ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่

22 ก.ย. 2563 | 11:50 น.

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่ : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3612 ระหว่างวันที่ 24-28 ก.ย.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป

คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่
 

     ถึงตอนนี้บรรดาสถาบันการเงินในประเทศทั้ง นอนแบงก์ ลิสซิ่ง บริษัทจำนำทะเบียนรถ ตลอดไปจนถึงสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐที่ร่วมกันดำเนินการยืดหนี้ พักหนี้ ลดดอกเบี้ยให้กับลูกหนี้ออกไปตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2563 ต่างพากันลุ้นระทึกกันว่า สิ้นเดือนกันยายน 2563 รัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ ศบศ. จะตัดสินใจพิจารณาเพื่อยืดอายุระยะเวลา “การพักชำระหนี้ 6 เดือน โดยไม่คิดว่าเป็นหนี้เสีย” ออกไปหรือไม่ และเป็นระยะเวลาเท่าใด
 

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่

     เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะถ้าไม่ขยายระยะเวลาออกไป ยอดหนี้ที่สถาบันการเงินราว 51 แห่ง ได้ดำเนินการพักหนี้ ยืดหนี้ออกไปโดยไม่ถือว่าเป็นหนี้เสียที่จะต้องตั้งสำรอง 100% ซึ่งเท่าที่ตราวจสอบจากสถาบันการเงินพบว่า จะมีอยู่ราว 12.5-16 ล้านบัญชี วงเงินรวมกันกว่า 7.5 ล้านล้านบาท จะกลายเป็นหนี้เสียทันที และสถาบันการเงินจะต้องหยุดรับรู้รายได้

     ขณะที่ข้อมูลของแบงก์ชาติระบุว่า มีจำนวนหนี้ที่เข้าข่ายราว 7.5 ล้านล้านบาท จำนวน 12.5 ล้านบัญชี แยกเป็นสถาบันการเงินและนอนแบงก์ราว 6.1 ล้านบัญชี วงเงินรวม 4.3 ล้านล้านบาท สถาบันการเงินเฉพาะกิจอันประกอบด้วยแบงก์ออมสิน แบงก์อิสลามแห่งประเทศไทย เอสเอ็มอีแบงก์ ธกส. ธอส. บสย. ฯลฯ อีกราวม 6.4 ล้านบัญชี หนี้สินราว  2.9 ล้านล้านบาท
 

     ผลที่ตามมาของงบการเงินของบรรดาสถาบันการเงิน นอนแบงก์ ลีสซิ่ง ธุรกิจจำนำทะเบียนรถ ธุรกิจปล่อยสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน จะ “ขาดทุน-ตัวแดง” กันแบบยกแผงในการแจ้งงบการเงินงวดสิ้นปี 2563 แน่นอน
 

     หนี้ก้อนโตราว 7.5 ล้านล้านบาท ที่ได้รับการผ่อนปรนจากพิษโควิดมีทั้งหนี้รายย่อย และหนี้ธุรกิจสำหรับกลุ่มวงเงินที่มีตั้งแต่ 100 ล้านบาทลงมานั้นถือว่ามหาศาล เพราะมากกว่างบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศกว่า 2 เท่าตัว
 

     ถ้าหนี้ก้อนหนี้เป็นหนี้เสีย รับรองว่าเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศที่ติดลบอยู่ราว 7.8-8.1-10% จะหนักหนาสาหัสกว่านี้ และผลที่ตามมาคือคนตกงานจะมากขึ้น มนุษย์เงินเดือนจะมีปัญหาหนักหน่วงแน่นอน
 

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่

     สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอว่า ภาคเอกชนต้องการให้สถาบันการเงินขยายระยะเวลาพักชำระหนี้ออกไปเป็นเวลา 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน และจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการ
 

     สุพันธ์บอกชัดเจนว่า ในระยะต่อไปน่าเป็นห่วงว่าหากมาตรการช่วยเหลือด้านการเงินในกลุ่มต่างๆ สิ้นสุดลง แต่ผู้ประกอบการยังไม่ฟื้นกลับมาสู่ภาวะปกติได้ จะทำให้เกิดปัญหาการว่างงานสูงขึ้นอีก
 

     ดังนั้น รัฐบาลและแบงก์ชาติควรที่จะพิจารณาให้แบงก์ควรจะต้องเลื่อนชำระดอกเบี้ยหรือมีมาตรการออกมาช่วยเหลือต้องทำอย่างต่อเนื่องด้วย เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่อง ซึ่งจะช่วยถึงการจ้างงาน เพราะการจ้างงานอยู่ในผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากกว่า 10 ล้านคน..เห็นภาพของปัญหาที่เกิดขึ้นหรือยังครับว่าใหญ่หลวงแค่ไหน
 

     สุพันธ์ บอกว่า การขยายเวลาการพักชำระหนี้ที่จะครบกำหนดในเดือน ต.ค.นี้ออกไปอีก 2 ปี โดยปรับเปลี่ยนเงื่อนไขให้มีการชำระคืนดอกเบี้ยบางส่วน เช่นผ่อนปรนให้ชำระหนี้แค่ 10-20% เพื่อให้สถาบันการเงินไม่กังวลว่า จะกลายเป็นหนี้เสีย (NPL) เป็นเรื่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะต้องพิจารณาผ่อนคลายเงื่อนไขนอกเหนือจากสนับสนับสนุน การส่งเสริมสินค้าเมด อิน ไทยแลนด์, การปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs เพื่อต่อลมหายใจ
 

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่

     เพราะถึงตอนนี้ต้องยอมรับกันตรงๆว่า “ปัญหายังหนักหน่วงอยู่ เพราะสถานการณ์ไม่ได้เป็นไปตามที่คิด ผ่านมา 6 เดือนแล้วก็ยังไม่มีวัคซีน ยังเปิดประเทศไม่ได้ การค้าขายก็ฝืดเคือง”สุพันธุ์ ระบุ
 

     นั่นเป็นภาพผู้ประกอบการ มาดูฝั่งสถาบันการเงินกันบ้าง
 

     ผมมีโอกาสพูดคุยถึงปัญหาหนี้ แบงก์บอกว่า ปัจจุบันจำนวนลูกหนี้กว่า 16 ล้านรายที่เข้าโครงการพักชำระหนี้ เม็ดเงินก้อนใหญ่กว่า 6.84 ล้านล้านบาทนั้น ถ้าไม่ช่วยยืดเวลาออกไปก็ไม่รู้ว่าจะเหลือกี่รายที่ผ่อนชำระได้ ภาระก้อนใหญ่จะหวนกลับมาที่ระบบธนาคารที่จะต้องทำการเพิ่มทุน เพราะเงินกองทุนที่มีอยู่ในระบบสถาบันการเงินในขณะนี้แม้จะสูงระดับ 18% แต่หลายธนาคารจะต้องเพิ่มทุนเพื่อนำมาสำรองหนี้ก้อนโตแน่นอน

     วันนี้ทุกแบงก์ต่างให้เจ้าหน้าที่พยายามติดต่อลูกค้าทุกวัน และหลายรายยังไม่สามารถจ่ายหนี้ได้ ขณะที่ มาตรการพักเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่งทำกันครั้งแรก จึงต้องใช้เวลาลูกค้าระยะหนึ่งกว่าจะมาชำระหนี้ได้ ถ้าจบทันทีพังกันเป็นแถวแน่นอน เพราะเท่าที่สุ่มสอบถามลำพังแค่ให้ลูกหนี้ราว 12.5-16 ล้านบัญชีมาชำระหนี้สักครึ่งหนึ่งก็ลำบากมากแล้ว
 

     อย่างไรก็ตาม การประชุม ศบศ.ที่ผ่านมา แนวทางการแก้ไขปัญหาเป็นข้อเสนอจากสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กับธนาคารแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานของรัฐมากกว่า ที่จะฟังปัญหาจากภาคเอกชน
 

     ผมจึงบอกว่า ถ้าไม่ยืดหรือต่ออายุมาตรการพักหนี้ 6 เดือนออกไป จะมีคนตัวเล็กตายเกลื่อนประเทศแน่ๆ
 

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่

     การเลื่อนกำหนดชำระหนี้รายย่อยเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญของเศรษฐกิจไทย และเพิ่มลมหายใจของลูกค้าบุคคลธรรมดา เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องเพียงพอในช่วงภาวะที่ไม่ปกตินี้จึงเป็นเรื่องสำคัญ
 

     ผมทราบว่าคณะอนุกรรมการฯชุดที่มี ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทีเอ็มบี-ธนชาต เป็นประธานฯได้ยกเรื่องนี้มาพิจารณากันแล้ว 2 รอบ และได้ข้อสรุปร่วมกันแล้วว่า จะยืดอายุของมาตรการออกไป ติดขัดอยู่ที่ว่าจะเลื่อนออกไปยาว 1 ปีเลย หรือจะขยายระยะเวลาของมาตรการพักหนี้ 6 เดือนโดยไม่กระเทือนต่อหนี้เสียออกไป 6 เดือน เท่านั้น...สัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้ารู้กันครับ
 

     สำหรับมาตรการพักหนี้นั้นกำหนดว่า หากท่านเป็นเจ้าของธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท (สำหรับแต่ละสถาบันการเงิน) ท่านอาจได้รับสิทธิ์เลื่อนจ่ายเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือน โดยดอกเบี้ยที่พักชำระไว้ อาจทยอยจ่ายในงวดที่เหลือหรือขึ้นกับข้อตกลงระหว่างลูกหนี้กับสถาบันการเงิน
 

     ผู้รับสิทธิ์ต้องเป็นผู้ประกอบธุรกิจในประเทศไทยไม่เป็น NPL ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562 มีวงเงินสินเชื่อเพื่อธุรกิจ (O/D, working cap, term loan, trade finance) รวมทั้งกลุ่มธุรกิจกับสถาบันการเงินแต่ละแห่งไม่เกิน 100 ล้านบาท ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2562
 

ไม่ยืดเวลาพักหนี้ออกไป คนตัวเล็กตายทั้งเมืองแน่

     ถ้าธุรกิจมีวงเงินกู้อยู่มากกว่า 1 สถาบันการเงิน ก็จะได้รับสิทธิ์นี้ สำหรับทุกสถาบันการเงินที่มีวงเงินกู้รวมไม่เกิน 100 ล้านบาท
 

     สิทธิ์ที่จะได้รับคือการเลื่อนการชำระหนี้ (ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย) ภายในช่วง 6 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 23 เม.ย. ถึง 22 ต.ค. 2563 และเป็นการเลื่อนโดยอัตโนมัติ ลูกหนี้ไม่ต้องติดต่อสถาบันการเงินเพื่อรับสิทธิ์ โดยไม่ถือเป็นการผิดนัดชำระหนี้ ไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต
 

     เมื่อครบกำหนดการพักหนี้ ลูกหนี้และแบงก์จะต้องไปตกกลงกันว่าการจ่ายชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยที่เลื่อนชำระจะเป็นการเฉลี่ยเงินต้นและดอกเบี้ยไปเรียกเก็บตามงวดชำระหนี้ที่เหลือของสัญญา หรือเฉลี่ยเงินต้นและดอกเบี้ยไปเรียกเก็บในงวดท้ายๆ ของสัญญา หรือจะเรียกเก็บเงินต้นและดอกเบี้ยทั้งหมดในงวดสุดท้ายของสัญญาก็ได้
 

     เร่งตัดสินใจก่อนไฟจะลามทุ่งนะลุงตู่