บริหารความเชื่อ ผนึกกำลังแก้เศรษฐกิจ

06 ก.ย. 2563 | 01:00 น.

บริหารความเชื่อ ผนึกกำลังแก้เศรษฐกิจ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3607 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ย.2563

 

                การลาออกของ นายปรีดี ดาวฉาย จากรัฐมนตรีว่ากระทรวงการคลัง ทั้งที่รับตำแหน่งไปได้แค่ 27 วัน ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทรุดต่ำลงไปอีก ผสานกับความเชื่อในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยตัวพล.อ.ประยุทธ์เอง ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจที่ประกาศนำทีมด้วยตนเอง

               

                ประชาชนขาดความเชื่อมั่น อันเกิดจากการสั่งสมที่ฝังหัว มีจำนวนมากที่เชื่อว่ารัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจไม่ได้ ทั้งที่ความเชื่ออาจจะเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ แต่ความเชื่อเกิดขึ้นแล้ว เหมือนผู้บริหารบางคนมีความเชื่อว่าตั้งใจทำงานให้เต็มที่ ประชาชนจะเข้าใจเองว่าผู้บริหารท่านนั้นทำงานเก่ง และความเชื่อดังกล่าวก็จะฝังหัวผู้บริหาร จนไม่สนใจที่จะบริหารความเชื่อของประชาชน

                การบริหารความเชื่อ เป็นเรื่องที่มีความสำคัญไม่น้อยกว่าการบริหารหรือการทำงานจริง โดยต้องทำคู่ขนานไปพร้อมกัน โดยการบริหารความเชื่อให้สำเร็จ ต้องมองปัญหาให้ทะลุ และวางยุทธศาสตร์การสื่อสารเพื่อเปลี่ยนแปลงความเชื่อไปพร้อมๆ กับการวางยุทธศาสตร์การบริหารหรือแก้ปัญหานั้นๆ พร้อมกับทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการแก้ไขโครงสร้างเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแอ ซึ่งสะท้อนจากประมาณการเศรษฐกิจติดลบ มากกว่าประเทศอื่น ทั้งที่ไทยแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ได้ดีกว่าประเทศอื่น

               

                การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าของ พล.อ.ประยุทธ์ ในขณะนี้ ต้องทำให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีความเชื่อในตัวนายกรัฐมนตรี เชื่อในตัวรัฐมนตรีคลังคนใหม่และทีมเศรษฐกิจ และให้ความร่วมมือด้วยจึงจะพลิกฟื้นขึ้นมาได้ การสรรหารัฐมนตรีคลัง หน้าตารัฐมนตรีคลัง จึงเป็นปัจจัยสำคัญ คงไม่ใช่เพียงเป็นแค่ตำแหน่งที่ปฏิบัติงานดำเนินการไปตามปกติ มีกลไกข้าราชการทำงานและมีนายกฯเป็นหัวหน้าทีมอยู่แล้ว จะเดินหน้าไปสู่การแก้ปัญหาได้

                การวิเคราะห์คาดการณ์เศรษฐกิจหลังโควิด-19 นั้นเป็นที่ทราบกันดีว่า อยู่ในภาวะที่ตกต่ำอย่างมากอย่างที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน ประชาชนจำนวนมาก อาจจะได้รับผลกระทบอันหนักหน่วง ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมมือร่วมใจกับรัฐบาลเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยคนไทยทั้งประเทศต้องร่วมกันฟันฝ่าจึงจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้พลิกฟื้นคืนมาได้ ขณะที่หัวหน้ารัฐบาลต้องแสดงบทบทการนำให้เห็นในการกู้วิกฤติ เรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา สร้างเกราะหรือให้หลักประกันที่แข็งแกร่งกับคนที่จะเข้ามาทำงานแก้วิกฤติชาติ ไม่ให้พลัดหลงไปกับระบบการเมืองแบบเดิมๆ ที่นอกจากไม่สร้างสรรค์แล้วยังบั่นทอนทำลาย