ปี่กลองหาแต้มดังแล้ว เลือกใครดี?

14 ต.ค. 2563 | 06:20 น.

ปี่กลองหาแต้มดังแล้ว เลือกใครดี? : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว  โดย...จีรพงษ์  ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,618 หน้า 10 วันที่ 15 - 17 ตุลาคม 2563

 

เดือนธันวาคมนี้ รัฐบาลไฟเขียวให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแล้วหลังเว้นว่างมาหลายปี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของไทยมี 7,850 แห่งภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 รวม 9.2 หมื่นล้านบาท โดยองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่งจะเป็นสนามแรก จากนั้นรอไปอีก 45-60 วันว่า สนามไหนจะรับไม้ต่อ(เทศบาล-อบต.-เมืองพัทยา-กทม.) เพื่อให้ชาวบ้านไปใช้สิทธิเลือกผู้บริหารท้องถิ่นเพื่อพัฒนาพื้นที่

 

แน่นอนว่าจากนี้ไปการหาเสียงจากผู้สมัครจะมีสีสันแตก ต่างกันในแต่ละท้องที่ ดีไม่ดี...ผู้สมัครบางคนอาจตกเป็นข่าวบวกหรือลบ? แบบเกรียวกราวก็เป็นได้

 

หลายวันก่อนผมแวะเวียนไปพบเพื่อนฝูงย่านหัวหมาก ได้เห็น บรรยากาศหาเสียงเลือกตั้ง “อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง” ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ต.ค. (หัวหมาก-บางนา) รวมทั้งมีการเลือกตั้งล่วงหน้าเมื่อวันที่ 10 ต.ค. (ส่วนภูมิภาค) และวันที่18 ต.ค. (ส่วนกลาง)  

 

ทราบมาว่าชาวราม 2 แสนคนเศษจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง  โดยมีผู้สมัคร 3 คนคือ เบอร์ 1 ผศ.ดร.สืบพงษ์ ปราบใหญ่, เบอร์ 2 ผศ.ดร.สถาพร สระมาลีย์, เบอร์ 3 รศ.ดร.ปรัชญา พุ่มนาเสียว และที่นี่ยังมีการเลือกตั้งสภานักศึกษา (ส.ม.ร.) และคณะกรรมการองค์การ นักศึกษา (อ.ศ.ม.ร.) เหมือนสถาบันการศึกษาอื่นๆ อีกด้วย

 

เท่าที่รับฟังเพื่อนฝูงที่รามคำแหงก็พอทราบว่า ที่นี่แข่งขัน กันด้วยการเสนอนโยบาย, การแสดงวิสัยทัศน์, การเดินแนะนำตัวเหมือนสนามเลือกตั้งอื่นๆ เมื่อถามว่าสนามเลือกตั้งที่นี่มีวิธีการ ใต้ดินเหมือนเลือกตั้งระดับชาติไหม? คำตอบคือ “มีหลากหลายรูปแบบ แม้จะไม่ทำด้วยตัวเอง แต่ใช้วิธีปล่อยข่าวเชิงลบป้ายสีคู่แข่งด้วยใบปลิว, ปล่อยข่าวลือและล่าสุดไปคอมเมนท์ในโลกออนไลน์หลายแพลทฟอร์ม”

 

 

 

เพื่อนฝูงบอกว่า “รามคำแหงมีขนาดใหญ่กว่ามหาวิทยาลัยอื่นๆ คนที่มาเรียนที่นี่มีทุกระดับ แม้ค่าหน่วยกิตและอื่นๆ เรียกว่าถูกที่สุดในเมืองไทยนั้น (ผมเองยังสนใจจะเรียนต่อที่รามคำแหงเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมหลังทำงานมาปูนนี้) แต่รามคำแหงก็ยกระดับสู่มาตรฐานสากลหลายเรื่อง แต่อีกหลายๆ อย่างยังไม่ทัดเทียมมหาวิทยาลัยอื่นๆ ของรัฐบาล พี่น้องรั้วรามหวังว่า อยากให้ผู้ชนะทำตามนโยบายที่หาเสียงไว้ด้วย  เพราะผู้สมัครบางคนแจกเอกสารแนะนำตัวโปรโมทนโยบายที่เหมือนจะไกลเกินความจริง”   

 

 

ปี่กลองหาแต้มดังแล้ว เลือกใครดี?

 

 

เพื่อนฝูงยังวิเคราะห์ให้ผมฟังว่า “หากเบอร์ไหนชนะ รามคำแหงจะได้/จะเสียอะไร และเชื่อมโยงกับมิติอื่นๆ ของสังคมในด้านใดบ้างหากเบอร์ใดได้เป็นอธิการบดีคนใหม่...” เพราะมีการวิเคราะห์ถึงขนาดเป็น “เอ็กซิทโพลล์ย่อมๆ” เลยว่า “ตอนนี้ใครนำ-ใครตาม และเชียร์นโยบายที่ใช้หาเสียง เช่น พัฒนาระบบการเรียนการสอนเพื่อให้รามคำแหงเป็นมหาวิทยาลัยที่ทันสมัยอย่างแท้จริง, จัดระบบ Shuttle Bus ในมหาวิทยาลัย, ให้ทุนอาจารย์ศึกษาต่อทั้งในและต่างประเทศทุกปีการศึกษา, เพิ่มทุนการจัดกิจกรรมนักศึกษา, เพิ่มจำนวนและขยายเวลาปิด/เปิดห้องอ่านหนังสือ (โดยเฉพาะโซนด้านหลังราม), เพิ่มแสงสว่างซุ้มนักศึกษาให้เพียงพอสำหรับการอ่านหนังสือ ฯลฯ” 

 

 

 

ฟังแล้วนึกในใจว่า “ที่นี่ดุเดือดเหมือนสนามใหญ่จริงๆ!” เอาเป็นว่าจากนี้ไป “ใครดี- ใครเด่น- ใครดัง” รวมทั้งนโยบายใดที่เป็นประโยชน์กับผู้ที่ไปใช้สิทธิก็ขอให้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตัวท่านเอง    

 

สุดท้ายหวังว่า เลือกตั้งเมืองไทยที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ (ท้องถิ่นและรามคำแหง) ความรุนแรงและเกมใต้ดินไม่น่าจะมีขึ้นอีก (เอาจริงๆ คือผมไม่อยากทำข่าวแนวนี้และไม่อยากเสพข่าวประเภทนี้อีก ผมอยากเห็นการสู้รบด้วย “กึ๋น/นโยบาย/ความโปร่งใส”) ดังนั้นขอให้ทุกคนช่วยกันก้าวข้ามเรื่องเชิงลบ อย่าให้ข่าวแย่ๆ ปลิวว่อนสังคมไทยเหมือนที่ผ่านๆ มาอีกเลย