ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้น การเจรจา FTA ไทย-EU

30 ก.ย. 2563 | 04:15 น.

ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้น การเจรจา FTA ไทย-EU : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,614 หน้า 5 วันที่ 1 - 3 ตุลาคม 2563

 

เมื่อวันที่ 22 กันยายน ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสร่วมเป็นวิทยากรในงานสัมมนาเรื่อง “ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้นการเจรจา FTA ไทย-EU” ซึ่งจัดโดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ 

 

ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป (FTA ไทย-EU) ถือเป็นหนึ่งในข้อตกลงการค้าที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งนี้เนื่อง จากสหภาพยุโรปคือความร่วมมือของ 27 ประเทศ ที่เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่ 3  ของประเทศไทย รองจากอาเซียน และจีน ในขณะที่ในมิติของการนำเข้า สหภาพยุโรปคือแหล่งนำเข้าอันดับที่ 4 ของไทยรองจาก อาเซียน จีน และญีปุ่น และ EU ยังเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง 

 

โดยคาดว่าในปี 2020 EU ซึ่งเป็นตลาดที่มีประชากรขนาด 447 ล้านคน จะมีมูลค่าผลผลิตมวลรวมภายในประเทศสูงถึง 16.03 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และมีรายได้เฉลี่ยที่ระดับ 35,851 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน/ปี ซึ่งถือเป็นตลาดหนึ่งที่มีศักยภาพสูงสำหรับสินค้าและบริการของไทย

 

การเจรจาการค้าในกรอบนี้เริ่มต้นในระดับภูมิภาคจากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-สหภาพยุโรป ซึ่งเริ่มเจรจากันมาตั้งแต่ปี 2007 แต่ด้วยความแตกต่างกันในรูปแบบความร่วมมือของอาเซียน และ EU ทำให้การเจรจาหยุดชะงักลงตั้งแต่ปี 2009 และเปลี่ยนรูปแบบการเจรจาเป็นการเจรจาในระดับทวิภาคี โดย ปัจจุบันสมาชิกอาเซียนที่มีข้อตกลงการค้าเสรีกับสหภาพยุโรปและมีผลบังคับใช้ไปแล้ว คือ เวียดนาม และ สิงคโปร์ 

 

นั่นหมายความว่า สินค้าที่มีถิ่นกำเนิดในเวียดนาม และ/หรือ EU สามารถค้าขายกันได้ด้วยอัตราภาษีศุลกากรเป็น 0% ใน เกือบทุกรายการสินค้า เช่นเดียวกับที่มาตรการทางการค้าต่างๆ ก็ได้รับการยกระดับให้มีมาตรฐานเดียวกัน ในขณะที่กรณีของสิงคโปร์ การเจรจาในเรื่องกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดก็ยิ่งทำให้สิงคโปร์สามารถวางตำแหน่งของตนเองให้กลายเป็น นายหน้า ในการรวบรวมสินค้าโดยเฉพาะหมวดอาหารแปรรูป จากประเทศสมาชิกอาเซียนแล้วส่งออกไปขายให้ยุโรปได้ด้วยสิทธิพิเศษทางการค้า

 

ในขณะที่การเจรจาการค้าเสรีระหว่างไทยและสหภาพยุโรปซึ่งมีการเจรจาไปแล้ว 4 รอบ แต่ก็หยุดชะงักลงตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2014 

 

ไทยพร้อมหรือยังที่จะฟื้น การเจรจา FTA ไทย-EU

 

 

สำหรับตัวผู้เขียน พิจารณาในมิติภูมิรัฐศาสตร์-เศรษฐกิจ และพยายามตอบคำถามที่ว่า นี่คือ ช่วงเวลาที่เหมาะสมหรือไม่ในการ กลับเข้าสู่การเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหภาพยุโรป คำตอบที่ได้คือ นี่คือช่วงเวลาที่ดีที่สุดที่จะทำการเจรจา

 

ทั้งนี้เนื่องจากงานวิจัยล่าสุดของผู้เขียนที่ทำให้กับสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ ในโครงการศึกษาทิศทางการเปลี่ยนแปลงสู่ระเบียบโลกใหม่ (New World Order) พบว่า ณ ปัจจุบันสหภาพยุโรปยังคงต้องใช้เวลาปรับตัวกับโครงสร้างของสหภาพยุโรปหลังจากที่สหราชอาณาจักรขอถอนตัวจากการเป็นสมาชิก EU (Brexit) เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา นั่นทำให้ใน ระยะสั้น ซึ่งกระแสชาตินิยมในยุโรปกำลังเป็นกระแสขึ้น โดยเฉพาะการต่อต้านผู้อพยพ 

 

 

 

รวมถึงจุดยืนที่แตกต่างในความสัมพันธ์กับจีน ทำให้ภราดรภาพของสหภาพยุโรปและอุดมการณ์ Immanuel Kant ที่ต้องการสร้างให้ยุโรปเป็นประชาคมแห่งอุดมคติแบบเสรีนิยมถูกสั่นคลอน เอกภาพของสหภาพยุโรปยังคงถูกท้าทายจนถึงในระยะกลาง โครงสร้างสหภาพยุโรปอาจเปลี่ยนแปลงไป ในขณะที่ปัญหาผู้อพยพจะยังคงเป็นประเด็นท้าทายสำคัญของสหภาพยุโรปที่มีผลกระทบทั้งทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม

 

สถานการณ์ในยุโรปเช่นนี้ ทำให้ผู้จัดทำนโยบายของแต่ละประเทศต้องการสร้างผลงาน เพื่อทำให้ประชาชนของเขายังเห็นว่า การอยู่ต่อไปเป็นสมาชิกของ EU ยังเกิดประโยชน์ ยังสร้างโอกาสทางด้านการค้าการลงทุนได้ พวกเขาต้องการความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม เช่น การหาข้อสรุปและลงนามในข้อตกลงการค้าเสรีที่จะ เพิ่มโอกาส เพิ่มแต้มต่อทางการค้าและการลงทุนให้กับผู้ประกอบการ ต้องการทำให้เห็นว่า ยุโรปเองก็สามารถเดินหน้าได้ โดย เฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับสหราชอาณาจักร (UK) ที่เดินออกไป แล้วเร่งและดูเหมือนจะประสบความสำเร็จอย่างยิ่งในการสร้างความตกลงการค้าเสรีกับหลากหลายประเทศและภูมิภาค 

 

เมื่อพิจารณามิติการเมืองความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเช่นนี้ ยิ่งทำให้สามารถคาดการณ์ได้ว่า ในการเจรจาการค้า อำนาจต่อรองของคู่เจรจาอย่างไทย เมื่อ เทียบกับ EU ที่เดิมเป็นกลุ่มที่มีอำนาจการต่อรองสูง เจรจาด้วยยาก จะมีรูปแบบที่เปลี่ยนไป ทั้งนี้เนื่องจาก EU เองก็ต้องการความสำเร็จในการเจรจา จึงมีท่าทีที่ผ่อนปรนมากยิ่งขึ้น อำนาจการต่อรองของไทยจะยิ่งเพิ่มขึ้นอีก หากไทยเร่งเจรจาควบคู่ไปพร้อมกับระหว่าง ความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป และไทย-สหราชอาณาจักร 

 

เพราะนั่นจะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้สมาชิกสหภาพยุโรปต้องเร่งสรุปผลการเจรจา มิฉะนั้นชาวยุโรปก็จะพิจารณาไปได้ว่า การออกจากยุโรปกลับยิ่งเพิ่มอิสระและความคล่องตัวให้กับประเทศที่ออกจากการเป็นสมาชิก เหล่านี้ย่อมสร้างแรงกดดันต่อเอกภาพและโครงสร้างของสหภาพยุโรปเพิ่มขึ้นไปอีก

 

 

 

นอกจากประเด็นเรื่องความสามารถในการเจรจาและอำนาจการต่อรองที่ผู้เขียนกล่าวมาแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นที่ผู้เขียนพยายามชี้แจงในการสัมมนานั่นคือ ยุโรปยังเป็นผู้จัดวางปทัสถานสากลในเวทีโลก อาทิ การคุ้มครองแรงงาน การต่อต้านการค้ามนุษย์ การสร้างมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ซึ่งการเจรจาการค้า และนำเอาปทัสถานเหล่านี้เข้ามาอยู่ในข้อบทของการเจรจา ย่อมเกิดผลดีกับฝ่ายไทยอย่างน้อย 2 มิติ คือ 

 

1) ไทยได้ทำการยกระดับมาตรฐานของประเทศ และ 2) ไม่ว่าอย่างไร ไทยก็ต้องถูกกดดันให้ทำตามปทัสถานเหล่านี้อยู่แล้ว (ดูกรณีประมง IUU) แทนที่ไทย จะต้องทำมาตรฐานเหล่านี้แบบทำตามแต่เพียงฝ่ายเดียว การเจรจาการค้าภายใต้ความตกลงการค้าเสรีเท่ากับเป็นการทำให้เราได้รับสิ่งตอบแทนแลกเปลี่ยนจากการยอมรับมาตรฐาน ยอมรับปทัสถานของยุโรป โดยได้รับสิทธิเศษทาง การค้าและการลงทุนเป็นข้อแลกเปลี่ยน ซึ่งน่าจะดีกว่าการทำตามแต่เพียงฝ่ายเดียว

 

ประเด็นสุดท้ายที่ผู้เขียนแสดงความคิดเห็นในการสัมมนาคือ เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม เพราะเหตุใด ไทยจึงดูเหมือนจะเป็นฝ่ายไล่ตามอยู่เสมอๆ ในหลากหลายมิติ โดยเฉพาะเรื่องของการค้าและการลงทุน สำหรับคุณผู้อ่านที่อยากติดตามประเด็นดังกล่าว สามารถติดตามได้จาก Facebook กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ