หมูจะหาม “สายสีส้ม” ใครอย่าเอาคานมาสอด

23 ก.ย. 2563 | 06:00 น.

หมูจะหาม “สายสีส้ม” ใครอย่าเอาคานมาสอด : คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3612 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 24-26 ก.ย.2563 โดย... พรานบุญ

 

หมูจะหาม “สายสีส้ม”

ใครอย่าเอาคานมาสอด
 

     กระจองงอง กระจองงอง เจ้าข้าเอ้ย!
 

     22 กันยายน 2563 คดีใหญ่สะท้านปฐพีที่มีผลประโยชน์โภคผลเกิดขึ้นกับใครก็ไม่รู้ประมาณ 1.4 แสนล้านบาท มีการยกขึ้นมาพิจารณาไต่สวนมูลฟ้องกันที่ศาลปกครอง
 

     คดีนี้ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ส่งทนายความมือดีจาก บริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเคนซี่ ไปฟ้องศาลปกครอง เรียกร้องความเป็นธรรม และฟ้องศาลขอคุ้มครองชั่วคราว กรณีการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งเอกชน 10 รายที่ซื้อซองเข้าร่วมประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 1.4 แสนล้านบาทว่า ขอปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกเอกชนในทีโออาร์ โดยนำคะแนนข้อเสนอด้านเทคนิค (ซอง 2) มาเป็นเกณฑ์ประเมินร่วมกับข้อเสนอด้านการเงิน และผลตอบแทน (ซอง3) ในสัดส่วน 30 : 70
 

     BTSC ระบุว่า การปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การพิจารณาภายหลังเปิดขายซอง หลังจากเจ้าของโครงการทราบแล้วว่า มีเอกชนรายใดซื้อซองแสดงความสนใจเข้าร่วมประมูล ถือว่า ไม่เป็นธรรม อาจเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบได้ เนื่องจากได้ทราบคุณสมบัติของผู้สนใจร่วมประมูลแล้ว
 

คณะกรรมการ ม.36 สีส้ม

     ปรากฎว่าทาง รฟม.แจ้งขอเลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องออกไปก่อน โดยแจ้งต่อศาลปกครองว่า ยังได้รับเอกสารชี้แจงไม่ครบถ้วน
 

     ศาลปกครองจึงเลื่อนการพิจารณาการไต่สวนมูลฟ้อง และการพิจารณาตัดสินคุ้มครองชั่วคราวออกไปก่อน ...แต่กระจิบกระจาบ พิราบตัวน้อย ส่งเสียงซุบซิบกันออกมาว่า ไม่ช้าไม่นานคดีนี้จบ....แต่จะออกหัวออกก้อยเท่านั้นแหละ
 

     นกกระจิบซุบซิบว่า การประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี ระยะทาง 35.9 กิโลเมตร มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ถือว่ามีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง เพราะดันมีมือที่มองไม่เห็นมาล้วงตับ หาเงินก้อนโตไปใช้ในทางการเมือง
 

     อย่าให้แซ่ดเชียวพ่อพรานฯว่า จำนวนของผลประโยชน์โภคผลที่ตกหล่นรายทางจะก้อนโตสักเท่าใด ...เพราะไม่มีใครจินตนาการได้ แต่ผู้รับเหมาเขาพูดกันว่าเป็นหมื่น
 

     แต่หากพิจารณาร่องรอยจากการประชุมของคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามมาตรา 36  แห่งพระราชบัญบัญญัติ (พ.ร.บ.) ร่วมทุนฯ 2562  รวม 8 คน เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2563  เวลา 9.00 น.นั้น ปรากฏให้เห็น “ร่องรอยประหลาดพิกล” ให้คนไทยได้ตาสว่างกัน
 

รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี

     ประเด็นแรก มติการปรับเปลี่ยนการพิจารณาคัดเลือกโดยนำซองเทคนิกมาให้คะแนน 30:70 นั้น “เป็นมติไม่เอกฉันท์”
 

     ประเด็นที่สอง พิลึกพิลั่นกว่านั้น ในการประชุมวันนั้น ปรากฎว่า “ภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ” ผู้ว่าการ รฟม.เข้าประชุมชี้แจงเหตุและผลที่ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขการประมูลในโครงการนี้ด้วยตัวเอง และเป็นผู้นำการประชุมคณะกรรมการ มาตรา 36 แทนที่ “กิตติกร ตันเปาว์” ผู้ช่วยผู้ว่าการ รฟม.(รักษาการ รองผู้ว่า รฟม.ด้านวิศวกรรมและการก่อสร้าง) ที่เป็นลูกน้องและ เป็นประธานคณะกรรมการ มาตรา 36
 

     นกกระจิบ นกกระจาบ บอกว่า การประชุมวันนั้น ผู้ช่วยผู้ว่าการ ที่ตอนนี้ขยับจากรักษาการ ขึ้นมาเป็น “รองผู้ว่าการ” เรียบร้อยโรงเรียน รฟม. กะ “กาจผจญ อุดมธรรมภักดี” ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า รฟม.ที่เป็นกรรมการและเลขานุการ มิต้องเอ่ยปาก....555
 

     ประเด็นต่อมา นานๆ ทีจะเกิดปรากฎการณ์แบบนี้คือ “กนกรัตน์ ขุนทอง” ผู้อำนวยการกองจัดทำงบประมาณด้านเศรษฐกิจ 4 ที่เป็นผู้แทนสำนักงบประมาณ ในคณะกรรมการ มาตรา 36 คัดค้านในที่ประชุม ซึ่งปกติแล้วพอสำนักงบฯ คัดค้านเรื่องจะตกไปแต่ครานี้ไม่ตก...มีคนดันหลังให้เดินหน้า
 

     ประเด็นต่อไป ตอนที่มีการทำมาร์เก็ต ซาวดิ้ง โครงการนี้ มีเอกชนเสนอให้นำข้อเสนอทางเทคนิกมาให้คะแนนแล้ว แต่ฝ่ายบริหารของ รฟม.ไม่นำมาเขียนไว้เป็นเงื่อนไขในทีโออาร์ แต่กลับมาปรับเปลี่ยนภายหลังได้รายชื่อเอกชนที่ซื้อซองประกวดราคาไป 10 ราย

     ประเด็นประหลาดที่พิศดารพันลึกกว่านั้นคือ ในเงื่อนไขทีโอการ์รถไฟฟ้าสายสีส้มใหม่ มีการกำหนดสัดส่วนการให้คะแนนการประกวดราคาซองที่ 2 และซองที่ 3 ในสัดส่วน 30:70 อันพิลึกกึกกือกว่าที่ใครจะคาดคิด แต่ว่าดันมี “อาจารย์ใหญ่” คิดออกได้...
 

     กล่าวคือในซองราคาหรือข้อเสนอทางด้านการเงินและผลตอบแทนที่ให้คะแนนในสัดส่วน 70  นั้น ดั๊นมีการกำหนดแบบซ่อนเงื่อนไว้อีกว่า ให้แบ่งเป็น 60+10 มึนละซิพี่น้อง
 

     มานี่พรานฯ จะพาไปดูวิธีอันพิศดารพันลึกที่อาจารย์ใหญ่คิดไว้ ....สัดส่วน 60 จะให้กับเอกชนผู้ประมูลที่ให้ราคากับรัฐที่ดีที่สุด หรือคิดจากรัฐต่ำที่สุด เมื่อพิจารณาจากราคาปัจจุบัน หรือ  NPV
 

     อีก 10 ที่กันไว้เป็นสัดส่วนพิเศษนั้น จะพิจารณาจากความเหมาะสม ความสมเหตุ สมผลของราคา โดยอิงจากราคากลางที่เป็นผลการศึกษาด้านราคาของ รฟม....
 

     แปลไทยเป็นเทศ เทศเป็นไทยว่า คนที่เสนอผลตอบแทนที่คิดจากรัฐดีที่สุด ต่ำที่สุด อาจไม่ได้รับการพิจารณาในสัดส่วนของคะแนน 10 คะแนนนี้ เพราะอาจมีคนอุตริใช้ดุลพินิจว่า ราคาที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐดีที่สุด ขอเรียกเงินจากรัฐต่ำที่สุดนั้น “อาจเสี่ยงเกินไป” เมื่อพิจารณาจากความสมเหตุผลของราคา...555 พิลึกมั้ยขอรับนายท่าน
 

     ปกติแล้วในการประมูลเพื่อหาเอกชนมาลงทุน PPP Net Cost และติดตั้งจัดหาระบบรถไฟฟ้า และรับสัมปทานเดินรถตลอดสายนั้นเขาพิจารณากันเป็น “ปกติวิถี” แบบนี้ 1.พิจารณาซองคุณสมบัติ ที่ดูจากเงินทุน ประสบการณ์ของผู้ประมูล หากผ่านซองคุณสมบัติก็ไปดูซองทางเทคนิกที่ดูว่าแต่ละรายนั้นมีเทคนิกในการทำงานอย่างไร ผู้ที่ผ่านคุณสมบัตินนี้จะต้องได้คะแนนไม่น้อยกว่า 75-80 คะแนนจึงผ่านได้ จากนั้นจึงไปเปิดซอง 3 ที่เป็นข้อเสนอทางราคา
 

ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม

     การเปิดซองราคาจะดูกัน 2 ด้าน ด้านแรกคือ ผู้ประมูลเสนอขอรับเงินสนับสนุนจากรัฐเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่ตั้งแต่ปี 1-30 ปี ด้านที่สองจะดูว่า ผู้ประมูลเสนอสัดส่วยการแบ่งรายได้ให้รัฐตั้งแต่ปี ที่ 1-30 ปี จำนวนเท่าไหร่ จากนั้นก็ทอนกลับมาเป็นการคิดราคา ณ ปัจจุบัน หรือ NPV แต่เงื่อนไขใหม่นี้จะมีกาเรปิดซอง 2-3 พร้อมกัน และสุ่มเสี่ยงในเรื่องการใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการคัดเลือกอย่างมากๆ เชียวแหละพี่น้องเอ๋ย
 

     ประเด็นต่อมา ในการประมูลรอบนี้ มีผู้ประมูลที่เข้าข่ายผ่านคุณสมบัติทางเทคนิกในการก่อสร้างรถไฟฟ้า อุโมงค์ รถไฟใต้ดินจริงๆแค่ 3 รายเท่านั้น ส่วนที่เหลือคือพันธมิตรกัน ผู้ที่เข้าข่ายผ่านคุณสมบัติจริงๆคือ 1.บริษัท ซิโน–ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) 2.บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) 3. บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีการจับกลุ่มกันชัดเจนว่า ใครคู่กับใครอยู่แล้ว
 

     ร้ายกว่านั้น แทบไม่น่าเชื่อ เมื่อคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน ตามมาตรา 36  ลงมติเสร็จว่าจะใช้วิธีนี้ในการประมูลโครงการสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม 1.4 แสนล้านบาท ที่ผ่าใจกลางเมือง มีทั้งโครงสร้างใต้ดิน บนดิน ทางยกระดับ มีแนวเส้นทางเชื่อมการเดินทางภายในเขตเมืองตามแนวตะวันออก – ตะวันตก ของกรุงเทพมหานคร ก็นำมตินี้ไปบรรจุในที่ประชุมคณะกรรมการของ รฟม.ที่มี สราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง เป็นประธาน
 

     แอ่นแอ๊น....คณะกรรมการหรือบอร์ด รฟม.ไม่รับพิจารณาในเรื่องนี้ โดยแจ้งว่า ไม่ใช่หน้าทีของบอร์ดในการกำหนดคุณสมบัติและเงื่อนไขในทีโออาร์ของการประมูล....555
 

     สนุกสนาน เบิกบานฤทัยขาใหญ่อย่างยิ่ง