FIGHT or FLIGHT / สู้หรือหนี?  

19 ก.ย. 2563 | 02:54 น.

FIGHT or FLIGHT / สู้หรือหนี? กรณีทหารพระ กับ พระทหารจากวาติกัน ถึง โปตาลา ตอน1

ถ่ายทอดเรื่องราวคราวทารกพระเยซูเจ้าต้องเสด็จลี้ภัย ออกไปจากอาณาจักรของพระเจ้าแฮรอด (เฮโรด) ครูฝรั่งก็เล่าให้ฟังมาแต่เด็กว่า พระเยซูเจ้าทรงเปนมหาบุรุษมีบริสุทธิภาวะแต่แรกด้วยทรงกำเนิดมาโดยปฏิสนธินิรมล ในครรภ์ของพระแม่มารี อย่างบริสุทธิภาวะโดยปลอดสังวาส (Virgin Mary) ตามปกติมนุษยปุถุชน

เวลานั้นปุโรหิตราชครูของพระเจ้าแฮรอดส่องมองดาวบนนภาทราบว่าผู้มีบุญญาธิการได้เสด็จเยี่ยมภพโลกโดยถือกำเนิดในภูมิมนุษย์แล้วเพ็ดทูล พระเจ้าแฮรอดผู้ครองแผ่นดินตามนิมิตฤกษ์วิชาดังนั้น พระเจ้าแฮรอดก็ถามว่า : ที่ว่ามีบุญนั้น_ขนาดไหน?

เมื่อได้รับคำตอบว่า มีบุญยิ่งกว่าตัวผู้ถามแถมยังจะสยบผู้ถามได้ราบคาบเสียด้วย ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้เหล่าทหารตำรวจออกเคาะประตูบ้านพิฆาตไล่ฆ่าทารกเเบเบาะเพิ่งกำเนิดนั้นเสียให้หมดเสี้ยนหนามตำแผ่นดินทุกหลังคาเรือนไป

 

รูป The Flight into Egypt รูปนี้ เปนรูปศิลปะทรงคุณค่างดงามของเอกอัครศิลปินแอดัม เอซไชล์มเมอร์

พระบิดาแห่งพระเยซูเจ้า (ในภพนี้) คือช่างไม้โยเซฟได้ทราบข่าวแล้วไม่คิดต่อสู้ต้านทานพระบรมเดชานุภาพแห่งพระเจ้าแฮรอด เร่งรุดหอบพระเยซูทารกพร้อมพระแม่มารีขึ้นหลังลาพาออกนอกพระราชอาณาเขตเยรูซาเล็ม เข้าพึ่งใบบุญแผ่นดินอียิปต์

คริสตศิลปินทั้งหลายนิยมวาดภาพเหตุการณ์ระทึกนี้ เปนเครื่องเตือนใจศาสนิกถึงความลำบากตรากตรำพระเยซูเจ้าต้องทรงประสพก่อนจะทรงเผยแผ่ศาสนาเปนที่พระศาสดา

รูปแอดัม ผู้วาด THE FLIGHTฯ

แต่จะมีผู้ใดสามารถสำแดงความอลอึงของบรรยากาศขมุกขมัวบนเส้นทางกันดารยามดึกโขได้ดีเท่าแอดัม เอลไชเมอร์ ผู้มีสายตาแลไปในอณูอากาศอันรัตติกาลโดยเห็นละอองความอัดอั้นนั้นๆอวลอลอยู่และนำเสนอให้ผู้ชมได้เห็นด้วยสีเขียวหม่นทึมแทรกอยู่ในท่ามกลางม่านกำมะหยี่ราตรีสีครามอันมืดทึบ ให้สัมผัสได้ถึงกระแสลมแห่งโภยภัยโบกโบยเยือกเร้นระหว่างการเดินทางอันวางใจในความปลอดภัยหามิได้

ป่านฉะนี้มูลค่าราคาคงจะถึงพันล้านบาทไม่น่าจะขาด (มีแต่เกิน)

Flight ในที่นี้มีนิยามความหมายค่อนจะลึก หาได้หมายถึงการหลบลี้หนีภัย โดยปฏิเสธการต่อสู้ต่อกรแต่เพียงอย่างเดียว แต่มีนัยยะครอบลงไปถึงว่าการลี้ภัยนั้นมีลักษณาการคล้ายเดินหนไปบนกระแสอากาศอย่างซึ่งปุถุชนธรรมดาไม่อาจหาญกล้าไปเดินอย่างนั้น ซึ่งค่อนจะตรงกับคำเราว่า จรลี แต่จะละไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้

 

 

จากรูปนี้สมเด็จพระสันตปาปาปัจจุบันพระราชทานพระหัตถ์โดยลำลองแด่ทหารสวิสรักษาพระองค์ (Swiss Guard) 

ก็จะกล่าวถึงเพียงว่า ครั้นหมดวาระพระชนม์ชีพบนภพมนุษย์โลกของพระเยซูเจ้าแล้ว ฝ่ายโรมันคาทอลิก ยังคงเชื่อมต่อพระองค์ท่านด้วยผู้แทนฝ่ายมนุษย์คือ พระสันตปาปาสมเด็จพระสันตปาปา ผู้สถิตอยู่ที่นครวาติกัน และทรงฉลองพระบาทสีแดงอย่างเลือดพระมหาไถ่ตามที่เคยเล่าไว้

สมเด็จพระสันตปาปา ผู้แทนพระองค์พระศาสดานั้น คราวเมื่อห้าร้อยปีก่อนนี้ กรุงโรมแตกก็ทรงเคยต้องเสด็จลี้ภัย_ flight เช่นกัน

ปล่าว_ยุคนั้นจะเสด็จเดินหน ด้วยเครื่องบิน Shepherd 1 (ชุมพาบาล1) ส่วนพระองค์ เหมือนยุคนี้ที่พวกอเมริกันตั้งชื่อหยอกเย้าก็หามิได้ เสด็จโดยมีกองกำลังสวิสการ์ด ถวายอารักขา และกองกำลังบางส่วนพลีชีพถ่วงเวลาให้เสด็จหนีรอดปลอดภัย วีรกรรมของกองทหารสวิสซึ่งรับค่าจ้างจากศาสนจักรนั้นเข้มแข็ง ซื่อตรง เปนที่ไว้วางใจของสันตะสำนัก (Holy see) เรื่อยมานับจนบัดนี้

รูปทหารสวิสรักษาพระองค์ตั้งแถวรับเสด็จพระสันตะปาปา

การปฏิญาณตนของทหารสวิสใหม่เขากระทำกันวันที่ 6 พ.ค. ของทุกปี อันเปนวันที่กรุงโรมแตกและทหารสวิสเพียงหยิบมือได้ประกอบวีรกรรมทั้ง Fight_ต่อสู้ และ Flight_พาหลบหนีซึ่งพระสันตปาปาเจ้านายผู้ว่าจ้างตน

ทั้งนี้คนจะเปนทหารในหน่วยนี้ได้ต้องมีสัญชาติสวิสเท่านั้น และต้องเปนคาทอลิกเสมอไป ทั่วไปแล้วอายุไม่ควรเกิน 30 แต่งชุดเหมือนเดิมในอดีต แต่ฝึก
วิชาอาวุธทันสมัยเพิ่ม

กองกำลังสวิส การ์ดนี้ในอดีตรับจ้างเอาจริงเอาจัง ประดากษัตริย์ราชวงศ์ต่างๆนิยมว่าจ้าง โดยเฉพาะวงศ์ซาวอย และวงศ์ออเรนจ์ แต่ปัจจุบันรัฐธรรมนูญสวิสห้ามไว้ ให้รับจ้างได้แต่เฉพาะสันตสำนัก

รูปเหตุการณ์ลอบสังหาร สมเด็จจอห์น ปอล ที่ 2

อาจจะมีพลาดพลั้งไปบ้างก็เมื่อคราวเกิดการลอบปลงพระชนม์สมเด็จนักบุญจอห์น ปอลที่ 2 โดยบุรุษนอกศาสนา สมเด็จนักบุญพระองค์นั้นโดนกระสุนเข้าที่สำคัญสี่นัดซ้อน ทว่าทรงรอดมาได้อย่างน่าอัศจรรย์ แล้วด้วยพระขันติธรรมสูงยิ่ง ต่อมาโปรดประทานอภัยแก่คนร้ายผู้นั้น นับเปนปาฏิหาริย์ฝ่ายพระมหาไถ่ เฝ้าคอยไถ่บาปคนบาปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีโอกาสจะได้เล่าสู่กันฟังต่อไป

ต่อตอน 2

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 23 ฉบับที่ 3,611 วันที่ 20 - 23 กันยายน พ.ศ. 2563