ไฟฟ้าพื้นฐาน บริการสังคม (2)

01 ต.ค. 2563 | 06:40 น.

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุแนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดให้กิจการไฟฟ้าต้องมีภาระผูกพันเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะตอนที่ 2 ดังนี้

 

ฉบับที่แล้วได้เขียนถึงแนวคิดเกี่ยวกับการกำหนดให้กิจการไฟฟ้าต้องมี “ภาระผูกพันเกี่ยวกับการให้บริการสาธารณะ” (Public Service Obligation หรือ PSO) เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไป โดยภาครัฐมักกำหนดให้ผู้ผลิตและขายไฟฟ้าต้องให้บริการขั้นพื้นฐานโดยทั่วถึงสำหรับผู้บริโภคทุกรายในพื้นที่บริการ ด้วยคุณภาพที่เท่าเทียมกัน และในราคาที่ผู้บริโภคทุกรายสามารถจ่ายได้

 

ในประเด็นเกี่ยวกับ “การขยายพื้นที่ใช้ไฟฟ้าออกไปในเขตชนบท” (Rural Electrification หรือ RE) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ PSO หลายประเทศกำหนดให้เป็นวัตถุประสงค์หนึ่งในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจ  หลักเกณฑ์ที่ใช้ในการกำหนดเป้าหมาย RE ในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป เช่น มิติการเมืองมีความสำคัญในฟิลิปปินส์ อินเดีย และอินโดนีเซีย ประโยชน์ทางเศรษฐกิจมีน้ำหนักค่อนข้างมากในชิลี และฐานะการเงินมีความสำคัญที่สุดในคอสตาริกา 

 

โดยทั่วไปการให้บริการเชิงสังคมไม่สามารถดำเนินงานในลักษณะที่เป็นเชิงพาณิชย์ได้ จึงต้องได้รับการอุดหนุน/ชดเชยจากแหล่งเงินต่าง ๆ ซึ่งโดยทั่วไปประกอบด้วย  การอุดหนุนไขว้ (cross subsidy) ผ่านกลไก uniform tariff เงินให้เปล่าหรือเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากภาครัฐหรือองค์กรให้ความช่วยเหลือระหว่างประเทศ และรายได้จากการจ่ายค่ากระแสไฟฟ้าหรือค่าเชื่อมต่อ (connection charge) จากผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหม่

 

แหล่งเงินสำหรับโครงการลงทุนด้าน RE เหล่านี้มีความสำคัญแตกต่างกันในประเทศต่างๆ แต่เราพบว่าประเทศส่วนใหญ่อาศัยการกู้ยืมหรือเงินให้เปล่ามากกว่าใช้การอุดหนุนไขว้ มีบางประเทศที่ใช้กลไกการอุดหนุนไขว้ผ่านมาตรการ uniform tariff เช่น ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และไทย

 

ในฟิลิปปินส์ เงินอุดหนุน RE มาจาก 3 แหล่งได้แก่ เงินให้เปล่าจากรัฐบาล บางส่วนมาจากเงินจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPPs) ซึ่งจ่ายเข้ากองทุนที่เรียกว่า “Benefits to Host Communities” (ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าของไทย) และที่เหลือเป็นเงินโอนจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองผ่านกลไก uniform tariff 

 

ส่วนในรัฐออสเตรเลียตะวันตก เงินอุดหนุน RE มาจากการโอนเงินจากผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตเมืองไปช่วยผู้ใช้ไฟฟ้าในเขตชนบทผ่านกลไกที่เรียกว่า Tariff Equalisation Contribution จึงมีลักษณะการอุดหนุนที่เหมือนกันกับกรณีของไทย อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีแรงต่อต้านค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น จึงมีข้อเสนอให้ยกเลิกการอุดหนุนในลักษณะนี้ และให้ใช้วิธีการอุดหนุนโดยตรงจากเงินงบประมาณของรัฐบาลแทน

 

การให้บริการเชิงสังคมในโครงการ RE มีแนวโน้มที่จะเกิดความไม่มีประสิทธิภาพขึ้นได้เสมอ เช่น การลงทุนที่สูงเกินไป การใช้เทคโนโลยีที่ไม่เหมาะสม  และการบำรุงรักษาที่ไม่เพียงพอ ดังนั้น การออกแบบระบบและวิธีการกำกับดูแล (regulation) ที่เหมาะสมในบริการส่วนนี้จึงจะทำให้มีความไร้ประสิทธิภาพน้อยที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม ประสบการณ์ในประเทศต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่า มีความยากลำบากมากที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหาความไม่มีประสิทธิภาพในบริการเชิงสังคมในลักษณะนี้  ในบางกรณี หากองค์กรกำกับกิจการไฟฟ้าหรือ regulators เข้มงวดเกินไปในการจำกัดค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการสังคม ก็อาจทำให้บริการมีคุณภาพลดลงเพราะผู้ประกอบการจะไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อบำรุงรักษาเท่าที่ควร

 

ในบางกรณี เช่นในอาร์เจนตินา มีการเปิดแข่งขันเพื่อรับสัมปทานในการให้บริการเชิงสังคมในบางพื้นที่โดยคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่เสนอขอรับเงินอุดหนุนต่ำที่สุด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะได้ผู้ให้บริการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการดำเนินงาน  แต่ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกผู้ให้บริการโดยวิธีการใดก็ตาม การติดตามและประเมินผลการประกอบกิจการเชิงสังคมโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดย regulators มักจะมีผลสำคัญต่อความสำเร็จของการให้บริการสังคมประเภทนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ไฟฟ้าพื้นฐาน บริการสังคม (1)