เกษตรอุตสาหกรรม: อุตสาหกรรมที่ 6

10 ก.ย. 2563 | 10:45 น.

ในโอกาสที่ลงพื้นที่ในงานสมาชิกวุฒิสภาพบประชาชนที่จังหวัดน่านเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้พบผู้ประกอบการวัยหนุ่มสาวหลายคนที่ผมเคยรู้จักมาก่อน แต่วันนี้พวกเขาเป็นผู้นำด้านวิสาหกิจและธุรกิจที่น่านต้องภูมิใจ พวกเขาเดินไปไกลมากกว่าที่ผมคิด ผมมีโอกาสทำงานร่วมกับพวกเขาเมื่อสี่ห้าปีก่อนหน้านี้ ผมจำน้องคนหนึ่งชื่อ วัชรี พรมทอง หรือ แอ๋ว ได้ดี

วันที่เจอเขาครั้งแรก แอ๋วเป็นเด็กสาวคนหนึ่งที่เพิ่งลาออกจากบริษัทกาแฟขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในเมืองกรุง ลองทำธุรกิจด้านกาแฟสักระยะจึงรู้ว่าต้องทำให้เป็นระบบ ครบวงจรจนถึงเกษตรกร เธอจึงเปลี่ยนความคิด หอบความฝัน ความหวังกลับมายังบ้านเกิด และเริ่มธุรกิจกาแฟในแบบที่เธออยากเห็น นั่นคือ เกษตรกรต้องเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของความสำเร็จในธุรกิจกาแฟสำเร็จรูปด้วย

และวันนี้ เธอคือเจ้าของห้างหุ้นส่วน จำกัด น่านดูโอ คอฟฟี่ และกาแฟแบรนด์ “ภูมิใจ๋ คอฟฟี่” ที่บรรจุภัณฑ์มีรูปปู่ม่านย่าม่าน กระซิบรักบันลือโลก ให้คนได้รู้ว่าบ้านเกิดกาแฟนี้อยู่ที่ “น่าน” และมีเกษตรกรที่ปลูกกาแฟในเครือข่ายที่เธอรับซื้อในราคาที่ดีกว่า 1,400 ครอบครัว

เกษตรอุตสาหกรรม: อุตสาหกรรมที่ 6

              วันนี้ แอ๋วเป็นประธานกลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารน่าน ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดน่านร่วมกับผู้ประกอบการรุ่นใหม่รวมกลุ่มเพื่อพัฒนาร่วมกัน โดยแนวคิดของธุรกิจเกษตรแปรรูปน่านกลุ่มนี้จะใช้แนวคิดของคลัสเตอร์มาเป็นแกนกลางในการบริหารกลุ่ม คือ ต้องมีผู้เล่นหรือองค์ประกอบให้ครบ ตั้งแต่ เกษตรกร ผู้แปรรูปเบื้องต้น ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ และการตลาด เพราะขาดอย่างไรอย่างหนึ่ง “ไม่ได้”

วิธีคิดแบบนี้ทำให้ผมนึกถึงอุตสาหกรรมขั้นที่ 6  (Sixth-Order Industries) ของศาสตราจารย์ นาราโอมิ อิมามุระ จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ที่มองว่าเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรมขั้นที่หนึ่ง การแปรรูปเป็นอุตสาหกรรมขั้นที่สอง และการตลาดเป็นอุตสาหกรรมขั้นที่สาม โดยต้องให้ทั้งสามส่วนเชื่อมโยงเข้าด้วยกันตามแนวคิดของคลัสเตอร์ (Cluster) เพราะหากต้องการให้ประสบความสำเร็จนั้น ทั้งสามขั้นของอุตสาหกรรมต้องทำงานสอดคล้องกัน เกษตรกรปลูกพืชและวัตถุดิบในชนิดและคุณภาพตามที่อุตสาหกรรมขั้นที่สองต้องการเพื่อนำมาแปรรูปตามแบบ ประเภท

และชนิดตามที่การตลาดหรืออุตสาหกรรมขั้นที่สามต้องการ เมื่อขั้นที่สามขายของได้ ก็จะทำให้ทุกขั้นได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน แนวคิดนี้เสมือนสูตร 1x2x3 = 6 จะขาดความรู้หรือการจัดการที่ดีขั้นใดขั้นหนึ่งไม่ได้ ลองคิดดูว่า หากการจัดการขั้นที่ 1 ไม่ดี วัตถุดิบไม่ดี ไม่มีคุณภาพที่ต้องการ ก็จะกลายเป็น 0x2x3 ก็จะกลายเป็น ศูนย์ (0) ทุกคนทั้งตลอดสายการเชื่อมโยง ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ผลิต และนักการตลาด เจ๊งทุกคน

เกษตรอุตสาหกรรม: อุตสาหกรรมที่ 6

              แนวคิดนี้ต้องมีการเชื่อมโยงและส่งต่อข้อมูลข่าวสารอย่างดี และที่สำคัญการแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องในแต่ละขั้นต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย โดยมากที่ผมเห็นจากกลุ่มคลัสเตอร์แปรรูปเกษตรน่านนี้จะมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับเกษตรกร เข้าไปช่วยเหลือด้านความรู้ในการพัฒนาวัตถุดิบ เพื่อให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการ และราคาจะสูงกว่าที่คนอื่นซื้อ ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

วันที่ผมลงไปที่น่าน ผมเห็นรอบยิ้มของชาวไทยภูเขาคนหนึ่งที่ถูกหลอกให้ปลูกกาแฟโรบัสต้าแล้ว คนซื้อหายเข้ากลีบเมฆ จะขายที่อื่นก็ขายไม่ได้ เพราะไม่ค่อยนิยมมากนักในภาคเหนือ ทางกลุ่มก็เลยเข้าไปช่วยกันพัฒนาให้คุณลุงแปรรูป ทำแบรนด์ ช่วยด้านตลาด และคุณลุงวันนี้ขายดีจนไม่พอขาย แบรนด์นี้ ชื่อ “โรบัสต้า นาน้อย” หรืออีกหนุ่มชาวไทยภูเขาที่กลุ่มคลัสเตอร์ช่วยให้ความรู้การเพาะปลูก การผลิตและการตลาด วันนี้จึงเห็นกาแฟอราบิกา จากภูเขาสูงของน่าน ชื่อ Coffee De Hmong และส่งเข้าประกวดได้รับรางวัลระดับประเทศมาด้วย        

วันนี้ยังมีผู้คนอื่น ๆ ที่เข้าไปช่วยให้เกษตรกรที่ไม่สามารถขายวัตถุดิบของตนเองได้ นำมาแปรรูปเพื่อสร้างตลาดให้กับเกษตรกร เช่น P. OAT Farm Coffee กาแฟรสหอมเข้มของน่านอีกเจ้าหนึ่ง ก็มาจากแนวคิดนี้ บางทีผมก็เห็นมีหลายหน่วยงานพยายามอบรมเกษตรกรให้ทำการแปรรูป และทำการตลาดเอง ผมว่าลำบากที่จะให้พวกเขาเป็นนักการขายที่เก่งเหมือนทำเกษตรกรรม แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่ได้ บางรายอาจทำได้ แต่ผมก็ยังเชื่อว่าประสิทธิภาพรวมในระบบทั้งหมดมาจากการแบ่งงานกันทำแล้วเชื่อมโยงกัน ต่างคนก็จะพัฒนาในสิ่งที่ตัวเองทำให้ดีขึ้น ทำให้ทั้งระบบมีผลประโยชน์สูงสุด … แต่ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ยุติธรรมกับทุกขั้นตอน

เกษตรอุตสาหกรรม: อุตสาหกรรมที่ 6

              กลุ่มคลัสเตอร์ฯ นี้ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องกาแฟ พวกเขามีทุกผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรรมน่าน ไม่ว่าจะเป็น น้ำมันยาสมุนไพร ถั่วดาวอินคา มะไฟจีน ข้าวโพด และถั่วลิสง ฯลฯ ถ้ามีโอกาสไปน่านก็ต้องไปแวะ “บ้านถั่วลิสง” ที่ได้สินเชื่อจากกองทุนพัฒนา SME ตามแนวประชารัฐฯ ทำบ้านให้กับสินค้าของเกษตรแปรรูปของน่าน … ครบ และในช่วงปลายปี ทางผู้ว่าราชการจังหวัดน่านจะสนับสนุนให้เปิดงานแฟร์เพื่อแสดงศักยภาพของสินค้าแปรรูปเกษตรต่าง ๆ ของน่าน และทั้งหมดนี้ผู้ได้รับประโยชน์มากที่สุด คือ เกษตรกรของน่าน

              วันนี้ ผมว่ากลุ่มคลัสเตอร์ฯ ที่น่านทำ คือตัวอย่างของแนวคิด “เกษตรอุตสาหกรรม” ที่ชัดเจนและสมบูรณ์แบบมากที่สุด เรียกว่า เกษตรกรปลูกในสิ่งที่จะมีคนซื้อ คนแปรรูป แปรรูปตามที่จะการตลาดสามารถนำไปขายได้ ผลประโยชน์เกิดกับทุกคน และในกรอบของคลัสเตอร์ หน่วยงานทุกหน่วยงานก็ไปสนับสนุนในแต่ละขั้นของการเชื่อมโยงนี้ตามที่ตนเองมีหน้าที่ เช่น สำนักงานเกษตรฯ ลงไปที่ขั้นแรก อุตสาหกรรมพัฒนาขั้นที่สอง และพาณิชย์ดูแลขั้นที่สาม โดยทั้งหมดมีสมาชิกกลุ่มคลัสเตอร์เป็นคนบอกว่าเขาต้องการการสนับสนุนเรื่องอะไร ในขั้นตอนอะไร โดยทั้งหมดจะสอดคล้องกับระบบเชื่อมโยงทั้งระบบของสินค้านั้น ๆ

              วันนี้กลุ่มคลัสเตอร์อุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารน่านยังคงเดินตามแนวรูปแบบของอุตสาหกรรมที่ 6 ในกรอบของคลัสเตอร์ และทุกคนในระบบตั้งแต่เกษตรกร ผู้แปรรูป และการตลาด ยังคงสนุกกับการทำงานเพื่อสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้ทุกคนในเครือข่าย และเติบโตไปพร้อม ๆ รอยยิ้มอย่างมีความสุขแบบ “น่าน ๆ”