ใครได้ ใครเสีย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

17 ก.ย. 2563 | 07:00 น.

ใครได้ ใครเสีย กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ : คอลัมน์ข้าพระบาท ทาสประชาชน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3610 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 17-19 ก.ย.2563 โดย...ประพันธุ์ คูณมี

 

ใครได้ ใครเสีย

กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
 

     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เริ่มมีการประกาศใช้เป็นฉบับแรกหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี พ.ศ.2475 ผ่านเวลามาเพียง 88 ปี ประเทศไทยของเรา มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญถึงฉบับปัจจุบันคือปี พ.ศ.2560 รวมแล้วทั้งสิ้นถึง 20 ฉบับ ถือได้ว่าไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ใช้รัฐธรรมนูญสิ้นเปลืองที่สุดติดอันดับโลก
 

     รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่ 20 ปี 2560 ผ่านการร่างถึง 2 รอบ จากกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ 2 คณะ ผ่านการลงประชามติเห็นชอบของประชาชนทั้งประเทศ มีรัฐพิธีและเพิ่งประกาศใช้มาได้เพียงแค่ 3 ปี สิ้นเงินค่าใช้จ่ายในการจัดทำและร่างรัฐธรรมนูญ ไม่น้อยกว่า 15,000 ล้านบาท  

     มาวันนี้ก็มีการเรียกร้องและเสนอให้มีการแก้ไขและยกร่างใหม่ทั้งฉบับอีกแล้ว ทั้งการเรียกร้องจากประชาชนกลุ่มหนึ่ง และโดยการเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยพรรคการเมืองฝ่ายค้าน เพื่อขอแก้ไขมาตรา 256 เปิดประตูสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.มาดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ต่อไป
 

     ซึ่งทราบว่าขณะนี้ ประธานสภาฯ นายชวน หลีกภัย ได้บรรจุญัตติดังกล่าวในวาระการประชุมแล้ว ในขณะที่พรรคพลังประชารัฐ โดย นายไพบูลย์ นิติตะวัน ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการบรรจุญัตติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 4 ญัติติของฝ่ายค้านเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา กรณีจึงต้องติดตามต่อไปว่า กระบวนการเดินหน้าขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเป็นไปอย่างไร ประเทศต้องติดกับดักอยู่กับปัญหารัฐธรรมนูญอีกหรือไม่ อย่างไร ล้วนเกี่ยวกับอนาคตของบ้านเมืองว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ประเทศชาติและประชาชนจะได้ประโยชน์อะไร
 

     ในช่วงเวลา 20 ปีมานี้ (2540-2560) หากย้อนดูการเมืองไทยในอดีต ประเทศไทยของเรา ติดกับดักและจมปลักอยู่ปัญหาการเมืองยังไม่จบสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งล้วนล้อมรอบอยู่กับปัญหาใจกลางที่ยังวนเวียนอยู่กับการ "ยกเลิกรัฐธรรมนูญ-ร่างรัฐธรรมนูญใหม่-แก้ไขรัฐธรรมนูญ-และก็ยกเลิกรัฐธรรมนูญ" ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาทุกๆ 10 ปี พอดิบพอดี คือประเทศได้ลงทุนและเสียงบประมาณค่าใช้จ่ายเพื่อการร่างและจัดทำรัฐธรรมนูญในช่วง 20ปี รวม 3 ฉบับ คือปี 2540, 2550 และ 2560 โดยทั้ง 3 ครั้งนั้น มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ มีกระบวนการยกร่างโดยคณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ และมีกระบวนการประชามติให้ความเห็นชอบจากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ
 

     กล่าวโดยเฉพาะรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับนี้ ประเทศต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าฉบับละ 5,000-10,000 ล้านบาท แม้จะเกิดขึ้นด้วยปัญหาและความจำเป็นของบ้านเมือง อันเกิดจากวิบากกรรมทางการเมืองของประเทศ ที่มิอาจกล่าวโทษใครคนใดคนหนึ่งได้ก็ตาม แต่ก็มีคำถามว่า การที่ประเทศวนเวียนเป็นวงจรอุบาทว์ อยู่กับปัญหาเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่รู้จบสิ้นนี้ มันคุ้มกับเวลาและค่าใช้จ่ายที่ประเทศต้องเสียไปหรือไม่ รัฐธรรมนูญได้มีส่วนทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยที่สร้างสรรค์ จรรโลงชาติจริงหรือไม่ บ้านเมืองได้มีการปฏิรูประบอบการเมืองที่ดีขึ้นกว่าเดิมจริงหรือไม่ รัฐธรรมนูญคือคำตอบของสังคมไทยจริงหรือไม่ และสุดท้ายใครได้ใครเสียกันแน่กับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นักการเมืองหรือประชาชน ประโยชน์สุขตกแก่ประชาชนจริงหรือไม่

     เมื่อพิจารณาความคาดหวังกับความเป็นจริงของประเทศ หรือความต้องการของประชาชนแล้ว ความจริงกลับสวนทางกันโดยสิ้นเชิง 20 ปี ที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญปี 2540 ที่คิดว่าร่างกันมาดีแล้ว ประชาชนแซ่ซ้องสรรเสริญยอมรับ แต่ก็ก่อกำเนิดรัฐบาลโคตรโกง เผด็จการรัฐสภา สร้างระบอบธนาธิปไตย ได้ระบอบทักษิณมาแทน
 

     รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ร่างขึ้นใหม่ปรับปรุงเนื้อหาหลักการให้ดีขึ้น ปิดช่องนักการเมืองโกง สร้างกลไกใหม่เพื่อการตรวจสอบนักการเมืองเพิ่มขึ้น แต่ก็ได้รัฐบาลหุ่นเชิดระบอบทักษิณ นักการเมืองโกงทุจริตมโหฬารหนักกว่าเดิม ก่อมหกรรมการโกงการทุจริตจำนำข้าว จนประเทศแทบล้มละลาย การเมืองในประเทศมีแต่ความวุ่นวาย จลาจล และสงครามกลางเมือง ท้องถนนเต็มไปได้ด้วยระเบิด เหตุการณ์ความรุนแรง การฆ่าฟันประชาชนที่ออกมาใช้สิทธิ เสรีภาพชุมนุมหรือแสดงความคิดเห็นทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ แบบรัฐบาลหลิ่วตาหรือรู้เห็นกับกองกำลังอันธพาลการเมือง บ้านเมืองสาหัสกว่าเดิม มีการเผาทำลายทรัพย์สินทางราชการ เอกชน โดยกลุ่มการเมือง บ้านเมืองไร้ความสงบสุข
 

     ส่วนรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้มา 3 ปี บ้านเมืองที่อยู่ในภาวะสงบเรียบร้อย กำลังก่อเค้าปัญหาใหม่ทางการเมือง และจะจบลงอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องติดตามและรอดูคำตอบ อยู่ที่คนไทยจะเก็บรับบทเรียนในอดีตอย่างไร เพื่อกำหนดอนาคตบ้านเมืองของตน
 

     แม้ผู้เขียนจะเคยผ่านเหตุการณ์การต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตย มาในทุกๆเหตุการณ์ในอดีต เพื่อเรียกร้องให้มีรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยในปี 2516 ต่อสู้เพื่อความเป็นประชาธิปไตยในยุคคนรุ่นใหม่ในอดีต หรือเคยเข้าร่วมการต่อสู้ภาคประชาชนในหลายเหตุการณ์ ไม่ว่าพฤษภาทมิฬ ปี 2535 หรือการชุมนุมของพันธมิตรฯ และ กปปส.
 

     แต่เมื่อเหลียวหลังแลหน้า สรุปบทเรียนกับตนเองแล้ว อยากบอกน้องๆ เด็กๆ คนรุ่นใหม่ และประชาชนผู้ยังเชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญ คือยาสารพัดนึกของประเทศ คือทางออกของปัญหาการเมืองไทย ว่า 20 ปีมานี้ประชาชนอย่างเราๆแม้จะมีความคิดดี สุจริตใจต่อบ้านเมืองเพียงใด ประชาชนทั้งหลายก็ทำได้เพียง "เตะหมูเข้าปากหมา" เท่านั้นแหละครับ ตราบใดที่ประเทศของเรา ไร้สิ้นซึ่งผู้นำชาติที่กล้าหาญ กล้าเสียสละ กล้าปฏิรูปเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
 

     ผู้นำที่กล้าทำสงครามกับคนชั่ว คนโกงปกป้องสุจริตชน ไม่เห็นแก่พวกพ้องน้องเพื่อน พร้อมอุทิศตนทุ่มเทและต้อสู้เพื่อการสร้างชาติ มีจิตใจรับใช้และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับประชาชนมีความพร้อมและกล้าหาญในการสร้างระบอบการการปกครองประเทศที่ดี เพื่อรวมไทยสร้างชาติจริงๆ (ไม่ว่าจะเรียกชื่อการปกครองนั้นว่าอะไร) ต่อให้เราแก้รัฐธรรมนูญอีกกี่ 100 ครั้ง การเมืองไทยก็เป็นจะอย่างที่เห็นและเป็นอยู่เช่นนี้แล คิดหาทางออกใหม่ วิธีการใหม่ เพื่อนำชาติให้พ้นภัยดีกว่า