โควิด-19 ผลกระทบต่อความท้าทาย โอกาสการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์

07 ต.ค. 2563 | 04:10 น.

โควิด-19 ผลกระทบต่อความท้าทาย โอกาสการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์ : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  ศ.ดร.ศิริเพ็ญ ศุภกาญจนกันติ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์ประจำบางเวลาของวิทยาลัย วิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,616 หน้า 5 วันที่ 8 - 10 ตุลาคม 2563

 

หากจะกล่าวถึงอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศไทยนั้น อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวนับเป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญลำดับแรกๆ ของประเทศและรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยนับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2522 หรือนับตั้งแต่มีการก่อตั้ง “การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” ใช้ชื่อย่อ ว่า “ททท.” นั่นเอง 

 

จากประวัติการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศไทยพบว่าสามารถย้อนกลับไปถึงสมัยสุโขทัย ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน และได้ทวีความสำคัญจากการที่ประเทศ มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมตั้งแต่ปี 2504 เป็นต้นมา โดยที่หลังจากประเทศไทยได้ประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้ทำให้การพัฒนาประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวขึ้นเกือบทุกด้าน มีความซับซ้อนของโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคม อุตสาหกรรมมีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน ทั้งการเป็นอุตสาหกรรมผลิตสินค้าและบริการขั้นปฐมภูมิหรือต้นนํ้า ผลผลิตขั้นกลางหรือกลางนํ้า จนถึงผลผลิตขั้นสุดท้ายหรือปลายนํ้า การนำเข้าและการส่งออกทำให้มีการติดต่อค้าขายระหว่างประเทศ 

 

ประกอบกับการพัฒนาระบบคมนาคมที่ได้พัฒนาจนทำให้การเดินทาง ทั้งภายในและระหว่างประเทศ สะดวก รวดเร็ว การเดินทางที่ใช้เวลาใน การเดินทางสั้นลง และมีจุดเชื่อมโยงการ เดินทางทั้งทางบก ทางนํ้า ทางอากาศ จึง ทำให้การท่องเที่ยวขยายตัวขึ้นอย่างมาก 

 

พบว่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้ขยายตัวเพิ่มขึ้น จนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่นำเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยมากเป็นอันดับหนึ่ง นับตั้งแต่ปี 2525 ต่อเนื่องจนปัจจุบัน โดยข้อมูลรายได้จากการท่องเที่ยว ใน ปี  2562 คิดเป็นเกือบ 20% ของเศรษฐกิจรวมของประเทศ ก่อนการระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยยังสามารถกล่าวอ้างได้ว่า ได้ก้าวสู่ความเป็น HUB หรือสถานีกลางสำหรับการเดินทางท่องเที่ยวในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในด้านตลาดท่องเที่ยว ตลาดการท่องเที่ยวของไทยก็ขยายตัวจากเดิมที่เคยมุ่งเน้นแต่ชาติตะวันตกที่สำคัญ 

 

แต่ในปัจจุบันไทยเรามีตลาดนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก คือมีการกระจายความเสี่ยงต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจในภูมิภาคต่างๆ ในโลก แต่จากการระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างมากมายมหาศาลทั่วโลก 

 

อย่างไรก็ตาม ในทางกลับกันก็ทำให้คนทั่วไปได้ตระหนักถึงความเปราะบางของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว การพึ่งพากันของอุตสาหกรรมและห่วงโซ่อุปทานของทั้งโลก ทำให้ต้องวิเคราะห์ถึงการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาที่เราได้แต่พึ่งพิงอุตสาหกรรมนี้โดยนับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสาขาหลักคือสาขาการส่งออก ทุ่มเททรัพยากรของชาติในการพัฒนา เนื่องจากความสำคัญที่ว่าก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอย่างมากนั่นเอง 

 

 

โควิด-19 ผลกระทบต่อความท้าทาย  โอกาสการท่องเที่ยวแบบสร้างสรรค์

 

 

โดยในปี 2560 “สภาการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก” (World Travel & Tourism Council  :WTTC ) เลือก “กรุงเทพฯ” เป็นที่ประชุม โดยระดมภาครัฐและเอกชนนานาชาติเดินทางเข้ามาร่วมประชุม WTTCGlobal Summit 2017 ภายใต้ธีม “Transforming Our World” มุ่งเน้นสู่ ความยั่งยืน สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ของ UN เนื่องจากการท่องเที่ยวเหนี่ยวนำให้เกิดการลงทุนและการจ้างงานส่งผลให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยต้องเตรียมความพร้อมในทุกด้านอันหลากหลายในยุคที่โลกเข้าสู่ยุคไร้พรมแดน จากการพัฒนาทางเทคโนโลยี่อย่างก้าวกระโดด 

 

แต่ขณะเดียวกันสถานการณ์ก่อการร้ายได้ขยายตัว สภาวะโลกร้อนโดยอุณหภูมิโลกสูงขึ้นทุกปี ความเสื่อมโทรมของสภาวะสิ่งแวดล้อมที่นับเป็นปัจจัยทางธรรมชาติที่สำคัญต่อการท่องเที่ยว เทคโนโลยีด้าน IT มีบทบาทในชีวิตผู้คนในสังคมทั้งในและนอกประเทศมากขึ้น และแนวโน้มการใช้หุ่นยนต์มาแทนที่แรงงานมนุษย์ แต่ยังไม่มีการคาดการณ์หรือทำนายถึงการแพร่ระบาดของโรคติดต่อร้ายแรง เช่นโรคโควิด-19 ที่รุนแรงฉับพลันแผ่ขยายไปทั่วโลก เศรษฐกิจโลกถดถอยอย่างรุนแรง ประเทศไทยนับเป็นหนี่งในประเทศที่ส่งออกการท่องเที่ยว พึ่งพาการท่องเที่ยวตลอดมา นึกอะไรไม่ออกให้บอกการท่องเที่ยวจึงถูกกระทบอย่างรุนแรงเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศในกลุ่มอาเซียน 

 

 

 

ข้อมูลจากรายงานการวิจัยของ สภาการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลก (World Travel & Tourism Council: WTTC) ประจำปี 2563 โดยใช้ข้อมูลของ ปี 2562 ในกลุ่มประเทศอาเซียน มีข้อมูลที่สำคัญและน่าสนใจ ดังนี้ 

 

ประเทศบรูไน มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 828.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 5.9% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่ากับ 7.9% 

 

ประเทศกัมพูชา มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 7,110.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 26.4% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 26.4% 

 

ประเทศอินโดนีเซีย มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 63.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 5.7% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 9.7%

 

ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 1,770.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 9.1% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 9.6% 

 

ประเทศมาเลเซีย มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 41.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 11.5% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 14.7% 

 

ประเทศพม่า มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 3,671.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 4.6% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 4.8% 

 

ประเทศฟิลิปปินส์ มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 90.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 25.3% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 24.1%

 

ประเทศสิงคโปร์ มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 40.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 11.1% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 14.1%

 

ประเทศเวียดนาม มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 23,103.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 8.8% ของเศรษฐกิจทั้งหมด เกิดการสร้างงานเท่ากับ 9.1% สำหรับ

 

ประเทศไทยนั้น มีรายได้จากการท่องเที่ยว เท่ากับ 107.0 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สูงสุดในอาเซียน คิดเป็น 19.7% ของเศรษฐกิจทั้งหมด 

 

เกิดการสร้างงานจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเท่ากับ 21.4% ของการจ้างงานทั้งหมด มีรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างประเทศคิดเป็น 68.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น 21.1% ของการส่งออกทั้งหมด และสามารถแบ่งเป็นการใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อน 89% และการใช้จ่ายทางธุรกิจ 11% ซึ่งผลจากการระบาดของโรคโควิด ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั้งด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและมูลค่าการท่องเที่ยว 

 

 

 

บทเรียนที่โลกและประเทศไทยได้เรียนรู้ได้ก่อให้เกิดมาตรการต่างทั้งในระยะสั้น ปานกลางและระยะยาว อาทิเช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยมีพื้นฐานจากอดีตที่การเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของคนไทยเราก็ตื่นตัวและมีการกระจายตัวไปทั่วภูมิภาค เกิดแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และมีกิจกรรมท่องเที่ยวต่างๆ มากมายหลายหลากเปิดตัวกว้างขวาง มีวัฒนธรรมประเพณีของชุมชน มีภูมิปัญญาพื้นบ้านไทยหลายหลาก เช่น การทำเครื่องหัตถกรรม สิ่งถักสิ่งทอ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของคนเราเองก็ทำให้เกิดการ กระจายรายได้ในประเทศอย่างกว้าง ขวางเช่นกัน เกิดแนวโน้มรูปแบบการท่องเที่ยวที่หลากหลาย อาทิเช่น 

 

1. มีการผสมผสานการท่องเที่ยวทางทางธุรกิจและการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน (Bleisure Travel) 2. ระบบ Automation 3. การจองผ่านระบบมือถือ 4. การท่องเที่ยวแบบการสร้างประสบการณ์เฉพาะบุคคล 5. การท่องเที่ยวที่ยั่งยืน 6. Transformative Travel ที่การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่การพักผ่อนแต่มุ่งที่การก่อให้เกิดความแตกต่างทั้งต่อชีวิตผู้อื่นและต่อตนเอง 7. การท่องเที่ยวที่เสริมประสบการณ์ 8. การท่องเที่ยวคนเดียว 9. Wellness Travel  

 

จะเห็นได้ว่า การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) ที่เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่ โดยใช้ทรัพยากรวัฒนธรรมและธรรมชาติ ที่ผ่านกระบวนการจัดการอย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้ชุมชนมีความมั่นคง ยั่งยืน และมีความสุขนั้น เป็นการท่องเที่ยวที่สามารถจัดการตามรูปแบบข้างต้นได้แม้จะไม่ได้สร้างมูลค่าทางการเงินอย่างมหาศาล 

 

แต่เป็นการท่องเที่ยวที่สร้างโอกาสและคำนึงถึงคุณภาพชีวิต สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จะเผชิญทั้งความท้าทายและโอกาสที่เปลี่ยนไปจากการระบาดของโควิด 19 แต่จะเป็นทาง ออกหนึ่งของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพอย่างสร้างสรรค์ที่จะกล่าวถึงในตอนต่อไป