พิษใช้ไปพลางก่อน ใช้เงินได้ 9 แสนล้าน

19 ก.ย. 2563 | 06:30 น.

พิษใช้ไปพลางก่อน ใช้เงินได้ 9 แสนล้าน : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3611 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 20-23 ก.ย.63 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

พิษใช้ไปพลางก่อน

ใช้เงินได้ 9 แสนล้าน
 

     มีแต่ซื้อหวยเท่านั้นที่ไม่ถูก แต่ถ้าทำนายตัวเลขเศรษฐกิจละก้อ....แป๊ะ...ไม่ได้โม้
 

     ผมทำข้อมูลรายงานข่าวในรายการ NewsRoom : ห้องข่าวเศรษฐกิจ ทางสถานีโทรทัศน์ เนชั่นทีวี ช่อง 22 ว่า การที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีมติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2536 ไปพลางก่อน ในระหว่างที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ยังเสร็จไม่ทันที่จะประกาศใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 นั้น จะทำให้รัฐบาลลุงตู่มีงบประมาณใช้จ่ายเพียงแค่ 827,997 ล้านบาทเท่านั้น มิใช่ 3.3 ล้านล้านบาท ตามกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 ที่ตั้งไว้และกำลังพิจารณากันในชั้นของรัฐสภา
 

พิษใช้ไปพลางก่อน ใช้เงินได้ 9 แสนล้าน

     และการที่รัฐบาล “ใช้งบไปพลางก่อน” ตามกฎหมายที่ให้อำนาจรัฐบาลเพื่อแก้ปัญหาในเรื่องการตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีนั้น จะทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการลงทุนของภาครัฐสะดุดไปไม่น้อย เพราะช้าไป 1 เดือนเท่ากับเลื่อนไป 2-3 เดือนเชียวแหละ
 

     เพราะอะไรนะหรือ เพราะขั้นตอนของการประกวดราคา การประมูล จะยื้อออกไป เงินที่จะไหลเข้าสู่ระบบเพื่อทดแทนกำลังซื้อของภาคเอกชนจะเหือดหายไป
 

     นักการเมืองและรัฐมนตรีหลายคนมาถามผมว่า จริงหรือ ...ไม่น่าจะใช่น่า...
 

คาดการณ์ขยายตัวส่งออกของไทยปี 2563

     15 กันยายน 2563 เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ได้ออกมายืนยันว่า ข้อมูลผม ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง โดยระบุว่า ได้มีการขอความเห็นชอบกรอบการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไปพลางก่อน จากคณะรัฐมนตรี เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จะเสร็จไม่ทันตามกำหนดเวลา และคาดว่า กระบวนการของสภา จะพิจารณาจนกระทั่งมีผลบังคับใช้จะอยู่ในช่วงกลางเดือน ต.ค.เป็นต้นไป
 

     เดชาพิวัฒน์บอกแบบนี้ การใช้งบประมาณไปพลางก่อนครั้งนี้ จะกำหนดสัดส่วนการใช้งบประมาณตามแนวทางเดิมกับการขอใช้งบประมาณไปพลางก่อนเมื่อปี 2562 คือ กำหนดให้ใช้เงินไม่เกิน 25% ของวงเงินงบประมาณ ในกรณีนี้จะทำให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายประมาณ 9 แสนล้านบาท ซึ่งถือเป็นจำนวนเงินที่คำนวณแล้วว่า จะช่วยทำให้รัฐบาลมีเงินใช้จ่ายเพียงพอไปอีกอย่างน้อย 3 เดือน หรือ จนถึง ธันวาคม 2563
 

     เดชาภิวัฒน์ อธิบายว่า กรอบงบประมาณที่จะเสนอขอใช้ไปพลางก่อน จะทำให้ทุกรายการเบิกจ่ายสามารถดำเนินการได้ทันที ซึ่งรวมถึงการก่อหนี้ผูกพันในโครงการต่าง ๆ ด้วย
 

เปิดเงินกู้ 4 รัฐบาล

     อย่างไรก็ตาม ปัญหาเกี่ยวกับความล่าช้าของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 นี้ จะไม่กระทบต่อการดำเนินการทุกโครงการของรัฐบาล ซึ่งจะรวมถึงงบลงทุนด้วย เนื่องจากโดยสถิติแล้ว รายการที่เป็นงบลงทุนในแต่ละปี เมื่อมีการลงนามในสัญญาแล้ว กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 60 วัน เท่ากับว่า กว่าจะใช้ได้ใช้งบลงทุนจริง ๆ ก็อยู่ในช่วง ธ.ค.เป็นต้นไป ซึ่งเชื่อว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2564 จะมีผลบังคับใช้ทันช่วงเวลาดังกล่าวแน่นอน
 

     และในที่สุดวันที่ 15 กันยายน ครม.ลุงตู่ก็มีมติเห็นชอบข้อเสนอ  หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ไปพลางก่อน ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ เนื่องจากพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จะประกาศใช้บังคับไม่ทันในวันที่ 1 ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 141 ที่บัญญัติให้ในกรณีพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณออกไม่ทันปีงบประมาณใหม่ ให้ใช้กฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายในปีงบประมาณปีก่อนนั้นไปพลางก่อน และพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 มาตรา 12 ที่บัญญัติให้ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณที่ล่วงแล้วมาใช้ไปพลางก่อนได้
 

     แล้วการใช้งบไปพลางก่อนนั้น มีสาระสำคัญอะไรบ้าง กระทบกับใครบ้าง
 

     1. หน่วยรับงบประมาณทั่วไป ให้สำนักงบฯมีอำนาจจัดสรรงบประมาณรายจ่ายให้หน่วยรับงบประมาณได้ไม่เกินหนึ่งในสี่ ของกรอบวงเงินของแผนงานและรายการตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงที่มีการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 การโอนตามกฎหมายอื่น และการโอนตามมาตรา 35 ของ พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
 

     แปลความได้ว่าบรรดากระทรวง กรม กองต่างๆ ที่ตั้งเรื่องของบประมาณไว้ราว 1.2 ล้านล้านบาท จะใช้งบประมาณได้ไม่เกิน 1 ใน 4 เท่านั้น
 

เปิดเงินกู้ 4 รัฐบาล

     2. หน่วยรับงบประมาณที่ตั้งขึ้นใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ที่ได้รับโอนงบประมาณรายจ่ายมาจากหน่วยรับงบประมาณอื่น ให้สำนักงบฯ มีอำนาจจัดสรรงบประมาณได้เต็มจำนวนงบประมาณรายจ่ายแต่ละแผนงานตามที่ได้รับโอนมาในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 และหากยังไม่เพียงพอ อาจจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นได้ และไม่ต้องขออนุมัติจากนายกรัฐมนตรีและคระรัฐมนตรี
 

     3. เทศบาลนคร เทศบาลเมือง  ให้ สำนักงบฯ จัดสรรงบประมาณให้ได้เฉพาะค่าใช้จ่ายบุคลากรและเงินสงเคราะห์หรือสวัสดิการที่จ่ายแก่ประชาชน ไม่เกินหนึ่งในสี่ของงบประมาณที่ได้รับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 โดยจัดสรรให้จากงบประมาณรายจ่ายงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น และจัดสรรไปได้เลยโดยไม่ต้องขออนุมัติจากนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรี

     กรณี การจัดสรรงบประมาณเกินกว่าหรือนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ข้างต้น ให้ สำนักงบฯ มีอำนาจจัดสรรงบประมาณได้ตามความจำเป็น เฉพาะกรณี เช่น รายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญาการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ และการดำเนินการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน แต่ต้องไม่เกินวงเงินงบประมาณรายจ่ายตามที่กำหนดไว้ในแต่ละแผนงาน และรายการตามพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 รวมถึงที่มีการโอนงบประมาณรายจ่ายตามพ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย พ.ศ. 2563 การโอนตามกฎหมายอื่นและการโอนตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561
 

     สำหรับการใช้จ่ายงบประมาณ ให้หน่วยรับงบประมาณจ่ายเงิน หรือก่อหนี้ผูกพันได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563 โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 โดยให้สำนักงบฯ มีอำนาจกำหนดวิธีปฏิบัติในการอนุมัติเงินจัดสรรการบริหารงบประมาณรายจ่าย และการหักงบประมาณรายจ่ายออกจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 และให้ผู้อำนวยการสำนักงบฯ มีอำนาจวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข
 

เปิดเงินกู้ 4 รัฐบาล

     สำหรับการกำหนดวิธีปฏิบัติฯ สำนักงบฯ จะแจ้งหลักเกณฑ์และเงื่อนไขนี้ให้หน่วยรับงบประมาณทราบและให้จัดทำแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณตามความจำเป็น ที่จะต้องใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันในไตรมาสที่ 1 และส่งให้สำนักงบฯ ภายในวันที่ 15 กันยายน 2563 และเมื่อสำนักงบฯ พิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว จะอนุมัติเงินจัดสรรให้หน่วยรับงบประมาณใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันได้เมื่อเริ่มต้นปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
 

     หากเห็นภาพไม่ชัด ผมจะพามาดูนี่ งบรายจ่ายประจำปี 2563 ตั้งไว้ 3.2 ล้านล้านบาท ใช้ได้ 1 ใน 4 เท่ากับ 8 แสนล้านบาท
 

     แต่หากรวมหมวดที่เปิดข้อยกเว้นไว้ 3 กรณี คือ1. เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา และคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาล 2.ต้องดําเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทําไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงิน ระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ 3.ภารกิจพื้นฐานหรือมีความจําเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากไม่ดําเนินการจะเสียหาย ต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ยอดจึงตกประมาณ 9 แสนล้านบาท
 

เปิดเงินกู้ 4 รัฐบาล

     แล้วการใช้ไปพลางก่อนนี่กระทบอย่างไรนะหรือมาดูนี่
 

     งบกลางที่ตั้งไว้ 614,616 ล้านบาท รัฐบาลลุงตู่จะใช้ได้ 1 ใน 4 เท่ากับ 153,654 ล้านบาท
 

     งบของหน่วยรับงบประมาณได้จัดสรร 1,135,182 ล้านบาท จะใช้ได้ 1 ใน 4 เท่ากับ 283,795 ล้านบาท
 

     งบรายจ่ายบูรณาการได้รับการจัดสรร 257,877.9 ล้านบาท เพื่อใช้ใน 14 เรื่อง ใช้ได้ 1 ใน 4 เท่ากับ 64,469 ล้านบาท
 

     งบรายจ่ายบุคลากร ได้จัดสรร 776,887.7 ล้านบาท ใช้ได้ 1 ใน 4 เท่ากับ197,221 ล้านบาท
 

     งบรายจ่ายสำหรับทุนหมุนเวียนได้รับจัดสรร 221,981 ล้านบาท ใช้ได้ 1 ใน 4 เท่ากับ 55,495 ล้านบาท
 

     งบเพื่อการชำระหนี้ภาครัฐได้รับจัดสรร 293,454  ล้านบาท  ใช้ได้ 1 ใน 4 เท่ากับ 73,363 ล้านบาท
 

     ชัดหรือยังครับ!