นำเข้าตัวแปรสำคัญ "แช่แข็ง" ท่อเหล็กไทย 7 หมื่นล้าน

20 ก.ย. 2563 | 03:22 น.

"ท่อเหล็ก"อีกหนึ่งอุตสาหกรรมสำคัญ ที่ได้รับแรงเสียดทานจากการแข่งขันกับคู่ชกรายใหญ่คือการนำเข้า ส่งผลการใช้กำลังผลิตของอุตสาหกรรมนี้ที่มีมูลค่ากว่า 7 หมื่นล้านบาทยังเดินได้ไม่เต็มที่

 

อุตสาหกรรมท่อเหล็กเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับแรงเสียดทานจากการแข่งขันที่อยู่บนพื้นฐานแตกต่างจากคู่ชกรายใหญ่ ทำให้เส้นทางเดินธุรกิจท่อเหล็กในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมาไม่ได้ราบรื่นนัก ทั้งที่ท่อเหล็กเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่เชื่อมโยงกับธุรกิจก่อสร้าง, ยานยนต์, เฟอร์นิเจอร์, ระบบดูดอากาศ, ระบบดับเพลิง, น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ

 

กวินพัฒน์  นิธิเตชเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่นคนใหม่พร้อมเปิดตัวครั้งแรกกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความเคลื่อนไหว การปรับตัว การยกระดับ และอุปสรรคของอุตสาหกรรมท่อเหล็กในไทย ที่ปัจจุบันมีสมาชิก 34 ราย แต่ความสามารถในการผลิตกลับถูกแช่แข็งนานติดต่อเป็นปี เพราะยังไม่สามารถผลิตได้เต็มที่

 

นำเข้าตัวแปรสำคัญ

นายกสมาคมผู้ผลิตท่อและแปรรูปเหล็กแผ่น ชี้ว่า อุปสรรคในการทำธุรกิจในขณะนี้คือ ผู้ผลิตเกือบทั้งหมดเดินเครื่องจักรได้เพียง 40-50% เท่านั้น ส่วนใหญ่เกิดจากผลกระทบจากที่มีการนำเข้าสินค้ามาแย่งส่วนแบ่งตลาด หากพิจารณาจากผู้ผลิตในประเทศราว 34 ราย ที่ผลิตท่อเหล็กด้วยวิธีเชื่อมตะเข็บ มีกำลังผลิตรวมกัน 2.8 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตจริงอยู่ที่ 1.8 ล้านตันต่อปี เทียบกับความต้องการใช้ต่อปีมีมากกว่า 1.5 ล้านตัน และผลิตเพื่อส่งออกราว 330,000 ตันต่อปี  แต่ยังเหลือกำลังผลิตอีกจำนวนมาก  เนื่องจากตลาดส่วนหนึ่งเสียให้กับท่อเหล็กนำเข้า ทั้งที่ขีดความสามารถของไทยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดของท่อเหล็กอยู่ที่ 38,000 ล้านบาทต่อปี  แต่ถ้าผู้ผลิตทุกรายสามารถผลิตได้เต็มเพดานก็จะมีมูลค่าตลาดรวมอยู่ที่ 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปีหรือมากกว่านี้

 

อย่างไรก็ตาม สถิติการนำเข้าท่อเหล็กเมื่อปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 550,000 ตัน  เทียบกับช่วง 7 เดือนแรกปีนี้ การนำเข้าอยู่ที่ 289,000 ตัน  จะพบว่าการนำเข้าค่อย ๆ ลดลงหลังจากที่ไทยดำเนินมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ท่อเหล็กจากเวียดนาม แต่ยังมีการนำเข้าจากจีนโดยการเลี่ยงพิกัดอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ทำให้สถานะปัจจุบันผู้ผลิตในประเทศยังไม่สามารถเดินการผลิตได้เต็มที่

 

นำเข้าตัวแปรสำคัญ "แช่แข็ง" ท่อเหล็กไทย 7 หมื่นล้าน

                                    กวินพัฒน์  นิธิเตชเศรษฐ์

 

"โควิด"วิกฤติเป็นโอกาส

ส่วนผลที่เกิดขึ้นในช่วงที่ทั่วโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องหันมาโฟกัสตลาดในประเทศมากขึ้น เพราะช่วงหยุดอยู่บ้านคนจะหันมาซ่อมแซมบ้านจำนวนมาก ส่งผลให้ยอดขายช่วง 3-4 เดือนแรกพบว่าท่อเหล็กเติบโตมากกว่าช่วงเดียวกันของปี 2562 ตั้งแต่ 10-15%

 

อุปสรรคต่ออุตสาหกรรมท่อในประเทศหลัก ๆ เกิดจากการนำเข้าสินค้ามาจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากจีนและเวียดนาม ทั้งที่มีการตอบโต้การทุ่มตลาดแล้วแต่ก็ยังมีการนำเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผู้นำเข้าได้รับการช่วยเหลือจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นการ subsidize ก็ดีหรือเป็นการหลบเลี่ยงพิกัดที่โดนอากร ผลที่ตามมาคือผู้บริโภคอาจต้องเจอกับสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐาน และจะส่งผลต่อความปลอดภัยในการใช้งาน”

 

นอกจากนี้กลุ่มท่อเหล็กจะต้องนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนและเหล็กแผ่นรีดเย็นชุบสังกะสีเพื่อนำมารีดเป็นท่อเหล็ก ที่ปัจจุบันมา สมอ. ได้มีการออก มอก.50/2561 ซึ่งเป็น มอก.บังคับ โดยทั่วไปแล้ว มอก. บังคับทางเจ้าหน้าที่ สมอ. จะต้องบินไปตรวจโรงงานผู้ผลิตต่างประเทศเพื่อขึ้นทะเบียน LOC สำหรับใช้ในการขออนุญาตนำเข้าถาวร แต่ปัจจุบันเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้การนำเข้าเกิดความล่าช้าต่อการใช้งาน อาจส่งผลให้สินค้าขาดแคลนชั่วคราวได้

 

 “เวลานี้ทุกครั้งที่นำเข้าจะต้องรอคิวเป็นร้อย ๆ อินวอยซ์ (ใบขนสินค้า) สมอ.ควรจะพิจารณารายที่มีเอกสารครบถูกต้องก่อน พิจารณาก่อนให้อนุมัติได้ไม่เกิน 3 วัน นับจากวันที่ยื่นอินวอยซ์”

 

นอกจากนี้ปัจจุบันท่อเหล็กเชื่อมตะเข็บยังไม่ได้กำหนดเป็นมาตรฐานบังคับ ก็จะทำให้มีการนำเข้ามาได้มากขึ้น และง่ายขึ้น เพราะมีการนำเข้ามาโดยเปลี่ยนพิกัดสินค้าเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการ AD

 

อย่างไรก็ดีทางสมาคมฯได้มีการทำงานร่วมกับสถาบันเหล็กและสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพในการออกมาตรฐานวิชาชีพผลิต forming ท่อเหล็กเมื่อปี2562 และปี 2563 นี้ทางสมาคมได้มีการต่อยอดโดยการขอทำมาตรฐานเพิ่มอีก 2 มาตรฐานได้แก่ มาตรฐานการmaintenance เครื่องจักร และQC เพื่อเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมท่อให้เป็นที่ยอมรับผู้ผลิตท่อในประเทศ และให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

 

นำเข้าตัวแปรสำคัญ "แช่แข็ง" ท่อเหล็กไทย 7 หมื่นล้าน

 

รัฐช่วยได้ระดับหนึ่ง

สำหรับเครื่องมือในการปกป้องท่อเหล็กในประเทศ ปัจจุบันมีการออกมาตรการAD สินค้าท่อเหล็กจากจีน และเวียดนามออกมา ซึ่งช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ยังมีผู้นำเข้าสินค้าเข้ามาโดยเปลี่ยนพิกัดสินค้าเพื่อหลบเลี่ยงมาตรการ AD ปัจจุบันทางกรมการค้าต่างประเทศได้มีการออกกฎหมายที่ชื่อ Anti circumvention (AC) โดยหลักๆ AC จะทำหน้าที่เป็นกำแพงอีกชั้นสำหรับผู้ที่มีการนำเข้ามาเพื่อหลบเลี่ยงAD ซึ่งคิดว่า AC น่าจะออกได้ภายในสิ้นปีนี้ รวมถึงมีแผน Thailand first ซึ่งภาครัฐได้มีการสนับสนุนให้ใช้สินค้าที่ผลิตในประเทศไทยก่อนที่จะมีการนำเข้า ซึ่งตรงนี้ถือว่าเป็นข้อดีอย่างมากสำหรับอุตสาหกรรมภายในประเทศ

 

นำเข้าตัวแปรสำคัญ "แช่แข็ง" ท่อเหล็กไทย 7 หมื่นล้าน

 

“ต้องขอบคุณภาครัฐโดยเฉพาะสำนักปกป้องและตอบโต้ทางการค้า กรมการค้าต่างประเทศ รวมถึง สมอ. ที่ช่วยสนับสนุนและปกป้องอุตสาหกรรมท่อเหล็ก และจัดทำมาตรฐานสินค้าต่างๆ ปัจจุบันมาตรการต่างๆ ที่ออกโดยภาครัฐถือว่าเพียงพอในระดับหนึ่ง แต่ต้องยอมรับว่าผู้ส่งออกของต่างประเทศก็พยายามหาช่องทางในการส่งเข้ามา ทางสมาคมฯและหน่วยงานภาครัฐเองก็ได้มีการทำงานร่วมกันเพื่อออกกฎหมายป้องกันการนำเข้าอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้มาตรฐาน” 

 

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3611 วันที่ 20-23 กันยายน 2563 หน้า 9 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มเหล็กเฮ จัดซื้อจัดจ้างภาครัฐใช้เหล็กในประเทศ

เหล็กจีนทุ่มตลาดไม่หยุด วิกฤติรุนแรง “ไทย-โลก”

"เวียดนาม" ยอดใช้เหล็กพุ่ง สูงสุดในอาเซียน 4 ปีซ้อน