ฟื้นฟู “การบินไทย” อาหารบริษัททำแผน

22 ส.ค. 2563 | 03:00 น.

ฟื้นฟู “การบินไทย” อาหารบริษัททำแผน? : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3603 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 23-26 ส.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

 

ฟื้นฟู“การบินไทย”

อาหารบริษัททำแผน?
 

     การฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) THAI ในชั้นของการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง กำลังเป็นที่จับตาอย่างมากว่าจะออกมาอย่างไร
 

     การไต่สวนของศาลล้มละลายกลาง เรื่องขอฟื้นฟูกิจการ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่วันที่ 17 สิงหาคม 2563 และวันที่ 20 สิงหาคม 2563 และครั้งสุดท้ายคือวันที่ 25 สิงหาคม 2563 มีเป้าหมายหลักแค่ 2 ประเด็น
 

     1.การบินไทย ควรได้รับการฟื้นฟูกิจการหรือไม่
 

     2.ควรแต่งตั้งคณะผู้ทำแผนตามที่การบินไทยเสนอหรือไม่
 

     เจ้าหนี้ผู้คัดค้านการจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ 16 ราย ก่อนจะถอนชื่อไป 1 ราย ล้วนโฟกัสไปในเรื่องเหล่านี้เป็นด้านหลัก
 

     พวกเขาล้วนแล้วแต่คาใจว่า คณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ อันประกอบด้วยกรรมการการบินไทย 6 คน  1.“บิ๊กต่าย” พล.อ.อ. ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน 2.นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล 3.นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค 4.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ 5. นายบุญทักษ์ หวังเจริญ 6.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร จะเอาอยู่หรือไม่
 

คณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การบินไทย แจงเหตุผลจ้างอีวาย-กระแสเงินสดลด9พันล้าน

ทุจริตในองค์กร-ซื้อฝูงบินยุคทักษิณ ฉุด “การบินไทย” ดิ่งเหว

"การบินไทย" โล่ง "ทิพยประกันชีวิต" ถอนคำค้านเสนอทำแผน

ไต่สวน “การบินไทย” นัด 2 เจ้าหนี้ข้องใจเงินหาย 1 หมื่นล้าน

     นอกจากนั้นเขายังคาใจ บริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ที่ได้รับการแต่งตั้งจากบอร์ดการบินไทยชุดก่อนให้ มี “อำนาจ” ในการเป็นผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการทั้งๆที่ ผู้บริหารของ “อีวาย” บอกว่าไม่มีความรู้ด้านการบินแม้แต่นิดเดียว
 

     และมีค่าใช้จ่ายที่สูงลิ่ว แบ่งเป็นค่าจัดทำแผนฟื้นฟู 22 ล้านบาท แบ่งจ่ายเป็นงวดๆ และค่าดำเนินการอีกเดือนละ 15 ล้านบาท
 

     ถ้าให้อีวายมีอำนาจเช่นนั้น หมายถึงว่าเป็นการผูกมัดคณะผู้ทำแผนว่าต้องใช้อีวายในการจัดทำแผนจะเบี้ยวไม่ได้
 

     ที่พิลึกกึกกือกว่านั้นเขาว่า อีวายฯ ชุดที่จะมาทำแผนนั้นมีรายได้แค่ปีละ 66 ล้านบาท แต่เชื่อมั้ยว่าค่าจ้างของการบินไทยรายเดียวมากกว่ารายได้หลักที่เกิดขึ้นในปี 2562 เสียอีก
 

     นี่ไม่นับว่าถ้าหากใครไปตรวจสอบรายได้ที่เกิดขึ้นจากการทำแผนฟื้นฟูในบริษัท สหฟาร์ม ที่บริษัท อีวาย ได้รับ จะอ้าปากค้าง และไม่รู้ว่าเงินได้นั้นบรรจุไว้ในบริษัทไหน รายการใด!
 

บริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

     ในวันแรกของการซักค้าน เจ้าหนี้ส่วนใหญ่ ซักค้านส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับประสบการณ์ ความน่าเชื่อถือ ของบริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ผู้จัดจ้างทำแผนฟื้นฟูให้กับการบินไทยฯ
 

     ข้อซักค้านดังกล่าว แม้แต่ นายชาญศิลป์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท การบินไทย ยังตอบว่า ผมไม่ทราบ เพราะเพิ่งเข้ามาดำรงตำแหน่ง
 

     ก่อนที่นายชาญศิลป์ จะหลุดออกมาว่า “อาจมีการยื่นขอฟื้นฟูใหม่อีก ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด หากการฟื้นฟูไม่เสร็จสิ้นตามแผนฯ”
 

     ไม่ต้องแปลก็บอกกล่าวแก่เจ้าหนี้และคู่ค้าได้ว่า ถ้าแผนฟื้นฟูที่ทำไปแล้วฟื้นฟูไม่ได้ก็ยื่นใหม่ ขยายเวลาอีก...!
 

บริษัท สำนักงาน อีวาย จำกัด

     ขณะที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในคณะผู้จัดทำแผนฟื้นฟู ชี้แจงว่า บริษัท อีวายฯ มีเครือข่ายอยู่ทั่วโลกและมีความเหมาะสมที่จะเป็นหนึ่งในผู้จัดทำแผน เนื่องด้วยมีความรู้ความสามารถแตกต่างกับคณะผู้จัดทำแผนทั้ง 6 คน ของการบินไทยฯ แม้ไม่เคยบริหารงานหรือจัดทำแผนให้กับรัฐวิสาหกิจ หรือบริษัทที่มีรายได้หลักแสนล้านบาทมาก่อน
 

     และเมื่อ นางชุติมา ปัญจโภคากิจ กรรมการ บริษัท อีวาย คอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด  ชี้แจงว่า บริษัทจะต้องทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน (airline expert) และบริษัทลูกหนี้ทุกคนจึงอ้าปากค้าง เพราะแปลความได้ว่า “เขาจะมาชาร์จค่าที่ปรึกษาพิเศษกับการบินไทยเพิ่มขึ้นแบบค้างคืนแน่นอน”
 

บริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

     ถ้าพิจารณาจากฐานะการเงินของการบินไทย ณ สิ้นปี 2563 ที่ทางฝ่ายบริหารการบินไทย ประเมินไว้ว่า จะขาดทุนสุทธิ 59,000 ล้านบาท ส่วนของทุนจะเหลือ 4.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่หนี้สินที่มีดอกเบี้ย ไม่รวมค่าเช่าเครื่องบิน 220,000 ล้านบาท ทำให้การเดินหน้าในเรื่องการจัดทำรายได้ การคืนหนี้แก่เจ้าหนี้แต่ละรายจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
 

     ยิ่งเมื่อเห็นตัวเลขที่ นายชาย เอี่ยมศิริ รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายการเงินและการบัญชี ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ดีลอยท์ ทู้ช โธมัทสุ ไชยยศ สอบบัญชี จำกัด ในฐานะผู้ตรวจสอบบัญชีของการบินไทย ชี้แจงพบว่า กระแสเงินสดหายไปกว่า 90,000 ล้านบาท ยิ่งไปกันใหญ่ (Go so Big)
 

     ยิ่งมาเห็นหนี้สิน ของการบินไทย ณ 31 ธ.ค. 2562 จำแนกเป็น 1. หนี้สินหมุนเวียน 62,636 ล้านบาท 2. หนี้สินระยะยาวจากหุ้นกู้ 74,108 ล้านบาท 3. หนี้สินระยะยาวภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าเครื่องบิน46,456 ล้านบาท 4. หนี้สินจากเงินกู้ยืมระยะยาว 23,288 ล้านบาท 5. หนี้สินไม่หมุนเวียนอื่น ๆ 38,411 ล้านบาท
 

     และเมื่อมาเห็นนรายได้ของการบินไทยที่แจ้งผลประกอบการแล้วพบว่า ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 56.1% มาอยู่ที่ 40,493 ล้านบาท ในขณะที่มีหนี้สินรวม 332,199 ล้านบาท หนี้สินเพิ่มขึ้นจากทั้งปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 243,042 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 89,157 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 36% ทำให้เจ้าหนี้ทุกคนยังผวา
 

     แม้ว่า นายชาญศิลป์ 1 ในคณะผู้ทำแผน และจะเป็น 1 ในผู้บริหารที่มีอำนาจเด็ดขาดในการบินไทย หลังจากศาลล้มละลายกลางเห็นชอบให้เป็นผู้ทำแผน จะพยายามชี้แจงว่าขณะนี้มีเจ้าหนี้รายใหญ่อย่างน้อย 100 ราย รวมทั้งกระทรวงการคลัง ธนาคารออมสิน ที่ได้ลงนามในหนังสือให้การสนับสนุนการฟื้นฟูกิจการการบินไทยและไม่คัดค้านคณะผู้ทำแผนฯ ที่การบินไทยเสนอ โดยเจ้าหนี้จำนวนกว่า 100 รายดังกล่าว คิดเป็น 50% ของจำนวนหนี้ตามงบการเงินไตรมาสที่ 2 ปี 2563
 

     แต่มิได้หมายความว่าเส้นทางการเดินของการบินไทยหลังจากนี้ไปจะราบรื่น ไร้รอยหนาม
 

บริษัท อีวายคอร์ปอเรท แอดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด

     เพราะเจ้าหนี้การค้า เจ้าหนี้สัญญาเช่าเครื่องบินรวมทั้งสิ้น 97,450 ล้านบาท ทั้งกลุ่มที่เป็นสัญญาเช่าที่ถึงกำหนดชำระภายใน 1 ปี  11,688  ล้านบาท และหนี้สินสัญญาตามเช่าเครื่องบินระยะยาว  85,761ล้านบาท ล้วนใช้สิทธิทวงหนี้ 100% ขณะที่เจ้าหนี้เครื่องบินต่างประเทศหลายรายได้ใช้สิทธิ์ในการทวงหนี้เต็มเอี๊ยด
 

     1.AerCap Ireland Capital Designated Activity Company ทรัสตีประจำให้แก่ ซีรี่ย์ส์ วัน (Series One) ของกองทรัสต์แอร์แคป โกลบอล อาวิเอชั่น (Aercap Global Aviation Trust) ผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 หลายลำ ได้ยึดเงินประกันเรียบร้อย
 

     2.บริษัท Goldfish Funding Limitedผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 ยึดเงินประกันหลายร้อยล้านบาทไว้เช่นกัน
 

     3..บริษัท DP Aircraft UK Limited ผู้ให้เช่าเครื่องบิน Boeing 787-8 ได้ทวงหนี้พร้อมดอกเบี้ยมา 100%
 

     ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการเขาว่ากันว่า นับตั้งแต่วิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ยื่นฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกว่า 52 บริษัท ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ กลับมาซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ตามปกติ  23 บริษัท คิดเป็น 44% (ใช้เวลาฟื้นฟู7ปี)
 

     “บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการไม่สำเร็จ” และถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ไป 20 บริษัท หรือ 38%
 

     “บริษัทที่ยังอยู่ระหว่างการฟื้นฟูกิจการ” มี 9 บริษัท ปัจจุบันอยู่ระหว่างถูกตลาดหลักทรัพย์ฯ ระงับการซื้อขาย (แขวน SP “ห้ามซื้อขาย” สูงสุด 18 ปี น้อยสุด 1 ปี)
 

ฟื้นฟู “การบินไทย” อาหารบริษัททำแผน

     เขาว่ากันว่า การฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลายจะเป็น “ทางรอดของธุรกิจ” แต่เป็น “ความเจ็บปวดของผู้ถือหุ้น” เพราะโดยหลักการทั่วไปแล้ว จะต้องดำเนินการลดทุนจดทะเบียน จนแทบไม่เหลืออะไรเลย จากนั้นจึงจะเจรจากับเจ้าหนี้ และการปรับโครงสร้างหนี้
 

     เขาว่ากันว่า การฟื้นฟูกิจการเป็นทางรอดของธุรกิจ แต่เป็นความเจ็บปวดของเจ้าหนี้รายย่อย เจ้าหนี้การค้า สาเหตุเพราะเหตุเจ้าหนี้รายใหญ่รวมหัวกันโหวตสัดส่วนการจ่ายเงิน การคุมกิจการ
 

     เขาว่ากันว่าการฟื้นฟูกิจการจะเป็นอาหารอันโอชะของคณะผู้ทำแผน แต่ผู้ถือหุ้นเจ็บปวด....เพราะบริษัทผู้ทำแผนจะกินเงินจากการบริหารที่ใช้คณะผู้บริหารบริษัทเดิมเป็นคนรันกิจการจนเหลือแต่กระดูก
 

     เขาว่ากันว่าการฟื้นฟูกิจการจะทำให้ผู้ลงทุนการลงทุนในหุ้นที่ขอฟื้นฟูกิจการ มีความเสี่ยงที่สูงมาก อาจสูญเสียเงินลงทุนไปทั้งหมดจากการถูก “ลดทุน” หรือฟื้นฟูไม่สำเร็จราคาหุ้นแทบไม่เหลือมูลค่าอะไรเพราะราคาหุ้นของบริษัทที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ส่วนใหญ่จะปรับตัวลงต่อเนื่องจนแทบจะเป็นศูนย์
 

     การบินไทยจะเป็นเช่นไร....ใครทายออกได้บ้าง!

 

***มังกรพุ่งชนอินทรีย์ ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (1)***