ความเหมือน-ต่าง การชุมนุมทางการเมือง พันธมิตรฯ-กปปส. กับเยาวชนปลดแอก

24 ก.ย. 2563 | 03:00 น.

ความเหมือน-ต่าง การชุมนุมทางการเมือง พันธมิตรฯ-กปปส. กับเยาวชนปลดแอก : คอลัมน์ข้าพระบาททาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3612 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ย.2563 โดย... ประพันธุ์ คูณมี

 

ความเหมือน-ต่าง

การชุมนุมทางการเมือง

พันธมิตรฯ-กปปส.

กับเยาวชนปลดแอก
 

     ช่วงนี้ไม่ว่าจะไปงานไหน ปะหน้ามิตรสหายและผู้คนที่รักนับถือ ต่างก็จะเข้ามาขอพูดคุยสนทนา เพื่อขอให้แสดงความคิดเห็นและวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง ของกลุ่มการเมืองที่เรียกตัวเองว่า “เยาวชนปลดแอก” หรือ Free YOUTH ที่ร่วมกับกลุ่มต่างๆ ที่เรียกชื่อหลากหลายสารพัด ที่กำลังประกาศตัวหาญกล้าท้าทายอำนาจรัฐ จัดการชุมนุมใหญ่ด้วยข้อเรียกร้องมากมายทางการเมือง ลามปามไปถึงกระทั่งคิดพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน หมายล้มล้างสถาบันกษัตริย์ เปลี่ยนแปลงระบอบการเมืองไทย ไปสู่ระบอบที่มิใช่ประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 

     หลายคนถามผมว่า การชุมนุม จัดม็อบของมวลชนกลุ่มนี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ จะมีพัฒนาการไปอย่างไร รัฐบาลจะรับมือได้หรือไม่ แล้วสภาพบ้านเมือง ประเทศไทยของเราจะก้าวเดินไปในทิศทางใด สังคมจะมีความสงบสุขหรือเกิดความวุ่นวายรุนแรง กระทั่งจลาจล เกิดการฆ่าฟัน นองเลือดเหมือนอดีตหรือไม่ ใครอยู่เบื้องหลังเด็กพวกนี้และพวกเขาจะเอาชนะได้หรือไม่ ทำไมจึงกล้าบ้าดีเดือดไม่เกรงกลัวความผิด เหล่านี้ล้วนเป็นคำถามที่อยู่ในใจผู้คนในยามนี้ ที่พรั่งพรูออกมา แบบต้องการหาคำตอบ
 

     ในวงสนทนาอาจคุยได้ไม่จบ จึงขอตอบผ่านบทความนี้ครับ เพราะถ้าหากจะดูและศึกษาการชุมนุมทางการเมือง ก็ต้องศึกษาจากความเป็นจริง ค้นหาสัจจะจากความเป็นจริงของการชุมนุมทางการเมือง ที่ผ่านมาหมาดๆ ไม่นานในรอบ 10 ปีนี้ ประชาชนและมิตรสหายทั้งหลายก็จะได้คำตอบ ว่าการชุมนุมที่กำลังเกิดขึ้นและดำเนินไปในขณะนี้จะลงเอยและจบอย่างไร

     ขอยกตัวอย่างแค่การชุมนุมใหญ่ๆ ของประชาชน 2 ครั้งที่ผ่านมาเป็นตัวอย่างและบทเรียน มาเปรียบเทียบเชื่อว่าท่านก็จะพบคำตอบด้วยตนเอง
 

     การชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นการชุมนุมประชาชนทางการเมืองครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 และเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 การชุมนุมของพันธมิตรฯเกิดขึ้นโดยมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมนับล้านทั่วประเทศ และสามารถประสบความสำเร็จโค่นล้มอำนาจการเมือง “ระบอบทักษิณ” ได้ ด้วยเหตุปัจจัยสำคัญคือ
 

     1. มีผู้นำและ 5 แกนนำ ที่มีความรู้ความสามารถ เป็นที่ยอมรับของประชาชน เช่น พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, นายสนธิ ลิ้มทองกุล, นายพิภพ ธงไชย, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข และ นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์
 

     2. ก่อนการชุมนุมใหญ่ มีการให้ข่าวสารความรู้แก่ประชาชน ผ่านรายการ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” โดย นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ดำเนินรายการ เป็นเวลาร่วม 1 ปี เพื่อให้ประชาชนทราบถึงความชั่วร้ายของ “ระบอบทักษิณ” ทุจริตโกงกิน ใช้อำนาจปกครองเพื่อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง เป็นเผด็จการรัฐสภา ปราบปรามเข่นฆ่าประชาชนจากสงครามปราบยาเสพติด เหตุการณ์อุ้มฆ่า และกรณีกรือเซะ ตากใบ สร้างความรุนแรง จุดไฟสงครามในภาคใต้ แทรกแซงศาลและองค์กรอิสระ กระทั่งถึงพฤติกรรมที่ไม่จงรักภักดิ์ดี สนับสนุนขบวนการล้มเจ้า
 

     3. ประชาชนรู้และเข้าใจถึงพฤติกรรมอันชั่วร้ายของ “ระบอบทักษิณ” จึงตื่นตัวลุกขึ้นมาสามัคคีกัน ทั้งในและต่างประเทศ มาจากทุกชนชั้น ทุกสาขาอาชีพในสังคมจำนวนเรือนล้าน เข้าร่วมการต่อสู้ขับไล่รัฐบาลทักษิณด้วยความสมัครใจ และยังบริจาคเงินด้วยทุนทรัพย์ของตน สนับสนุนพันธมิตร
 

     4. การเคลื่อนไหวและการชุมนุมทางการเมือง อยู่ในกรอบของกฎหมายรัฐธรรมนูญ ยึดแนวสันติ อหิงสา เป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ เคารพต่อกฎหมาย (ขณะนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวการชุมนุมในที่สาธารณะบังคับใช้) ความรุนแรงเกิดจากฝ่ายอำนาจรัฐ และอันธพาลการเมืองที่ฝ่ายการเมืองหนุนหลังก่อขึ้น จึงทำให้พันธมิตรฯได้รับการสนับสนุนจากประชาชนผู้รักความเป็นธรรมและประสบชัยชนะ
 

     ส่วนการชุมนุมของ กปปส.ก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริหารบ้านเมืองที่ล้มเหลวของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตรนอกจากเป็นหุ่นเชิดหรือนอมินีของนายทักษิณแล้ว ยังก่อปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นในโครงการรับจำนำข้าว สร้างความเสียหายแก่ประเทศไม่น้อยกว่า 5 แสนล้านบาท ทั้งยังมีพฤติกรรมใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ของตนเองพวกพ้อง และเอื้อกับญาติพี่น้องตระกูลชินวัตรอย่างชัดแจ้ง  

     ฟางเส้นท้ายก็คือการออกกฎหมายนิรโทษกรรมคดีทุจริตให้แก่ทักษิณกับพวก ข้อมูลข้อเท็จจริงเหล่านี้ ประชาชนต่างซึมซับรับรู้ถึงการกระทำของรัฐบาล ที่ก่อความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศ จนสุดที่จะทนยอมรับได้ จึงเกิดคลื่นกระแสมวลมหาประชาชน รวมตัวเข้าร่วมการชุมนุมนับสิบล้านคนทั่วประเทศ ภายใต้การนำของแกนนำที่ประชาชนยอมรับนับถือ และการบริหารจัดการการชุมที่เป็นระเบียบ มีระบบดูแลความปลอดภัยที่ดี เนื้อหาสาระการปราศรัยของการชุมนุมทั้งของพันธมิตรฯ และ กปปส.ล้วนมีข้อมูล เหตุผลและสาระอันควรแก่การรับฟัง จากวิทยากรที่มีความรู้จริงในเรื่องนั้นๆ
 

     ที่สำคัญการชุมนุมทั้งสองเหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เข้าร่วมชุมนุมล้วนแต่มีความจงรักภักดิ์ดีและยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
 

     หันมามองการชุมนุมของ “เยาวชนปลดแอก” ตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ดังที่เห็นและเป็นอยู่ที่ได้จัดขึ้นแล้วและที่กำลังจะดำเนินการต่อไป
 

     1. แกนนำการชุมนุมเป็นเด็กที่อ่อนประสบการณ์ในทุกๆ ด้าน บุคลิกหน้าตาก็อัปลักษณ์ พูดจาก้าวร้าว หยาบคาย ด่าทอผู้อื่นแบบไร้ข้อมูลและเหตุผล ไม่เคารพไม่ให้เกียรติผู้อื่นทั้งในระดับเดียวกัน หรือที่อาวุโสกว่า การปราศรัยไม่น่ารับฟัง ทำลายมิตร ทำลายแนวร่วม
 

     2. เนื้อหาสาระในการต่อสู้ หรือข้อเรียกร้องที่เสนอ มิใช่ข้อเรียกร้องที่เป็นประโยชน์หรือตรงกับความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่
 

     3.  จงใจกล่าวหาโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ และขัดแย้งกับความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
 

     4. ไม่มีข้อเสนออะไรใหม่ อันจะเป็นทางเลือกทางออกที่ดีแก่สังคม นอกจากถ้อยคำผรุทสวาท ที่สกปรกและไร้สาระ รวมถึงกิจกรรมตลกที่ไร้รสนิยมแบบเด็กๆ ที่หาสาระแก่นสารไม่ได้
 

     5. พฤติกรรมของการชุมนุมส่อไปในทางถ่อย เถื่อน ไม่เคารพกฎหมาย ไม่สนใจความชอบธรรม แสดงออกตามอำเภอใจ เอามันแบบให้สำเร็จความใคร่ทางความคิด โดยมิได้สนใจประชาชนส่วนใหญ่
 

     6. ข้อเรียกร้องไม่ชัดเจน สุดท้ายกลายเป็นม็อบชุมนุมเพื่อคิดล้มเจ้า ที่หาเยาวชนเข้าร่วมแทบไม่มี มีแต่มวลชนจัดหาและเกณฑ์มา
 

     เพียงแค่นี้ก็พอจะมองออกแล้วว่า ม็อบนี้จะจบลงอย่างไร สุดท้ายคงจบที่เรือนจำครับ ​​​​​​​