเวลานาน โดยข้อมูลจาก Union of Concerned Scientist ระบุว่า เมื่อปี 2561 อินเดียมีอัตราการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศจีน และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอากาศแย่ที่สุดในโลก

อินเดียบุกหนัก ผลักดัน “ฮับยานยนต์ไฟฟ้า” ครบวงจร

องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีคนมากกว่า 7 ล้านคนในอินเดียเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคหัวใจ มะเร็ง และโรคติดเชื้อเฉียบพลัน ที่มีสาเหตุมาจากมลพิษของ ‘ยานพาหนะ’  อินเดียจึงแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการผลักดันนโยบายเลิกใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลแบบดั้งเดิม แล้วหันมาใช้พลังงานทดแทน เช่น การใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) โดยอินเดียจะเริ่มต้นจากการเปิดตัวรถโดยสารประจำทางและรถตุ๊กตุ๊กพลังงานไฟฟ้ารวมกว่า 100,000 คัน ซึ่งจะนำร่องวิ่งในนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศเป็นที่แรก

 

NITI Aayog สถาบันคลังสมองของรัฐบาลอินเดีย และสถาบัน Rocky Mountain Institute กล่าวว่า หากอินเดียใช้รถพลังงานสะอาดได้ภายในปี 2573 จะสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ได้ถึง 33 - 35% จากระดับเมื่อปี 2548 ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลอินเดียจึงได้หันมาสนับสนุนให้อินเดียใช้รถ EV ให้มากขึ้นด้วยการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่เอื้อต่อการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภคหันมาใช้รถยนต์ EV แทนที่รถยนต์พลังงานเชื้อเพลิงแบบเดิมโดยรัฐบาลอินเดียได้ประกาศ นโยบาย Faster Adoption and Manufacturing of Electric Vehicles in India ระยะที่ 2 (FAME II) ซึ่งรัฐบาลจะสร้างสถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า จำนวน 2,635 สถานีใน 62 เมืองทั่วอินเดีย ลดภาษี GST และค่าจดทะเบียน ซึ่งจะสามารถช่วยลดหย่อนค่าใช้จ่ายให้แก่ผู้ชื้อถึง 30 - 35% พร้อมสนับสนุนเงินทุนกว่า 1 แสนล้านรูปีอินเดีย เพื่อลดราคาขายของรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ ยังส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะหรือการใช้ยานพาหนะร่วมกัน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เกียวโต: เมืองแห่งบริษัท Venture (ตอนแรก)

โอกาสทางการค้าในเวียดนาม ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19

ส่องยุทธศาสตร์ Farm to Fork ของอียู สู่เทรนด์อาหาร ‘คลีน’ และ ‘กรีน’

ผัก-ผลไม้ไทยไปโลด! ชี้ช่องบุกบาห์เรน-ตลาดอ่าวเปอร์เซีย

 

รัฐบาลอินเดียมีเป้าหมายจะส่งเสริมเรื่องการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าให้ได้ถึง 30% ภายในปี 2573 และเชื่อว่า หลังจากปี 2573 จะมีเพียงรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้นที่มีขายในประเทศ

อินเดียบุกหนัก ผลักดัน “ฮับยานยนต์ไฟฟ้า” ครบวงจร

นอกจากนั้น รัฐบาลอินเดียยังได้กำหนด แผนส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าระดับชาติปี 2563 (National Electric Mobility Mission Plan 2020) ด้วยการให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษีแก่ผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและยานยนต์ไฮบริด ซึ่งนโยบายดังกล่าวได้ทำให้ปัจจุบันมีบริษัทรถยนต์ชั้นนำของโลกหลายแห่งเข้ามาตั้งฐานการผลิตในอินเดีย ไม่ว่าจะเป็น Suzuki Toyota Honda Hyundai BMW และ Ford ตลอดจนบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่อย่าง Tesla จากสหรัฐ Mercedes-Benz จากเยอรมนี และ Nissan จากญี่ปุ่น

 

การเข้ามาลงทุนของบริษัทต่างชาติพร้อมด้วยการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าอย่างจริงจังของรัฐบาล ทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียเติบโตอย่างก้าวกระโดด จนอินเดียกลายเป็นฐานการผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

โดยจากข้อมูลขององค์การผู้ผลิตยานยนต์นานาชาติ (Organisation Internationale des Constructeurs d’Automobiles : OICA) พบว่า ในปี 2562 อินเดียมีปริมาณการผลิตรถยนต์ ทั้งรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถยนต์เชิงพาณิชย์รวมกันราว 4.51 ล้านคัน  ส่งผลให้อินเดียก้าวขึ้นมาเป็นฐานการผลิตยานยนต์อันดับ 5 ของโลก จากที่เคยอยู่อันดับ 10 ในปี 2550  แซงหน้าทั้งเกาหลีใต้ บราซิล และฝรั่งเศส ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำของโลก ขณะที่ปริมาณการส่งออกรถยนต์ของอินเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 5 แสนคันในปี 2554 เป็น 9 แสนคันในปี 2560 หรือคิดเป็นอัตราการขยายตัวเฉลี่ยราว 10% ต่อปี        

อย่างไรก็ดี ความนิยมในยานยนต์ไฟฟ้าของกลุ่มผู้บริโภค (Value-conscious consumer) ยังจำกัด เนื่องจากราคายานยนต์ไฟฟ้ามีราคาสูงกว่าราคายานยนต์ทั่วไปเกือบ 2.5 เท่า และมีรูปแบบไม่หลากหลาย ประกอบกับสิ่งอำนวยความสะดวกในการรองรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็ยังไม่พร้อมนัก เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าสำหรับรถ EV ในอินเดียยังมีจำนวนไม่มาก แต่ถึงกระนั้น มีการคาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียจะสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และเป็นอีกหนึ่งตลาดยานยนต์ที่มีศักยภาพและใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

 

อินเดียนับเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยทั้งในมิติด้านการค้าและการลงทุน เนื่องจากไทยถือเป็นหนึ่งในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์โลก การเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในอินเดียดังกล่าวจึงถือเป็นโอกาสสำหรับผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย เนื่องจากอินเดียยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้าแบตเตอรี่และชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศอยู่เสมอ นอกจากนั้น  อินเดียยังมีมาตรการที่ส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ ถือเป็นโอกาสทองสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีศักยภาพในการเข้าไปลงทุนผลิตหรือส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ให้กับค่ายรถยนต์ในอินเดีย หรือใช้อินเดียเป็นฐานการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศที่สาม ซึ่งจะช่วยขยายตลาดและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันต่อไป

 

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]