ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชีย

09 ก.ย. 2563 | 04:05 น.

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชีย คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย ดร.ทยา ดำรงฤทธิกุล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,608 หน้า 5 วันที่ 10 - 12 กันยายน 2563

 

หลายคนอาจจะเคยได้ยินคำว่า Asian Century หรือ ศตวรรษแห่งเอเชีย คำนี้เกิดมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ภูมิภาคเอเชียจะมีบทบาทที่สำคัญมากในเศรษฐกิจโลกในช่วงศตวรรษที่ 21 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเทศจีน และประเทศอินเดีย

 

ในช่วงระยะหลังๆ ก่อนการเกิดวิกฤติการณ์โควิค-19 ประเทศมากมายในเอเชียได้พยายามเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น และเปิดตลาดในประเทศให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันในระดับที่สูงขึ้น เน้นการใช้การส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจภายในภูมิภาคเอเชียที่กระชับมากขึ้นนี้ ร่วมกับอิทธิพลที่มากขึ้นของภูมิภาคเอเชียที่มีต่อตลาดโลก ยิ่งเพิ่มความสำคัญให้กับการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของเอเชีย 

 

นอกจากนี้ ในช่วงที่ผ่านมา หลายประเทศในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะประเทศจีน ได้รับแรงกดดันทางการเมืองจากสหรัฐอเมริกาให้ปรับเพิ่มค่าเงินให้สูงขึ้นนี้จึงนำมาสู่คำถามที่น่าสนใจว่า ประเทศเหล่านี้ควรต้องทำอย่างไร ควรที่จะต้องปรับค่าเงินให้สูงขึ้นหรือไม่ 

 

ผู้เขียนจึงเกิดความสนใจในการศึกษาผลกระทบจากการเปิดเสรีทางการค้า การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานโดยเฉพาะใน ภาคสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศ (tradable sector) การใช้นโยบายการเงิน และการบริโภคของภาครัฐที่ขยายตัวที่มีต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย อีกทั้งประเมินว่าปัจจัยอะไรเป็นตัวสำคัญในการผลักดันการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคนี้ 

 

ก่อนที่จะเล่าถึงงานวิจัยชิ้นนี้ของผู้เขียน เราควรมาทำความรู้จักกับอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงก่อนว่าคืออะไร อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง คือ อัตราที่บุคคลหนึ่งสามารถแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการของประเทศหนึ่งกับสินค้าและบริการของอีกประเทศหนึ่งได้ ซึ่งแตกต่างจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เรารู้จักกันดี ซึ่งจะอยู่ในรูปของตัวเงิน อันได้แก่ อัตราที่บุคคลหนึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเงินตราสกุลของประเทศหนึ่งกับเงินตราอีกสกุลหนึ่งของประเทศอื่น 

 

 

ปัจจัยหลักที่ส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในภูมิภาคเอเชีย

 

 

ข้อมูลที่ผู้เขียนใช้ศึกษาส่วนใหญ่มาจากฐานข้อมูลของธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) โดยเป็นข้อมูลรายปีระหว่าง ค.ศ. 1970-2016 ของ 14 ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย ประกอบด้วยดัชนีค่าเงินที่แท้จริง (real effective exchange rate) และปัจจัยที่คาดว่าจะส่งผลต่ออัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นและยาว อันได้แก่ ดัชนีที่ใช้วัดผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวม ภายในประเทศที่แท้จริง (real GDP)  สัดส่วนมูลค่าการค้าระหว่างประเทศต่อ GDP สัดส่วนการบริโภคของภาครัฐต่อ GDP อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นและอัตราเงินเฟ้อ นอก จากนี้ราคานํ้ามันดิบในตลาดโลกถูกนำมาพิจารณาด้วยเพื่อเป็นตัวสะท้อนและควบคุมอิทธิพลจากตลาดโลกอีกทางหนึ่ง 

 

 

 

ผู้เขียนสร้างแบบจำลองทางเศรษฐมิติในการวิเคราะห์ โดยผู้เขียนพบว่า 

 

(1) การเปิดประเทศให้มีการค้าขายกับต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นจะมีผลอย่างมีนัยสำคัญต่ออัตราแลกเปลี่ยน โดยค่าเงินที่แท้จริงจะมีค่าอ่อนลงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว  

 

(2) จากการที่มีการคาดการณ์โดยทั่วไปของนักเศรษฐศาสตร์ว่า การเพิ่มขึ้นของผลิตภาพในภาคสินค้าที่มีการค้าระหว่างประเทศเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ จะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศนั้นมีค่าสูงขึ้นเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนพบว่า ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพแรงงานจะส่งผลให้ค่าเงินของประเทศสูงขึ้น แต่การเปลี่ยนแปลงค่าเงินนี้ไม่ได้เกิดขึ้นทันที และค่าเพิ่มขึ้นของค่าเงินเป็นเพียงระยะสั้นในช่วง 1-2 ปีเท่านั้น  

 

(3) การดำเนินนโยบายการเงินไม่มีผลกระทบระยะยาวที่มีนัยสำคัญต่ออัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง ซึ่งสอดคล้องกับหลักการทางเศรษฐศาสตร์ที่รู้จักกันว่า Long- run neutrality of money หรือ ความเป็นกลางของเงินในระยะยาว 

 

และ (4) การใช้จ่ายของภาครัฐบาลเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีอิทธิพลกับการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยน โดยพบว่า การบริโภคที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐจะส่งผลให้เกิดการแข็งค่าขึ้นของอัตราแลกเปลี่ยนในระยะสั้นและระยะยาว  

 

 

 

ข้อค้นพบเหล่านี้จึงนำมาสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ว่า ผู้วางนโยบายของรัฐจำเป็นที่จะต้องรอบคอบเป็นอย่างมากเมื่อจะใช้นโยบายทางด้านการค้าระหว่างประเทศ และการบริโภคของภาครัฐ อย่างที่การเปลี่ยนแปลงในนโยบายเหล่านี้จะมีผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการค้าระหว่างประเทศสามารถมีผลกระทบอย่างมากต่อความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงในภูมิภาคเอเชีย  

 

โดยผลการศึกษายังเสนอแนะว่า การที่ค่าเงินของประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียบางประเทศอยู่ในระดับตํ่า โดยแท้จริงแล้วอาจจะเป็นผลโดยธรรมชาติจากการเปิดเสรีการค้าจากต่างประเทศที่มากขึ้น และดังนั้น ความพยายามที่จะทำให้ค่าที่แท้จริงของเงินในประเทศเพิ่มขึ้น อาจจะไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม 

 

ท้ายสุดนี้ ถึงแม้ว่านโยบายที่ส่งเสริมการเพิ่มผลิตภาพการผลิตจะนำมาสู่การแข็งค่าของเงินตามทฤษฎีที่รู้จักกันโดยทั่วไปทางเศรษฐศาสตร์ แต่อย่างไรก็ตาม นโยบายทางด้านผลิตภาพการผลิตดูเหมือนที่จะไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควรในการจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริงในการปฏิบัติ