ภารกิจช่วยคนตกงาน “รวมไทยได้จึงสร้างชาติได้”

17 ต.ค. 2563 | 03:00 น.

ภารกิจช่วยคนตกงาน “รวมไทยได้จึงสร้างชาติได้” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3619 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 18-21 ต.ค.2563 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าพิษสงของไวรัสวายร้ายโควิด-19 จะลากพาวิกฤติเศรษฐกิจ และชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในประเทศที่ต้องตกอยู่ในภาวะฝืดเคืองออกไปอย่างน้อย 1-2 ปี ก่อนที่เศรษฐกิจจะกลับมาเหมือนเดิม
 

สถานการณ์ที่ไม่เหมือนเดิมแบบนี้ มีการประเมินว่าภาคการท่องเที่ยวที่เคยสร้างรายได้เข้าประเทศปีละ 3.2 ล้านล้านบาท จะตกอยู่ในอาการเหงาหงอยซบเซา จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศคงไม่ทะลักเข้ามาเหมือนเดิมอีกต่อไป ขณะที่กำลังซื้อในประเทศไม่สามารถรองรับธุรกิจทั้งจำนวนห้องพัก พนักงาน ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่ของธุรกิจได้
 

ภาคเศรษฐกิจและผู้ประกอบการในประเทศหลายรายต่างตกอยู่ในภาวะ “รายได้พอประทังรายจ่าย” ขณะที่หลายล้านรายกำลังเผชิญต่อการสุ่มเสี่ยงเป็นหนี้เสีย ซึ่งนั่นหมายถึง เจ๊งบ๊งกำลังมาเยื่อนถึงถิ่น
 

สภาพัฒน์ประเมินว่าคนจะตกงานมากมาย 7-8 ล้านคน นิสิต นักศึกษาจบใหม่ที่เป็นอนาคตของชาติอาจหางานยากมากขึ้น
 

ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ทำนายทายทักให้บรรดามนุษย์เงินเดือนได้ตั้งสติกันว่า ผู้ที่เคยคิดว่าหน้าที่การงานในกิจการ ในบริษัท ที่ตัวเองทำงานประจำอยู่นั้น อาจจะไม่มั่นคง เป็นหลักประกันในชีวิตได้อีกต่อไป
 

โลกใหม่หลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม และจะรุกลามไปแทบทุกธุรกิจให้ต้องปรับลดขนาดและภารกิจงานที่เคยทำ
 

ภารกิจช่วยคนตกงาน “รวมไทยได้จึงสร้างชาติได้”

สัญญาณนี้ส่งไปถึงบรรดามนุษย์เงินเดือนที่ต้องจ่ายเงินสมทบเข้าสมาชิกประกันสังคม 16 ล้านคนเศษให้ได้ตั้งหลัก และมุ่งมั่นที่จะทำงานในหน้าที่ตัวเองให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากจะสร้างหลักประกันในชีวิตให้มั่นคงด้านรายได้
 

ถามว่ารัฐบาลรู้เรื่องนี้หรือไม่ ถ้าพิจารณามติของที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุนค่าจ้าง 50% แต่ไม่เกิน 7,500 บาท ให้กับภาครัฐและเอกชนที่รับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน โดยคิดอัตราเงินเดือน เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
 

ระดับปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท  ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท ระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2563 - 30 ก.ย.2564 โดยใช้งบประมาณราว 23,476 ล้านบาท
 

ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมมาตรการดังนี้ ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่เลิกจ้างลูกจ้างเดิมไม่เดินกว่า 15% ในช่วงเวลา 1 ปี
 

ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบจัดงาน Job Expo ซึ่งประมาณการว่าจะมีตำแหน่งงาน 1 ล้านตำแหน่งไว้รองรับประชาชน จัดทำแพลตฟอร์ม “ไทยมีงานทำ” เพื่อเป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ว่างงานของสถานประกอบการทั่วประเทศ
 

ผมเห็นว่า รัฐบาลกำลังเข้าใจโจทย์ของความเดือดร้อนได้ดี และกำลังหาวิธีประคองการจ้างงานในประเทศไว้ไม่ให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า หลังจาก 1 ปี ค่อยมาว่ากันใหม่
 

ภารกิจช่วยคนตกงาน “รวมไทยได้จึงสร้างชาติได้”
 

เช่นเดียวกับมาตรการกระตุ้นค่าใช้จ่าย เพื่อลดค่าครองชีพของประชาชน ส่งเสริมการบริโภค และช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยทั้งหาบเร่ แผงลอย ที่รัฐบาลจะช่วยค่าใช้จ่าย 50% และจำกัดการใช้จ่ายต่อคนตลอดโครงการ โดยคาดว่าจะใช้เงินราว 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมุ่งเน้นไปที่ร้านค้ารายย่อยทั่วไปครอบคลุมไปถึงผู้ประกอบการหาบเร่ แผงลอยในประเทศกว่า 8-9 หมื่นร้านค้า ผมก็ว่ารัฐบาลทำตรงจุดระดับหนึ่ง
 

สถานการณ์ตอนนี้รัฐบาลต้องทำทุกอย่างให้คนมีงานทำ ให้คนไทยพอมีสะตุ้งสตางค์มาใช้ในการดำรงชีวิตของตัวเองและคนในครอบครัว
 

ฤทธิ์และพิษสงของไวรัสวายร้ายไม่ได้หยุดลงแค่นี้ ตอนนี้กำลังบ่มเชื้อให้ภาคธุรกิจได้ทุกข์ระทม ก่อนจะระเบิดเป็นฝีแตกออกมาในรูปแบบของขีดความสามารถในการหารายได้ลดลง จนต้องลดขนาดกิจการ ลดคน ชักดาบเจ้าหนี้ ไม่หนี ไม่มี ไม่จ่าย จนถึงปิดกิจการ ซึ่งภาพนี้น่าจะเกิดขึ้นในสิ้นปีหรือต้นปีหน้า ดังนั้น การ์ดอย่าตกครับ
 

ในภาวะที่เกิดความฝืดเคืองของคนในชาติ รัฐบาลควรที่จะหาทางแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนลงไปยังกลุ่มคนไม่มีงานทำให้มีรายได้พอยาไส้ จะได้ไม่ต้องมีภาระทางสังคม หรือไปก่ออ่าชญากรรมเพราะไม่มีอันจะกิน
 

รัฐบาลต้องไประดมสรรพกำลังของบริษัทเอกชนขนาดใหญ่มาเป็นหัวหอกในการลดราคาสินค้าและบริการลงมา และต้องเปิดช่องทางในการรับซื้อสินค้าจากกลุ่มคนที่ตกงานหรือคนในชุมชนที่กำลังสร้างาน สร้างผลิตภัณฑ์ โครงการเมกะโปรเจ็กต์ให้เป็นเพียงแค่ “Shot Routine แต่เน้นการเติมเม็ดเงินลงไปในการจ้างงานทุกระดับ

ยุทธการรวมไทยสร้างชาติต้องเป็นรูปธรรม เพราะเราพึ่งพาโลกไม่ได้อีกต่อไปยาวนานเป็นปีสองปี ถ้าทำได้นี่คือ กำลังของคนในชาติ ...
 

ข้อคิดแบบนี้มิใช่ผมคนเดียวที่เห็น “คุณอารยา” แฟนรายการ NewsRoom:ห้องข่าวเศรษฐกิจ ที่ผมจัดรายการทางทีวีเนชั่นช่อง 22 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ บอกว่าเป็นชาวบ้านธรรมดาเสนอแนวทางแก้ปัญหาระยะสั้น เพื่อชะลอผลกระทบจากโควิด 19 และกระจายรายได้ไปยังธุรกิจอื่นๆ อย่างน่าสนใจ
 

1.โครงการสร้างงานชั่วคราวผ่านการผลิตหน้ากาก (ระยะเวลา 3-6 เดือน)
 

- รัฐให้บริษัทเอกชนส่งออกหน้ากากอนามัย alcohol gel และชุด ppe ได้มากขึ้น
 

- ให้คนตกงาน (เริ่มจากพนักงานที่เคยอยู่ในระบบก่อน) และบริษัทที่พนักงานชั่วคราวหรือลดวันทำงาน ผลิตหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือและชุด ppe ขายให้กับเจ้าหน้าที่และองค์กรของรัฐ เช่น กองทัพ รัฐวิสาหกิจ นักการเมืองระดับชาติ และท้องถิ่น ในส่วนของเจ้าหน้าที่ คนละตั้งแต่ 200 บาท ถึง 10,000 บาทตามระดับขั้นของเงินเดือนและที่เป็นองค์กรสั่งซื้อตามจำนวนที่ใช้จริง รับออเดอร์และจ่ายเงินล่วงหน้า รัฐจัดหาวัสดุและอุปกรณ์ให้ก่อน เพื่อป้องกันการขึ้นราคา
 

ภารกิจช่วยคนตกงาน “รวมไทยได้จึงสร้างชาติได้”
 

- ขบวนการผลิตให้อยู่ในการดูแลและตรวจสอบคุณภาพของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
 

- ใช้โรงแรมและโรงงาน ที่มีความพร้อมใช้พื้นที่บางส่วนเป็นที่ผลิตชั่วคราว รับออเดอร์จากผู้ซื้อในบริเวณที่ใกล้กับที่ผลิต
 

- สินค้าต่อชิ้นตั้งราคาให้มีกำไรอย่างน้อย 20 บาท เพื่อรวบรวมเป็นทุนใช้ในการท่องเที่ยวและ (ถ้าเหลือ) เป็นทุนให้คนตกงานที่อายุเกินหางานใหม่ได้ ให้รวบรวมกลุ่มกันคิดว่าจะทำอะไร เช่นพนักงาน Triumph ที่ถูกเลิกจ้าง อาจรวมกันผลิตชุดชั้นในขายเอง ตัวอย่างราคาบวกรายได้จากหน้ากากผ้า (ตัวเลขสมมุติ) 1 ชิ้นราคา 50 บาท ขายให้ลูกค้าต่อคนไม่เกิน 6 ชิ้นใน 6 เดือน (ใน 1 วันควรใช้ 2 ชิ้น)
 

- ผู้ผลิตจะได้ชิ้นละ 20 บาท x 1,000 ชิ้น =  20,000 บาท - 2,000 (ค่าจักรเย็บผ้าไฟฟ้าแบบตั้งโต๊ะใน 1 รุ่น 100 คน ควรมีไม่ต่ำกว่า 20 เครื่อง กระจายซื้อจากหลายบริษัทเพื่อกระจายรายได้ ใช้งานเสร็จให้จับฉลากเอากลับบ้าน รุ่นต่อไปซื้อใหม่)
         

-ผู้ผลิตที่พักในโรงแรม จะได้ค่าอาหารชิ้นละ 2 บาท x 1,000 = 2,000 บาท 4 วันๆละ 500 บาท ผู้ผลิตจะได้แพ็คเกจทัวร์ราคา 300 บาท สำหรับระยะใกล้บวก 7,500 บาทระยะไกล ยังไม่รวมส่วนที่จะได้จากร่วมโครงการท่องเที่ยวของรัฐ ลบหน้ากากผ้าตลอดโครงการน่าจะไม่เกิน 150-300 ล้านชิ้น เผื่อไว้แจกในฤดูหมอกควันด้วย โรงงานผู้ผลิตจะได้ค่าจ้างบวกค่าอาหารรวม 20,000 บาท ส่วนเจ้าของโรงงานจะได้ชิ้นละ 2 บาท ตามจำนวนพนักงานทั้งหมด
 

-เจ้าของหรือผู้บริหารสามารถร่วมเป็นผู้ผลิตและรับสิทธิ์ร่วมท่องเที่ยวกับพนักงานได้ร่วมทุกข์ร่วมสุขร่วมฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน น่าจะช่วยสร้างความรู้สึกที่ดีให้กับผู้คนได้บ้าง
 

-โรงแรมจะรับคนตกงานเข้ามาตลอดโครงการที่ละ 1,000 คนๆละ 1000 ชิ้น = 1 ล้านชิ้น จะได้ชิ้นละ 3 บาท รวมค่าน้ำบวกไฟบวกซักผ้าเท่ากับ 3 ล้านบาท รวมแล้วตลอดโครงการ รายได้จะลดหลั่นไปตามขนาดของโรงแรม
 

2.จัดทำโครงการหน้ากากแห่งความทรงจำ ดึงช่างฝีมือของศูนย์ศิลปาชีพ ช่างทองจิวเวลรี่ นักศึกษา ด้านการออกแบบที่ยังศึกษาอยู่หรือเพิ่งจบก็ได้ ผลิตหน้ากากผ้าตราสัญลักษณ์มูลนิธิที่สนใจร่วมโครงการ ออกแบบกล่องบรรจุ มีการทําคิวอาร์โค้ดบ่งบอกเรื่องราวของครอบครัวผู้ซื้อว่า ได้ร่วมช่วยชาติอย่างไรบ้างในช่วงวิกฤตินี้ เป็นการทำการตลาดแบบมีส่วนร่วม
 

ชาวบ้านยังคิดวิธีการดูแลคนตกงานเช่นนี้ คนที่มีปัญญา มีกำลังเงินมากกว่าคิดอ่านประการใด?