การพูดการฟังที่ผู้อื่นตำหนิไม่ได้ที่พระพุทธเจ้าสอน

17 ก.ย. 2563 | 03:48 น.

คอลัมน์ทำมา... ธรรมะ​ โดย​ ราช​ รามัญ

 

การพูดเป็นการสื่อสารที่สำคัญ​ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม​ถ้าไม่มีเสน่ห์ในการพูดเมื่อไหร่​ เครดิตย่อมจะไม่มีตามไปด้วย

ไม่ใช่ทำเหมือนนักการเมืองบางคน​ พอสื่อถามอะไร​ ก็จะพูดว่า

"ไม่รู้ไม่มี​ ไม่มีไม่รู้"

การพูดที่งดงาม​และใครๆไม่สามารถแย้งเรากลับคืนได้​ มีดังนี้

1​. พูดโดยรู้จักสมเหมาะตามเวลา บางครั้งพูดความจริง​แต่ทว่าไม่ถูกเวลาความจริงนั้นก็หามีประโยชน์อะไรไม่​ 

2.พูดตามความจริง​ พูดความจริงเสมอโดยไม่เจือปนสิ่งที่เราเติมแต่ง​ เป็นความจริงที่เกิดขึ้นแล้วไม่ใช่การคาดคะเน

3.พูดด้วยคำสุภาพ.อ่อนหวาน คำจริงนั้นต้องประกอบไปด้วยคำที่อ่อนหวานสุภาพนุ่มนวลเสมอ

4​.พูดประกอบด้วยประโยชน์ พูดด้วยความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ฟังเสมอ

5.พูดด้วยความเมตตา พูดความปรารถนาดีมากกว่าพูดด้วยต้องการเอาชนะ​

นี่เป็นหลักการพูดที่ถึงพร้อม​และสมบูรณ์ที่สุด​ 

ด้านการฟัง การที่เราไม่ฟังใครเพราะคิดว่าตนเก่งกว่า​ ตนเกิดมาก่อน​ ตนประสบการณ์มากกว่า​ ตนมีความรู้กว่า​ ล้วนเป็นหนทางแห่งการนำพาไปสู่หายนะ​ 

แม้พระพุทธเจ้า​ พระองค์ยังคงฟังผู้อื่นเสมอ​ ทั้งที่พระองค์เป็นสัพพัญญู​ ระหว่างที่ฟังก็ทรงตั้งใจฟัง​ ใคร่ครวญในการฟังเสมอ​ 

คนดีเวลาฟังผู้อื่นต้องฟังแบบนี้ไม่ใช่ตะคอกใส่ตะคอกกลับทันทีหลังจากฟังเพียงเล็กน้อยเหมือนนักการเมืองที่อ้างตนเป็นคนดีมาช่วยแก้ไขปัญญา​ แต่กลับไม่ฟังความเห็นต่างอวดรู้ไปทุกเรื่อง​ตะคอกตหวาด​สื่อมวลชนเป็นว่าเล่น​

การ​ฟัง​ทำให้เราได้ยินเสียงหัวใจเขาว่าต้องการอะไร​  การฟังทำให้เราเข้าใจความคิดเขา​ การฟังทำให้เรารู้จักเขามากขึ้น​ 

ถ้าเรารู้จักทั้งฟังทั้งพูดที่ดี​ เราก็จะเป็นผู้นำองค์กรที่ดี​ ผู้บริหารที่ดีได้​  

ลองนำเอาไปปรับใช้กัน​ จะเห็นผลอย่างยิ่งทั้งการพูดและการฟัง ที่จะทำให้วิธีการสื่อสารของคุณมีผลลัพธ์ที่เป็นบวกมากกว่าลบ