เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน

16 ก.ย. 2563 | 04:20 น.

เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย  ผศ.ดร.สินีนาฏ เสริมชีพ  คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,610 หน้า 5 วันที่ 17 - 19 กันยายน 2563

 

การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านดิจิทัลที่รวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลให้การใช้ชีวิตของคนเราเปลี่ยนแปลงไป ผู้บริโภคหันมาซื้อสินค้าออนไลน์และจับจ่ายใช้สอยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้น การผลิตและรูปแบบการค้าและบริการของผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงไป มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพและมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิต รวมถึงการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เป็นช่องทางเชื่อมโยงกับผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบัน และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่สำคัญในอนาคตของประเทศและภูมิภาคต่างๆ 

 

เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนเติบโตอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา รายงาน e-Conomy Southeast Asia 2019 โดย Google, Temasek Holding, and Bain & Company ระบุว่ามูลค่าเศรษฐกิจดิจิทัลของอาเซียนในปี 2019 ขยายตัวเกือบ 40% จากปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐในปี 2025 ทั้งนี้การคาดการณ์ดังกล่าวยังไม่ได้รวมผลของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา

 

ปัจจัยหลักที่ผลักดันให้เกิด การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนคือ การขยายตัวของกลุ่มคนรายได้ระดับปานกลาง การเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้ใช้อินเตอร์เน็ต และการปรับตัวของธุรกิจในภูมิภาค รวมถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่หันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ 4 ธุรกิจหลักที่เป็นส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนคือ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) ท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel) สื่อออนไลน์ (Media Online) และบริการเรียกรถ (Ride Hailing) รวมถึงบริการส่งอาหาร

 

อินโดนีเซีย และ เวียดนาม เป็นประเทศผู้นำด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน โดยมีการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลสูงถึง 49% และ 38% ตามลำดับในช่วงปี 2015-2019 มี มูลค่าเท่ากับ 40 พันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับอินโดนีเซีย และเท่ากับ 12 พันล้านเหรียญสหรัฐสำหรับเวียดนามในปี 2019 

 

 

เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน

 

 

การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลของอินโดนีเซียมีปัจจัยหลักจากอุปสงค์ต่อพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และบริการเรียกรถที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มี Startup มากกว่า 2,000 บริษัท โดยมี Unicorn หรือ Startup ที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านเหรียญ สหรัฐ 4 บริษัท คือ Bukalapak แพลตฟอร์มค้าออนไลน์, Gojek แอพพลิเคชันรถจักรยานยนต์รับจ้าง, Tokopedia แพลตฟอร์มค้าออนไลน์และ Traveloka แพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์

 

เศรษฐกิจดิจิทัลของเวียดนามเติบโตโดยมีการขยายตัวของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์เป็นปัจจัยหลัก โดยมีบริษัท Sendo และ Tiki ของเวียดนามเป็นผู้เล่นสำคัญในตลาดที่แข่งขันกับผู้เล่นในภูมิภาคเช่น Lazada และ Shopee

 

 

 

ส่วน มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และ ไทย มีการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลโดยเฉลี่ย 20-30% ต่อปีในช่วงระหว่างปี 2015-2019 โดยพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์และท่องเที่ยวออนไลน์เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการขยายตัวสำหรับมาเลเซีย ส่วนฟิลิปปินส์มีธุรกิจสื่อออนไลน์และบริการด้านการเงินดิจิทัลเป็นปัจจัยที่สำคัญ หลาย Startup เลือกตั้งบริษัทที่สิงคโปร์เนื่องจากความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่สนับสนุน Startup และศักยภาพในการดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถ นอกจากนี้ สิงคโปร์มี Unicorn 2 บริษัทที่มีบทบาทในภูมิภาคคือ Grab และ Sea Group สำหรับประเทศไทยนั้น มีการขยายตัวในการท่องเที่ยวออนไลน์และสื่อออนไลน์เป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล

 

อาเซียนเป็นหนึ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญในเศรษฐกิจโลก แต่ยังคงมีบทบาทน้อยในด้านดิจิทัล โดยอาเซียนมีสัดส่วนของเศรษฐกิจดิจิทัลเพียง 7% ของ GDP ในขณะที่สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีนมีสัดส่วนถึง 35% 27% และ 16% ของ GDP ตามลำดับ 

 

เพื่อให้เศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียน ขยายตัวได้ต่อเนื่องในอนาคต ธนาคารโลก (World Bank) เสนอ 6 ประเด็นหลักที่ควรดำเนินการเพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล คือ 

 

 

 

(1) พัฒนาการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง (2) พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของคนในประเทศ (3) สนับสนุนการใช้การจ่ายเงินผ่านระบบดิจิทัล (Digital Payment) 

 

(4) พัฒนาโลจิสติกส์ในภูมิภาค (5) ออกนโยบายที่ส่งเสริมความเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมบนดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ (6) รัฐบาลควรเป็นผู้นำโดยปรับเป็นรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government)

 

ในปัจจุบัน รัฐบาลของประเทศสมาชิกอาเซียน ต่างเล็งเห็นถึงความสำคัญของการขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล เพื่อความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และนำมาสู่การออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล โดยในส่วนของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่แรงงาน เป็นแผนงานที่ต้องดำเนินการในระยะยาว ส่วนการพัฒนา โลจิสติกส์ในภูมิภาค ต้องอาศัยความร่วมมือของประเทศสมาชิกในภูมิภาคในการพัฒนาร่วมกัน

 

ดังนั้น ประเทศสมาชิกอาเซียนจึงควรเตรียมความพร้อมในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน พัฒนาคน และสร้างความร่วมมือในภูมิภาค เพื่อให้อาเซียนสามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทในเศรษฐกิจดิจิทัลในเวทีโลก และเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญของอาเซียนในอนาคตต่อไป