ฟันธง“ฟื้นเศรษฐกิจ” ต้องเปิดรับต่างชาติ

03 ก.ย. 2563 | 05:01 น.

ฟันธง“ฟื้นเศรษฐกิจ”ต้องเปิดรับต่างชาติ : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3606 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 3-5 ก.ย.2563

ฟันธง“ฟื้นเศรษฐกิจ”
ต้องเปิดรับต่างชาติ

 

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงภาพรวมเศรษฐกิจไทยเดือนมิ.ย.-ก.ค.ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หลังรัฐบาลคลายมาตรการปิดเมือง เปิดให้ธุรกิจกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง การใช้จ่ายปรับตัวดีขึ้นทุกหมวด การบริโภคภาคเอกชนหดตัวน้อยลงจากเดือนก่อน แต่การลงทุนของเอกชนยังหดต่อ จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่ยังอยู่ระดับสูง กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมส่วนเกินเหลือมาก

ธปท.รับว่า ยังบอกไม่ได้ว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้จะดีขึ้นหรือแย่ลง เพราะเป็นได้ทั้ง 2 ทาง คือ ดีขึ้น จากการฟื้นตัวดีกว่าประเมินใน 2 เดือนที่ผ่านมา แต่มองไปข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเดิมคาดปีนี้อยู่ที่ 8 ล้านคน จะเหลือ 6.7 ล้านคน หายไป 1.3 ล้านคน กระทบจีดีพีประมาณ 0.5 % อีกทางคือแย่ลง โดยบางสำนักวิจัยเศรษฐกิจคาดจีดีพีไทยปี 2563 ที่ -10% ปัจจัยเดียวที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยลงลึกถึงจุดนั้น คือ การระบาดของโควิด-19 รอบ 2 จนทำให้มีการปิดเมืองล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งธปท.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในเดือนก.ย.นี้
 

ประเด็นสำคัญการแถลงภาพรวมเศรษฐกิจไทยครั้งนี้คือ ธปท.ชี้ว่า ต้องให้ความสำคัญการ
ขยายตัวเศรษฐกิจปี 2564 ที่มีความเสี่ยงสำคัญสูงกว่าปีนี้ โดยเฉพาะหากนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับเข้ามาไม่ได้ ปีหน้าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้น แต่ไทยไม่ฟื้น
 

ผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 ที่ไทยคุมการระบาดภายในได้และยังไม่เปิดรับคนต่างชาติ ทำให้ภาพรวมการท่องเที่ยวยังหดตัวสูงต่อเนื่องโดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศหายไป 100% จากระยะเดียวกันของปีก่อน ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 จากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงมีอยู่

การเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยอีกครั้ง เป็นกุญแจสำคัญของการฟื้นเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังปีนี้และปีหน้า แต่ก็ต้องทำอย่างระมัดระวัง เพราะหากเกิดการระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย รอบ 2 จากการเปิดรับนักท่องเที่ยว ก็อาจทำให้ประเทศกลับมาลำบากอีกครั้ง 


จึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องชั่งน้ำหนักและ “ปรับสมดุล” ระหว่างมาตรการด้านสาธารณสุข กับการเปิดเศรษฐกิจ อย่างเป็นขั้นตอนและระมัดระวัง ให้เศรษฐกิจขยับขับเคลื่อน เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ ให้คนอยู่รอดจากวิกฤตินี้ไปให้ได้ร่วมกัน