แก้ปมคนตกงาน...ไม่ได้ รัฐบาลเหนื่อยแน่

05 ก.ย. 2563 | 03:00 น.

แก้ปมคนตกงาน...ไม่ได้ รัฐบาลเหนื่อยแน่! : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3607 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ย.63 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

 

แก้ปมคนตกงาน...ไม่ได้

รัฐบาลเหนื่อยแน่!
 

     การบริหารเศรษฐกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ภายใต้การทำงานของคณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ที่นายกฯลุงตู่เป็นประธาน นายสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เป็นรองประธาน เริ่มเป็นรูปธรรม
 

     มติเห็นชอบมาตรการส่งเสริมการจ้างงานสำหรับนักศึกษาจบใหม่ 2.6 แสนอัตรา โดยรัฐบาลจะจ่ายเงินสนับสนุนค่าจ้าง 50% แต่ไม่เกิน 7,500 บาท ให้กับภาครัฐและเอกชนที่รับนักศึกษาจบใหม่เข้าทำงาน นั่นคือ การแก้หัวใจ แม้จะเป็นเพียงระยะสั้น
 

     มตินี้ลงลึกไปถึงการคิดอัตราเงินเดือน เป็น 3 กลุ่ม
 

     ระดับปริญญาตรี เดือนละ 15,000 บาท, ประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) เดือนละ 11,500 บาท และประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) เดือนละ 9,400 บาท
 

     ระยะเวลาการจ้างงานทั้งสิ้น 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2563 - 30 ก.ย. 2564

     มีการประเมินว่าจะใช้งบประมาณทั้งหมด 23,476 ล้านบาท
 

     ขณะนี้มีบริษัทขนาดใหญ่ด้านพลังงาน พร้อมเข้าร่วมโครงการ และเปิดรับพนักงานหลายพันตำแหน่ง
 

     ผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมมาตรการนี้ได้จะต้องไม่เลิกจ้างพนักงานเกิน 15% ในช่วงเวลา 1 ปี
 

     ส่วนลูกจ้างใหม่ที่จะเข้าร่วมโครงการ จะต้องมีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 25 ปี หรืออายุเกิน 25 ปี แต่สำเร็จการศึกษาในปี 2562-2563
 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับ ประมาณการเศรษฐกิจไทย 2563

     ขณะเดียวกันที่ประชุมเห็นชอบจัดงาน Job Expo ในเดือน ก.ย. นี้ ซึ่งประมาณการว่าจะมีตำแหน่งงาน 1 ล้านตำแหน่งไว้คอยรองรับประชาชน ในแพลตฟอร์มชื่อ ไทยมีงานทำ ที่เป็นศูนย์กลางข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งที่ว่างงานของสถานประกอบการทั่วประเทศด้วย
 

     เป็นการรุกในสถานการณ์ที่ภาคธุรกิจ โรงงาน ภาคการผลิตส่วนใหญ่ ลดคน ลดเวลาทำงาน กันทั่วประเทศเกือบ 100%
 

     มาตรการชุดนี้อาจจะสวนทางกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น เพราะธุรกิจกำลังเผชิญปัญหาการหดตัวอย่างรุนแรง การที่จะจ้างคนเพิ่มคงจำกัดวงแคบอย่างยิ่ง
 

     แต่อย่างน้อยทำให้คนเห็นว่า รัฐบาลเข้าใจภาพจริงว่า ถ้าไม่แก้ตรงที่การจ้างงาน เพื่อสร้างรายได้ให้กับคน ปัญหาประเทศจะหนักหน่วงกว่านี้
 

     ทำไมเป็นเช่นนั้น มาดูข้อมูล 2 ชุด ของ 2 หน่วยงาน ที่สะท้อนภาพแรงงาน
 

     28 พฤษภาคม 2563 สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ  หรือสภาพัฒน์ แถลงภาวะสังคมไตรมาสแรกของปี 2563 ว่าอัตราการว่างงานยังอยู่ในระดับตํ่าที่ร้อยละ 1.03 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.92 จากช่วงเดียวกันปีที่แล้ว มีผู้ว่างงานแฝงราว 448,050 คน คิดเป็นร้อยละ 1.2
 

     อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว
 

     ผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0
 

     สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน
 

     สภาพัฒน์ประเมินผลกระทบของโควิด-19 ต่อแรงงาน พบว่า แรงงานมีความเสี่ยงต่อการถูกเลิกจ้างทั้งสิ้น 8.4 ล้านคน แบ่งเป็นแรงงาน 3 กลุ่ม
 

     แรงงานในภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีประมาณ 3.9 ล้านคน (ไม่รวมสาขาการค้าส่งและการค้าปลีก) จะได้รับผลกระทบจากการลดลงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และการท่องเที่ยวในประเทศราว 2.5 ล้านคน
 

     แรงงานในภาคอุตสาหกรรม ก็อาการหนัก เพราะจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า มาจนถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 จากการลดลงของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ แม้ว่าบางอุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้าขายในประเทศยังขยายตัวได้ เช่น อุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่ม ของใช้ที่จำเป็น รวมทั้งอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้แรงงานในภาคอุตสาหกรรมจากทั้งหมด 5.9 ล้านคน คาดว่ามีผู้ได้รับผลกระทบ 1.5 ล้านคน
 

     ภาคบริการอื่นที่ไม่ใช่การท่องเที่ยว กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของภาครัฐจากการปิดสถานที่ เช่น สถานศึกษา หรือสถานที่มีการรวมกลุ่มของคนจำนวนมาก เช่น ตลาดสด สนามกีฬา ห้างสรรพสินค้า ซึ่งกลุ่มนี้มีการจ้างงานราว 10.3 ล้านคน คาดว่าจะได้รับผลกระทบ 4.4 ล้านคน

     อย่างไรก็ตาม การจ้างงานมีสัญญาณลดลงต่อเนื่องและค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง โดยมีผู้มีงานทำ 37,424,214 คน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.7 จากการจ้างงานภาคเกษตรกรรมที่ลดลงร้อยละ 3.7 จากผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงและต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2562
 

     ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมยังคงขยายตัวได้เล็กน้อยที่ร้อยละ 0.5 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาโรงแรมและภัตตาคาร และสาขาการศึกษา
 

     ส่วนค่าจ้างที่แท้จริงภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2, ผลิตภาพแรงงานลดลงร้อยละ 1.0 เป็นการลดลงจากทั้งภาคเกษตรกรรมและนอกภาคเกษตรกรรม
 

     อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณของผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อการจ้างงานคือ ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยภาคเอกชนลดลงเท่ากับ 42.8 ชั่วโมง/สัปดาห์ จาก 43.5 ชั่วโมง/สัปดาห์ในช่วงเดียวกันปีที่แล้ว โดยผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงขึ้นไป/สัปดาห์ ลดลงร้อยละ 9.0
 

     นอกจากนั้น สถานประกอบการมีการขอใช้มาตรา 75 ในการหยุดกิจการชั่วคราวมีจำนวนทั้งสิ้น 570 แห่ง และมีแรงงานที่ต้องหยุดงานแต่ยังได้รับเงินเดือน 121,338 คน
 

     เห็นข้อมูลแล้วบอกว่าเรื่องการจ้างงาน เรื่องคนตกงานกำลังกลายเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ
 

 คราวนี้มาดูข้อมูลสถานการณ์แรงงานทั้งการจ้างงาน การเลิกจ้างทั้งในระบบและแรงงานอิสระของกระทรวงแรงงาน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม พบว่าตัวเลขการจ้างงาน และการเลิกจ้างในระบบประกันสังคม ล่าสุด ณ เดือน มิ.ย. 2563 มีลูกจ้างผู้ประกันตนตามมาตรา 33 (ลูกจ้าง พนักงานที่ยังทำงานกับนายจ้าง) รวม 11.3 ล้านคน ลดลง 294,867 คน เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2562
 

 มีผู้ถูกเลิกจ้าง 145,747 คน เพิ่มขึ้น 119,807 คน จากเดือนเดียวกันของปีก่อน
 

 สาขาที่มีการเลิกจ้างเพิ่มขึ้น อาทิ ที่พักแรม และบริการด้านอาหาร เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน 20,836 คน หรือเพิ่มขึ้น 2,547%
 

 สำหรับลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากที่สถานประกอบการขอใช้มาตรา 75 (ปิดกิจการชั่วคราว) จากเดือน เม.ย.-มิ.ย. 2563 รวม 802,684 คน จากสถานประกอบการ 3,985 แห่ง
 

 กลุ่มผู้ประกอบการที่ปิดกิจการมาสุด ได้แก่ การผลิตยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก ผลิตภัณฑ์โลหะ อสังหาริมทรัพย์ การให้เช่าและบริการทางธุรกิจ การค้า ขนส่ง โรงแรม ร้านอาหาร
 

 คนที่ตกงานกว่า 8.5 ล้านคนนี่แหละคือปัญหาใหญ่ของรัฐบาล เพราะในรอบ 10 ปี ประเทศไทยไม่เคยปรากฏว่าคนจะตกงานมากมายขนาดนี้ และถ้าไม่ทำให้คนเหล่านี้กลับมาทำงานได้เมื่อไหร่ ประเทศไทยจมปลักแน่