‘สุพันธุ์’ ประธาน ส.อ.ท.วาระใหม่ กับโจทย์หินนำพา SMEs ฝ่าโควิด

23 ส.ค. 2563 | 02:11 น.

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวาระใหม่(ปี 2563-2565)ให้สัมภาษณ์ "ฐานเศรษฐกิจ"ถึงภารกิจอันหนักอึ้งในการนำพาผู้ประกอบการเอสเอ็มอีฝ่าวิกฤติโควิด-19

‘สุพันธุ์’ ประธาน ส.อ.ท.วาระใหม่  กับโจทย์หินนำพา SMEs ฝ่าโควิด

การประชุมคณะกรรมการสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยวันที่ 19 สิงหาคม 2563 มีมติเป็นเอกฉันท์เลือก นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ดำรงตำแหน่งประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ต่ออีก 1 วาระ (วาระปี 2563-2565) แบบไร้คู่แข่ง หลังจากดำรงตำแหน่งวาระปี 2557-2559 และวาระปี 2561-2563

 

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ประธานส.อ.ท.หมาดๆ ถึงภารกิจสุดหินที่จะต้องนำพาสมาชิก ส.อ.ท.กว่าหมื่นรายร่วมกันฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปให้ได้ รวมถึงมุมมองความยากลำบากของการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี และภาพรวมด้านเศรษฐกิจจะไปทิศทางใดนับจากนี้

 

SMEsเข้าถึงสินเชื่อยาก

 

นายสุพันธุ์ ยอมรับว่า โจทย์หินที่ยากที่สุดในขณะนี้คือการขับเคลื่อนธุรกิจในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่กระทบต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะกำลังซื้อทั้งในและต่างประเทศที่ลดลงอย่างมาก ทำให้การบริหารสภาพคล่องทางการเงินเป็นโจทย์สำคัญที่ยากมาก แม้จะมีโครงการสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่ผู้ประกอบการยังมีปัญหาในการเข้าถึงความช่วยเหลือ ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่มียอดขายเกิน 500 ล้านบาท (บริษัทขนาดกลางแต่ไม่ถึงกับเป็นขนาดใหญ่) ยังเข้าถึงแหล่งเงินช่วยเหลือได้ไม่มากนัก

 

ขณะที่ SMEs รายใหม่ ไม่สามารถขอสินเชื่อได้ เนื่องจากการขอสินเชื่อจะต้องมีวงเงินกู้เดิมกับธนาคาร  เช่นเดียวกันผู้ประกอบการบางรายมีประวัติที่ไม่ดีประสบปัญหาเป็นหนี้ NPL หรือเคยผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ หรือค้างชำระหนี้ หรือขาดทุนในช่วงต้นปี 2563 จะส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ไม่ปล่อยสินเชื่อ ธปท. อีกทั้งธนาคารพาณิชย์เรียกหลักทรัพย์คํ้าประกันเพิ่ม แม้จะแจ้งว่าไม่บังคับ แต่มีส่วนในการตัดสินใจอนุมัติการปล่อยสินเชื่อ

 

นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม และเรียกร้องให้ซื้อประกันและแพ็กเกจขายพ่วงต่าง ๆ อีกทั้งธนาคารพาณิชย์แจ้งว่า สินเชื่อ ธปท. หมดแล้ว และเสนอ Package สินเชื่ออื่นแทน ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าและมีการเก็บค่าธรรมเนียม นอกจากนี้ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง ตรวจสอบงบการเงินย้อนหลัง โดยในบางกรณีพิจารณางบฯ มากกว่า 36 เดือน เป็นต้น

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

“สุพันธุ์”นอนมา ประธานสภาอุตฯคนใหม่

“สุพันธุ์”นั่งประธาน "ส.อ.ท." สมัย 3 ตั้งเป้าเพิ่มสมาชิก 2 หมื่นราย

“ส.อ.ท.” ชี้ เอสเอ็มอี เข้าถึง ซอฟท์โลน ได้ไม่ถึง 50%

 

‘สุพันธุ์’ ประธาน ส.อ.ท.วาระใหม่  กับโจทย์หินนำพา SMEs ฝ่าโควิด

                    สุพันธุ์  มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท.วาระปี 2563-2565

 

รับแรงปะทะรอบด้าน

นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า จากนี้ไปยังมีความไม่แน่นอนและปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน จากโลกยังต้องรับแรงปะทะต่าง ๆ จากสถานการณ์โควิด-19 และขีดความสามารถในการควบคุมการระบาดในประเทศคู่ค้าและประเทศไทย รวมทั้งความเสี่ยงจากการกลับมาระบาดของไวรัสในระลอกที่สองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ยังเป็นตัวแปรของปัจจัยเสี่ยง

 

อีกทั้งความผันผวนของเศรษฐกิจและระบบการเงินโลก ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ในช่วงที่เหลือของปี 2563 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่อาจทวีความรุนแรงมากและซํ้าเติมภาวะถดถอยของเศรษฐกิจและการค้าโลก รวมถึงทิศทางนโยบายของสหรัฐฯ ในช่วงหลังการเลือกตั้ง โดยเฉพาะนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และนโยบายเศรษฐกิจที่มีผลต่อประเทศคู่ค้า และความเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศสำคัญที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอ ซึ่งอาจขยายขอบเขตจากปัญหาในภาคการผลิต ไปสู่ปัญหาวิกฤตการณ์ทางการเงินการคลัง และวิกฤติทางการเมืองได้

 

คัมภีร์ฝ่าโควิด-19

ประธานส.อ.ท.  บอกด้วยว่าในเบื้องต้นสำหรับภาคธุรกิจจะฝ่าวิกฤติโควิด-19 ไปได้ต้องรีบปฏิบัติ 5 ข้อก่อน คือ  1.ยืดการชำระเงินกู้ไปอีก 2 ปี โดย 6 เดือนแรก พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ส่วนที่เหลืออีก 1 ปี 6 เดือนหลัง ให้พักเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย 2.ขอให้ บสย. เข้ามาคํ้าประกันสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ปล่อยกู้ตามวงเงินกู้ ธปท. 5 แสนล้านบาท เพื่อจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์กังวลเรื่องผู้ประกอบการยังไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ภายใน 2 ปี จึงต้องให้ บสย. คํ้าประกันหนี้ต่อหลังจากหมด พ.ร.ก.กู้เงินฯ

 

3. เสนอให้ออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพิ่มอีก 1 ล้านล้านบาท เพื่อมาดูแลเศรษฐกิจฐานราก และเงิน Soft loan เน้นดูแล SMEs และภาคเอกชนระดับกลางที่มีเงินลงทุนระดับ 200 ล้านบาท ถึง 500 ล้านบาท ที่มีปัญหาสภาพคล่องแต่ยังไม่ได้รับการดูแล

 

4.ให้กรมสรรพากรยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลแก่ SME ทุกธุรกิจ 3 ปี (สำหรับปีภาษี 2562 - 2564) โดยจะต้องเข้าระบบ E-Filing 5.ขอยกเว้นค่าปรับจากการยื่นแบบภาษีครึ่งปี (ภ.ง.ด. 51) แล้วประมาณการกำไรสุทธิปี 2563 คลาดเคลื่อนเกินร้อยละ 25 โดยขอยกเว้นค่าปรับร้อยละ 20 ของภาษีที่ขาด เนื่องจากผลกระทบ COVID-19 ทำให้ธุรกิจไม่สามารถคาดการณ์ผลกำไรที่ต้องเสียภาษีได้

 

สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี 2563 เศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง โดยมีแรงฉุดหลักจากเศรษฐกิจโลกที่ถดถอยหลังการระบาดของโควิด-19 ยังเพิ่มสูงขึ้นและบางประเทศพบจำนวนผู้ติดเชื้อรอบใหม่ (จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ฮ่องกง เป็นต้น) ส่งผลให้การค้าและการเดินทางระหว่างประเทศคงยากที่จะฟื้นตัวกลับมาได้เร็ว ขณะเดียวกันเงินบาทที่ผันผวนและเริ่มมีทิศทางแข็งค่า ก็ส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของผู้ส่งออก  รวมถึงกำลังซื้อครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ชะลอตัว ประกอบกับความไม่แน่นอนในตลาดการจ้างงาน ยังเป็นปัจจัยลบที่กดดันการใช้จ่ายในประเทศอย่างต่อเนื่อง 

 

สำหรับคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2564 มีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้จากผลของฐานที่ตํ่าในปี 2563 แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีความไม่แน่นอนหากการแพร่ระบาดของโควิด-19  ทั่วโลกมีความยืดเยื้อ แม้ไทยจะควบคุมการแพร่ระบาดฯได้ก็ตาม รวมทั้งในกรณีที่มีมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนมีความรุนแรงมากขึ้น และความเสี่ยงต่อวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าปัจจัยเหล่านี้ยังคงมีความไม่แน่นอนต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2564 

 

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,603 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563