โอกาสในโควิด: ทีวีโตสวนกระแส

03 ก.ย. 2563 | 06:00 น.

ในขณะที่ผู้ประกอบการในหลายอุตสาหกรรมกุมขมับ ปวดเศียรเวียนเกล้ากับวิกฤติโควิด ยอดขายลดลงอย่างรวดเร็ว และไม่รู้ว่าเมื่อไรจะกลับมาในสถานการณ์ปกติอีกครั้ง หลายคนกลืนเลือดพยุงธุรกิจไปวัน ๆ หลายคนยอมถอดใจโยนผ้า แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีอุตสาหกรรมบางอุตสาหกรรมกลับถือว่าพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตใหม่ของผู้คนในยุคโควิดสร้างโอกาสการขยายตัวธุรกิจ

ซึ่งอุตสาหกรรมที่ผมว่า นั่นก็คือ “โทรทัศน์ “ หรือ “ทีวี” ที่เราเรียกกัน โดยยอดขายทีวีในประเทศไทยช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ (2563) เท่ากับ 1.48 ล้านเครื่อง คิดเป็นปริมาณยอดขายที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 13.8 เมื่อเทียบกับยอดขายช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้วที่ 1.31 ล้านเครื่อง

              Mr. Po-Hsuan (Robert) Wu กรรมการผู้จัดการของ บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ให้ข้อสังเกตว่า การที่ยอดขายของทีวีเพิ่มขึ้นในช่วงโควิดนี้ น่าจะมาจากมาตรการล็อคดาวน์ที่ทำให้สถานที่บันเทิง ร้านอาหาร ห้างสรรพสินค้าต้องหยุดให้บริการ ประชาชนต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับบ้าน และหาวิธีการพักผ่อนหย่อนใจ จากรายการทีวีและรายการบันเทิงออนไลน์ต่าง ๆ มากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลายคนเริ่มหันมาดูทีวีเป็นเรื่องเป็นราว และหลายคนอาจต้องเปลี่ยนทีวีใหม่เพราะฟังก์ชั่นทีวีเดิมอาจไม่ทันสมัยที่จะรองรับการบริการบันเทิงออนไลน์ รวมทั้งทีวีใหม่ก็มีราคาไม่สูงมากนัก

Mr. Po-Hsuan (Robert) Wu

              นอกจากนี้ คุณมกร หลินสวัสดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไฮไฟ โอเรียนท์ ไทย จำกัด (มหาชน) เจ้าของธุรกิจแบรนด์ดัง ACONATIC กล่าวเสริมว่า ทั้งภาครัฐและบริษัทเอกชนจำนวนมากต้องใช้นโยบายทำงานที่บ้าน (Work from home) และการเรียนการสอนของโรงเรียนต่าง ๆ ก็ใช้รูปแบบออนไลน์มากขึ้น ทำให้พ่อแม่หลายรายต้องซื้อทีวีมาให้ลูกๆ เพื่อการณ์นี้โดยเฉพาะ

นอกจากนั้น พฤติกรรมใหม่ (New normal) ในช่วงที่ผู้คนใช้เวลาอยู่บ้านนาน ๆ จนกลายเป็นเทรนด์ใหม่คือการเข้าครัวทำกับข้าวทานเองของคนจำนวนมาก ส่งผลให้อุปกรณ์ทำครัวและอุปกรณ์ทำอาหารขนาดเล็กมียอดขายสูงขึ้นมาก และที่น่าสนใจตามมา คือ ยอดขายทีวีขนาดเล็กที่ตั้งในครัวหรือตั้งในพื้นที่เล็ก ๆ ได้เพิ่มสูงขึ้นด้วย

มกร หลินสวัสดิ์

              อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคานั้น ทาง GFK บริษัทวิจัยตลาดชั้นนำ รายงานว่าราคาขายทีวีเฉลี่ยต่อหน่วยของ 7 เดือนแรกของปี 2563 ลดลงจากค่าเฉลี่ยของปีที่แล้วในเวลาเดียวกัน -4.5% จากราคาเฉลี่ย 10,680 บาท/เครื่อง ในปี 2562 ลดลงเหลือ 8,961 บาทต่อเครื่องในปีนี้ ทั้งนี้อาจมาจากการแข่งขันอย่างรุนแรงของทุกค่ายเพื่อแย่งชิงอุปสงค์ในประเทศ เนื่องจากการขนส่งระหว่างประเทศมีปัญหา

และหยุดชะงักในช่วงโควิด ทำให้การแข่งขันโปรโมชั่นด้านราคาในประเทศรุนแรงมาก รวมทั้งการค้าออนไลน์ที่คนกำลังนิยมก็ใช้กลยุทธ์การลดราคาเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการต่อสู้แย่งชิงลูกค้าระหว่างกัน ทั้งนี้ แบรนด์สำคัญที่ครองตลาดอันดับต้น ๆ ยังเป็นเจ้าเดิม ๆ คือ ซัมซุง แอลจี อะโคนาติก และ ชาร์ป ฯลฯ

               ใขณะที่ตัวเลขส่งออกทีวีชนิดจอแอลซีดีและแอลอีดีในรอบ 7 เดือนแรกของปี 2563 ของกรมศุลกากร พบว่ามีปริมาณการส่งออก 1.77 ล้านเครื่อง หรือลดลง -8.99% จากการส่งออก 1.9 ล้านเครื่อง ในช่วงเวลาเดียวกันในปีที่แล้ว ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัญหาการขนส่งและการบริการที่ทุกประเทศกำลังใช้นโยบายเคอร์ฟิวและควบคุมการเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศในช่วงวิกฤติไวรัส