มิตรภาพปันนํ้าใจ สู้ภัยโควิด-19 ในเมียนมา

02 ต.ค. 2563 | 23:45 น.

ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 ในประเทศเมียนมา ซึ่งมีชายแดนติดกับประเทศไทยกว่า 2,400 กิโลเมตร เราได้เห็นเรื่องราวดีๆ ที่ภาคเอกชนของไทยได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการมิตรภาพปันนํ้าใจสู้ภัย Covid-19 ในเมียนมา” ขึ้นมา เพื่อให้เป็นหนึ่งในกลไกการช่วยเหลือไปยังประชากรในเมียนมาในเมืองต่างๆ ที่ประสบเหตุการณ์อยู่ในขณะนี้ และเพื่อเป็นการบรรเทา-ช่วยเหลือร่วมกันตามเจตนารมย์ของประเทศเพื่อนบ้านที่มีมิตรภาพอันดีร่วมกันมายาวนาน 

 

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 รอบที่ 2 โดยมีจุดเริ่มมาจากรัฐยะไข่และกระจายมายังเมืองต่างๆ ในประเทศเมียนมา โดยเฉพาะปัจจุบันได้เริ่มมีการแพร่ระบาดจำนวนมากขึ้นในเขตพื้นที่เมืองย่างกุ้งซึ่งเป็นเมืองเศรษฐกิจหลัก จนทำให้ขณะนี้รัฐบาลเมียนมาได้มีการออกคำสั่งมาตรการทุกด้านเพื่อควบคุมสถานการณ์ทั้งการควบคุมการเข้าออกของคนระหว่างเมือง และมีการออกมาตรการ lock down พื้นที่ในเขตเมืองย่างกุ้งทั้ง 36 เขตมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ก.ย. 2563

 

สถานการณ์ดังกล่าวข้างต้นซึ่งมีการประเมินคาดการณ์ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น และอาจจะทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคการขาดแคลนสิ่งของทางด้านเวชภัณฑ์ที่จำเป็นอาทิ ผ้าปิดจมูก นํ้ายาล้างมือ ชุดเครื่องมือแพทย์ ถุงมือ เป็นต้น  

คุณกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์ ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา หนึ่งในนักธุรกิจที่คุ้นเคยกับเมียนมามายาวนานกว่า 30 ปี มองว่าสถานการณ์ในเมียนมานั้น น่าเป็นห่วงในหลายแง่มุม ประการแรกคือ แม้ทางการเมียนมาได้มีคำสั่งล็อกดาวน์เมืองย่างกุ้งไปแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย. 2563 ที่ผ่านมา และจะไปสิ้นสุดในวันที่ 7 ต.ค. 2563 แต่จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น  

 

ประการต่อมาคือ สาเหตุหลักของการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกสองของประเทศเมียนมาครั้งนี้ เกิดจากที่เมียนมามีชายแดนติดกับบังคลาเทศและอินเดีย ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่กำลังเกิดการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรง  จึงคาดว่าจะมีการแพร่ระบาดข้ามชายแดนเข้ามาจากทางด้านรัฐยะไข่ ทางฝั่งตะวันตกของประเทศ ประกอบกับในระยะก่อนหน้านั้น มีการปะทะกันระหว่างกองกำลังอาระกันกับกองทัพเมียนมา ทำให้ผู้คนหนีตายเข้ามายังค่ายอพยพที่เมืองชิตต่วย (หรือ ซิตตเว) เมืองหลวงของรัฐยะไข่ จึงเชื่อได้ว่า การแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 จะเกิดขึ้น ณ จุดนั้น

“ประเทศไทยมีพรมแดนติดกับประเทศเมียนมายาวถึงสองพันสี่ร้อยกว่ากิโลเมตร หากมีการเล็ดลอดเข้ามาของผู้ติดเชื้อ ซึ่งมีความเป็นไปได้สูงมาก ก็จะทำให้มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกสอง ในไทย เกิดขึ้นอย่างง่ายดาย นี่จึงเป็นสาเหตุประการสำคัญที่ไทยควรให้ความช่วยเหลือเมียนมาในการควบคุมการแพร่ระบาดโดยเร็วที่สุด เพราะการคมนาคมหรือการเดินทาง ในประเทศไทยเราไม่มีการตรวจสอบอย่างละเอียดเพียงพอ ประกอบกับสถานการณ์ในประเทศเราคลี่คลาย ทำให้คนไทยในเขตเมืองเริ่มการ์ดตกลงไปมาก หากมีผู้ติดเชื้อจากเมียนมาเล็ดลอดเข้ามาจริงตามสมมุติฐานเบื้องต้น โอกาสที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองในไทยย่อมเกิดขึ้นง่ายมาก”

 

มิตรภาพปันนํ้าใจ สู้ภัยโควิด-19 ในเมียนมา

 

ท่ามกลางสถานการณ์เช่นนี้ เป็นโอกาสดีที่ประเทศไทยจะได้แสดงนํ้าใจให้ประจักษ์ถึงความเป็นมิตร ขณะเดียวกันไทยเองก็จะสามารถลดอัตราการเสี่ยงต่อการเล็ดลอดของผู้ติดเชื้อที่จะทะลักเข้ามาทางชายแดนฝั่งตะวันตกของประเทศ

 

สภาธุรกิจไทย-เมียนมา (Thai-Myanmar Business Council : TMBC) ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยสมาคมธนาคารไทย พร้อมด้วยความร่วมมือกับพันธมิตร รวมทั้ง ฐานเศรษฐกิจ สายการบินนกแอร์ ซีเอ็ดฯ กลุ่มบริษัท EUI และบริษัท เฮงโกลบอล เมียนมา บีอีซี-เทโร และอัมรินทร์กรุ๊ป เป็นต้น ในการช่วยกันระดมเวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ เงินทุนเพื่อจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ เพื่อนำไปช่วยเหลือประเทศเมียนมา 

ผู้ที่ต้องการร่วมสู้ภัยโควิด-19 ในเมียนมาร่วมกับปฏิบัติการของสภาธุรกิจไทย-เมียนมาในครั้งนี้ สามารถทำได้หลายช่องทาง เช่น กรณีบริจาคอุปกรณ์เวชภัณฑ์ สามารถส่งมอบให้แก่ทางสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ผ่านทางร้านหนังสือซีเอ็ดทุกๆ สาขาทั่วประเทศ และที่เคาน์เตอร์ของสายการบินนกแอร์ทุกสาขา หรือส่งตรงมาที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในเวลาทำการ (โทร 0-2345-1151 หรือ 0-23451-233)

 

สามารถร่วมบริจาคโดยการโอนเงินเข้าบัญชี ธนาคารกรุงไทย สาขาไทยเบฟ ควอเตอร์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม” ของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศ ไทย หมายเลขบัญชี 009-1-71583-0 (หากต้องการใบเสร็จเพื่อลดหย่อนภาษี สามารถติดต่อที่สภาธุรกิจไทย-เมียนมา เบอร์โทร 0-2345-1131 หรือ 0-2345-1151)

คุณกริช เชื่อว่าการทำบุญบริจาคสิ่งของใดๆ ถ้าผู้รับบริจาคกำลังต้องการ และเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องใช้ จะมีความหมายมากกว่าการบริจาคที่เขาไม่ได้มีความจำเป็น บุญกุศุลก็จะบังเกิดมากขึ้นเป็นร้อยเท่าทวีคูณ ที่สำคัญวันนี้ประเทศเมียนมาที่เป็นเพื่อนบ้านเรา กำลังประสบภัยพิบัติอย่างหนักหน่วง เราจึงควรจะแสดงความมีนํ้าใจในการช่วยเหลือเขาในตอนนี้ เพราะจะเป็นสิ่งที่เขาจะประทับใจเราไม่รู้ลืม

 

คอลัมน์ถอดสูตรคุย  โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,615 หน้า 10 วันที่ 4 - 7 ตุลาคม 2563