เศรษฐกิจโควิด : ปัญหาโครงสร้างหรือตัวนโยบาย

18 ต.ค. 2563 | 02:25 น.

ผมฟังอดีตผู้ว่าแบงค์ชาติ ดร.วิรไท สันติประภพ ที่เพิ่งเดินออกจากวังบางขุนพรหมและปาฐกถาส่งท้ายตำแหน่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ต้องยอมรับว่าถูกใจผมมาก โดยเฉพาะประเด็นปัญหาและความยากของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศไทย เพราะปัญหาของเศรษฐกิจไทยวันนี้เป็นปัญหาที่โครงสร้างทั้งระดับมหภาคและจุลภาคที่ผูกกันอย่างเหนียวแน่น

ผมว่าวันนี้เศรษฐกิจไทยเหมือน “ผัดไทย” แต่ใช้เส้นหมี่เล็ก ๆ ผัดแทนเส้นก๋วยเตี๋ยวนะครับ สิ่งที่ออกมาก็คือ เส้นหมี่เล็ก ๆ พันกันไปมั่วหมดทั้งจาน เทียบแล้ว ผมว่าแต่ละเส้นก็คือแต่ละปัญหาที่เรามีอยู่ แถมพันกันอีรุงตุงนัง แกะอันหนึ่งวุ่นกับอีกอันหนึ่ง 

และในวันนี้เรายังเห็นว่าแต่ละเส้นเปราะบางอีกต่างหาก ดังนั้น หากคิดว่าจะแก้ไขเรื่องใดเรื่องหนึ่ง หนีไม่พ้นที่ต้องทำอะไรมากมายและวุ่นวายกับส่วนอื่น ๆ และต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง และใช้เวลา ประเภทจะใช้มาตรการใดมาตรการหนึ่งให้ผลทันใจบรรดาแฟน ๆ ล่ะก็ เลิกหวังได้เลยครับ ... ยิ่งยุคโควิดระบาดที่ทำท่าจะมา รอบสอง ผมว่าแค่ประคองให้รอด มีลมหายใจต่อไปอีกสักหน่อยก็บุญเหลือหลายละครับ

ประโยชน์อย่างหนึ่งของการระบาดของโควิด ก็คือการทำให้ปัญหาในโครงสร้างเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น ปัญหาที่อดีตผู้ว่าแบงค์ชาติแยกแยะออกมานั้น คือ ปัญหาด้านความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ ปัญหาภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงต่ำ และความเหลี่ยมล้ำทางเศรษฐกิจสูง เรียกง่าย ๆ ว่า “สองต่ำ หนึ่งสูง” ซึ่งคนที่เกี่ยวข้องในด้านเศรษฐกิจรู้ปัญหานี้ของประเทศไทยมานาน แต่วิกฤติโควิดครั้งนี้ทำให้เราเห็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของเราได้ชัดเจนมากกว่าครั้งไหน ๆ 

หากถามผมว่า เมื่อรู้กันมานานแล้ว ทำไมคนที่มีหน้าที่ไม่รีบแก้ไข ผมว่าทุกคนที่มีหน้าที่ก็ทำกันมาโดยตลอด เพียงแต่ไม่มี “สุด” และครบถ้วน เพราะปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่ซับซ้อน ทั้งใน “ระดับมหภาคและจุลภาค” มีผู้เกี่ยวข้องมาก

ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และลงไปถึงฐานรากของระบบเศรษฐกิจ ซึ่งทุกเรื่องพันกันชุลมุนและไม่ใช่เฉพาะประเด็นเศรษฐกิจเท่านั้น ยังมีหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ยังไม่พอจุดยืนในเรื่องผลประโยชน์ต่างกันอีกต่างหาก ทำให้ทุกปัญหา ทุกเรื่องต้องใช้เวลานานในการแก้ไข ทำให้นโยบายของรัฐที่มาจากนักการเมืองส่วนมากมักไม่ค่อยทุ่มเทกับเรื่องแก้ปัญหาโครงสร้างมากนัก งบประมาณส่วนใหญ่จะเทลงไปในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ปัญหาระยะสั้น ๆ โดยเฉพาะพวกโครงการประเภท “สามเดือนเห็นหน้า หกเดือนเห็นหลัง”

อันที่จริง จะโทษนักการเมืองอย่างเดียวก็ไม่ถูกนักที่ละเลยปัญหาโครงสร้างระยะยาว อาจต้องโทษสื่อมวลชนที่มักกดดันหาข่าวรายวันที่ตื่นเต้น ความก้าวหน้ารายสัปดาห์ รายเดือน และคนไทยที่มีคะแนนเลือกตั้งในมือ เวลาใช้คะแนนนั้นตอนเลือกตั้งก็ใช้แบบไม่ให้ราคากับนักการเมืองในการแก้ปัญหาระยะยาว

ซึ่งแน่นอนนักเลือกตั้งก็ต้องมองแต่เรื่องสั้น ๆ เรื่องชัด ๆ ทำให้การแก้ไขปัญหาระยะยาวอยู่ในมือของนักวิชาการ ข้าราชการบางกลุ่ม และภาคเอกชนที่มองการณ์ไกลเท่านั้น ทำให้คนบางกลุ่ม ธุรกิจบางราย มีความพร้อมและความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น ยิ่งทำเท่าไหร่ปัญหาในภาพรวมยิ่งซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะความเหลี่ยมล้ำ ส่งผลต่อประสิทธิภาพของนโยบายมหภาคต่าง ๆ ของรัฐได้น้อยมาก

ยิ่งในยุคที่สภาพแวดล้อมธุรกิจเปลี่ยนไปและความก้าวหน้าเทคโนโลยีที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว มาตรการของรัฐยิ่งต้องมีการออกแบบให้ดี ๆ ไม่งั้นจะมีประสิทธิผลน้อย จะใช้มาตรการแบบเดิม ๆ ยากขึ้น ผมยกตัวอย่าง มาตรการแจกเงินให้กับประชาชนในช่วงโควิดโดยเฉพาะในกลุ่มฐานราก ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อน เราหวังว่าเมื่อเงินลงถึงมือประชาชนที่มีรายได้น้อยแล้วก็จะใช้มาก ไม่ออม

และยิ่งอยู่ในพื้นที่ไกล ๆ แล้วก็จะใช้ซื้อของในหมู่บ้าน จากนั้นพ่อค้าก็จะไปซื้อของต่อในตำบล ในอำเภอ ในมือง หวังว่าเงินจะหมุนไป หมุนไป หลายรอบกว่าจะจบที่มือสุดท้ายคือผู้ผลิตรายใหญ่ ซึ่งการหมุนหลายรอบของเงิน ก็จะสร้างงาน สร้างรายได้ต่อเนื่องให้ระบบเศรษฐกิจในทุกระดับตั้งแต่ฐานรากขึ้นมา

แต่วันนี้โครงสร้างธุรกิจเปลี่ยนไป ทุกวันนี้เราจะเห็นร้านสะดวกซื้อ รายสาขาของบริษัทยักษ์ใหญ่ อยู่ในเกือบทุกชุมชน เข้าถึงสะดวก มีของครบ ถ้าจะเปรียบก็เหมือนมีท่อขนาดใหญ่จากฐานบนสุดของเศรษฐกิจลงไปดูดเงินจากฐานราก ไม่ให้โอกาสเงินผ่านระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นสักรอบสองรอบ ส่งผลทำให้มาตรการที่รัฐพยายามสร้างงาน สร้างรายได้ในท้องถิ่นผ่านมาตรการแจกเงินเหล่านี้ ไม่ได้ผลมากอย่างที่หวัง .... ผมเข้าใจว่านักการเมืองฝ่ายค้านชอบเอามาค่อนแคะว่า มาตรการแจกเงินคนจน ก็เป็นการช่วยเหลือเจ้าสัว หรือช่วยเจ้าสัวผ่านคนจน ฯลฯ ....

สำหรับผมแล้ว ไม่ว่าจะช้าจะเร็ว เงินก้อนนี้ที่รัฐใส่เข้าไปในระบบช่วงโควิดก็จะไหลไปสู่ส่วนสูงสุดหรือคนที่แข็งแกร่งที่สุดทางเศรษฐกิจอยู่แล้ว เพียงแต่ยุคนี้ระบบธุรกิจแบบใหม่ทำให้โอกาสที่เงินที่รัฐใส่เข้าไปแบบยัดใส่มือผู้คนนั้นมีโอกาสจำนวนรอบในการหมุนในระบบเศรษฐกิจมีน้อยและยิ่งในระดับท้องถิ่นยิ่งไม่ต้องพูดถึง ทำให้ช่วงหลัง ๆ มาตรการแจกเงินต้องระบุการใช้จ่ายเฉพาะร้านท้องถิ่นเท่านั้น เพื่อให้เงินหมุนในท้องถิ่นหลาย ๆ รอบ ... แต่อย่างไร ตอนจบก็เหมือนกัน เข้าไปที่จุดสูงสุดของยอดปิระมิดของระบบเศรษฐกิจอยู่ดี แต่คราวนี้ ตัวคูณประสิทธิภาพนโยบายต่อเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น

ในปัจจุบัน ระบบการค้าออนไลน์ ในระดับจุลภาคถือว่าเป็นสิ่งที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัว และเปิดโอกาสการเข้าสู่ตลาดได้ง่าย สะดวกและรวดเร็ว แต่ในระดับมหภาคแล้วทำให้มาตรการทางการคลังที่รัฐพยายามช่วยคนรายได้น้อยและสร้างตัวคูณทางนโยบายเศรษฐกิจจะมีน้อยลง และยิ่งสั่งซื้อออนไลน์จากต่างประเทศด้วยแล้ว ตัวคูณหรือประสิทธิภาพของมาตรการทางเศรษฐกิจยิ่งน้อยลงไปอีกด้วย

แต่อีกด้านหนึ่ง ในระดับจุลภาคนั้น หากผู้ประกอบการยังไม่ปรับตัวก็ยิ่งทำให้โอกาสการอยู่รอดของตัวเองยิ่งเลวร้ายลงไปอีก ยิ่งธุรกิจหรือวิสาหกิจรายเล็ก ๆ ที่ไม่สามารถปรับตัวได้แล้ว ยิ่งทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้นอีก เงินทุนและความช่วยเหลือของรัฐถมเท่าไรก็ไม่พอ ประสิทธิภาพนโยบายมหภาคก็ไม่ทำงาน หากระดับจุลภาคไม่มีการปรับตัว และยิ่งได้ยินว่า ส่วนมากธุรกิจขนาดเล็กที่มักบอกว่าปรับตัวไม่เก่งยิ่งไปกันใหญ่ ทั้งที่ ความเล็กของขนาดธุรกิจน่าจะช่วยให้ปรับตัวได้ไว เพียงแต่วันนี้การปรับตัวต้องการอย่างอื่นด้วย ทั้งเงินทุน ความรู้ และที่สำคัญคือวิญญาณของการเป็นผู้ประกอบการที่แท้จริง

โครงสร้างทางด้านสังคมและอื่น ๆ ยังส่งผลต่อปัญหาเศรษฐกิจ เช่น วันนี้ระบบมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารที่ต้องมีการตรวจสอบย้อนกลับทั้งระบบห่วงโซ่อุปทาน ยิ่งทำให้ผู้ประกอบการผลิตอาหารต้องลงทุนสูง ทั้งด้านการทดสอบ ระบบอนามัยและเครือข่ายที่มีมาตรฐานครบวงจร ส่งผลต่อรูปแบบธุรกิจที่มีการรวมตัวในแนวตั้ง (Vertical Integration) เป็นส่วนมาก

ธุรกิจขนาดเล็ก ที่จะเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานหรือเครือข่ายนั้นต้องมีความรู้ การลงทุนสูง ทำให้วิสาหกิจขนาดเล็ก ๆ หมดโอกาส ความแตกต่างและเหลื่อมล้ำจึงมีสูงขึ้น ทั้งหมดนี้ยังไม่นับกฏ ระเบียบต่าง ๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบันซึ่งทำให้ธุรกิจขนาดเล็กไม่สามารถต่อสู้อย่างแฟร์ ๆ ในเวทีการแข่งขันอิสระได้ เรื่องปลาใหญ่กินปลาเล็กยังคงเป็นสัจธรรม และเป็นตัวเหตุของปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจของเราเช่นกัน และวิกฤติโควิดก็ทำให้ปลาขนาดเล็กจำนวนมากได้หายไปจากทะเลธุรกิจบ้านเรา

เรื่องความรู้ เรื่องเงินทุนสำหรับวิสาหกิจขนาดเล็กนี้พูดกันไม่จบหรอกครับ ทุกวันนี้รัฐก็มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือจำนวนพอประมาณในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ โครงการสอน อบรม ช่วยเหลือก็มาก แต่ความเข้าใจ ความรู้ และความคาดหวังของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็กที่มีต่อรัฐนั้นต่างจากที่รัฐหวังและคิด ทุกคนอยากได้ทุนเพื่อต่อชีวิตธุรกิจในยุคโควิด แล้วจะทำไงต่อ หลายรายยังไม่รู้ หลายรายหวังว่าทุกอย่างจะดีขึ้น

หลายรายคิดว่าเป็นความรับผิดของรัฐในการดำรงชีวิตอยู่ต่อของพวกเขาหรือที่พวกเขามีภูมิคุ้มกันต่ำ และหลายรายมีแผนธุรกิจใหม่ตามวิถีชีวิตใหม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นกับความเข้าใจ ความรู้ ที่แตกต่างกันของผู้ประกอบการ และเราก็เข้าใจดีว่านี้คือปัญหาโครงสร้างอีกด้านหนึ่งในระดับจุลภาคที่ทำให้มาตรการเศรษฐกิจมหภาคของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยไม่เคยถูกใจธุรกิจในภาพรวม แต่หากจะถามว่า ช่วยคนหรือธุรกิจได้บ้างหรือไม่ ....

คำตอบคือ ช่วยได้ แต่เฉพาะรายที่พร้อม ... และการสร้างความพร้อมให้กับวิสาหกิจจำนวนมากที่ร้อยละ 99 เป็นขนาดย่อม ขนาดจิ๋ว ขนาดเล็กนี้ ที่ต้องใช้เวลา ใช้งบประมาณมาก เราต้องใช้รัฐบาลแบบไหนที่จะทุ่มเทและรอผลระยะยาว .... หรือที่ผ่านมา เรามีปัญหาโครงสร้างการเมืองกันแน่    

จากความโยงใยของโครงสร้างเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาคที่เรามีปัญหามาตลอดนั้น แม้ว่าจะต้องการเวลา กำลังมหาศาล รวมถึงงบประมาณจำนวนมากและมาตรการที่ต่อเนื่องนั้น ก็ต้องจำเป็นที่ต้องเริ่มเดินและเดินให้เร็วกว่าที่เป็นอยู่ และต้องตระหนักเสมอว่า เป็นความรับผิดชอบของทุกคน ทุกฝ่ายในระบบเศรษฐกิจ อาจต้องปฏิรูป กฏ ระเบียบให้เป็นธรรมและต้องแฟร์ และดูภาพรวมให้สอดคล้องกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างทำ หรือเฉพาะกลุ่ม

ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการปรับตัวในระดับจุลภาค ส่วนประชาชนและธุรกิจที่ถือว่าเป็นระดับจุลภาคก็ต้องปรับตัวเพื่อให้ตัวเองมีภูมิคุ้มกันในการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบที่จะมีมาทุกรูปแบบ โดยอาศัยสิ่งสนับสนุนที่รัฐมีมาให้เต็มที่ เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสอย่างเต็มศักยภาพของตนเอง ปัญหาโครงสร้างที่มีอยู่วันนี้ เพราะคนเมื่อวานไม่ทำ แต่วันนี้ ... เรา (คนวันนี้) คงต้องเริ่มทำ อาจไม่ใช่เพื่อเรา แต่แน่ ๆ สำหรับเพื่อคนวันพรุ่งนี้ ไม่เช่นนั้นเราคือต้นเหตุที่มาของความยุ่งยากของปัญหาโครงสร้างด้านต่าง ๆ ของลูกหลาน