การบ้าน 5 ข้อ “รัฐนาวาตู่2/2” ฝ่าพายุวิกฤติเศรษฐกิจ

16 ส.ค. 2563 | 07:00 น.

การบ้าน 5 ข้อ “รัฐนาวาตู่2/2” ฝ่าพายุวิกฤติเศรษฐกิจ : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3601 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 16-19 ส.ค.2563 โดย... ว.เชิงดอย

 

การบ้าน 5 ข้อ “รัฐนาวาตู่2/2” ฝ่าพายุวิกฤติเศรษฐกิจ

       

     +++ สามารถเข้าปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แล้ว สำหรับ 7 รัฐมนตรีใหม่ หลังเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ อันประกอบด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ, นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน, นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายปรีดี ดาวฉาย รมว.คลัง, นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ รมว.การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน และเมื่อวันที่ 13 สิงหาคา ที่ผ่านมาทั้งหมดก็ได้เข้าร่วมประชุม ครม.เป็นครั้งแรก และได้รับมอบการแบ่งงานให้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
 

     +++ ตกเย็นมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งระบุ ว่า การจัดการกับวิกฤติเศรษฐกิจ เป็นเรื่องที่สำคัญมาก วิกฤติเศรษฐกิจที่เรากำลังเผชิญอยู่ จะไม่หายไปได้ในเร็ววัน พวกเราต้องอยู่บนโลกของความเป็นจริง ในเมื่อผู้เชี่ยวชาญทั้งในและต่างประเทศจำนวนมาก ต่างคาดการณ์ว่า ทุกคนคงจะต้องทนทุกข์กับวิกฤตนี้ ไปจนถึงปลายปีหน้า เมื่อทั้งโลกต้องเจ็บหนักกับวิกฤติเศรษฐกิจที่เลวร้ายกว่าครั้งไหน ประเทศไทยก็ได้รับความเดือดร้อนแสนสาหัสนี้ด้วย เพราะเศรษฐกิจไทย เชื่อมอยู่กับเศรษฐกิจโลกอย่างมาก เราพึ่งพานักท่องเที่ยวจากทั่วโลก และเราทำการค้าขายกับทั่วทุกมุมโลก เมื่อเราอยู่ในพายุวิกฤติเศรษฐกิจที่กำลังโหมกระหน่ำ เราเองก็ไม่สามารถหนีไปไหนได้ ซึ่งดูแล้วว่า เศรษฐกิจประเทศไทยจะเริ่มกลับมาเป็นปกติได้ ก็ต่อเมื่อประเทศอื่นๆ ในโลกเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ส่องแฟ้มครม. แบ่งงาน "รองนายกฯ-รมต.สำนักนายกฯ" ใครคุมกระทรวงไหน เช็กได้ที่นี่
นายกฯเซ็นแบ่งงาน“29 รมต.”หลายคนได้ดูแลพื้นที่ฐานเสียง
วันนี้ ครม.เตรียมเคาะแบ่งงาน รมต. “บิ๊กตู่” นั่งคุมเศรษฐกิจเบ็ดเสร็จ
เปิดใจ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” เชื่อมือ “บิ๊กตู่” นำทีมเศรษฐกิจ

     +++ นายกรัฐมนตรี บอกว่า สิ่งที่เราทำได้ คือการให้คนที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาทำงานช่วยเหลือประชาชนให้อยู่รอดได้ ในช่วงเวลาที่เลวร้ายนี้ นี่คือสิ่งที่ผมรับปากกับทุกคนในประเทศ ในแถลงการณ์ครั้งก่อนที่ผมพูดว่า เราต้องให้คนที่เก่งที่สุด จากทุกภาคส่วน และจากทุกระดับของสังคม ได้มีโอกาสใช้ความรู้ความสามารถ ทำงานร่วมกัน เพื่อผ่านพ้นวิกฤติโควิดนี้ไปให้ได้ และมากกว่าแค่ผ่านพ้นวิกฤติโควิด คือ ตอนนี้เราต้องทำงานร่วมกันเพื่อวางแผน และขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น ด้วยวิธีการทำงานแบบ new normal ที่ผมเรียกว่า รวมไทยสร้างชาติ ผมจึงได้ตัดสินใจเชิญผู้มีความสามารถ ซึ่งเป็นคนนอก ที่ไม่ได้มาจากภาคการเมือง เข้ามาเป็นรัฐมนตรีใหม่
 

     +++ สำหรับแนวทางที่มอบให้รัฐมนตรี  มี 5 อย่าง ที่ต้องทำ เพื่อดูแลพี่น้องประชาชนคนไทย คือ 1.ต้องเยียวยาความเจ็บปวดที่ประชาชนกำลังเผชิญอยู่ต่อไปอีกโดยเฉพาะกลุ่ม SME และประชาชนในภาคส่วนต่างๆ ที่ต้องตกงานในช่วงที่ผ่านมา 2.เราต้องแก้ปัญหาต่างๆ ในแนวทางที่จะช่วยประเทศ อย่างยั่งยืน โดยต้องตระหนักอยู่เสมอว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะยังคงอยู่ต่อไปอีกนาน ซึ่งผมรู้ดีว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะให้เงินเยียวยากันไปตลอด ดังนั้น เราต้องเริ่มทำโครงการที่จริงจัง ทำให้ได้ ที่จะช่วยแก้ปัญหาปัจจุบัน นอกจากนั้น ต้องเตรียมการที่จะสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างยั่งยืน เมื่อโลกกลับเข้าสู่ภาวะปกติ เราต้องทำโครงการที่ถูกต้อง ตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ และเราจะต้องใช้เงินที่มีอยู่อย่างเหมาะสม และให้ความช่วยเหลือไปถึงคนที่ต้องการจริงๆ โดยใช้กลไก โครงสร้าง คณะกรรมการ และศูนย์บริหารสถานการณ์ที่มีการทำงานบูรณาการกัน ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ
 

     +++ 3.เราต้องสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจต่างๆ ยังคงการจ้างงานลูกจ้างของเค้าต่อไป และให้ธุรกิจต่างๆ ใช้ช่วงเวลานี้ พลิกองค์กรของตัวเองให้กลายเป็นองค์กรที่มีประสิทธภาพและสามารถแข่งขันได้ดีขึ้น 4.เราต้องมีแผนเรื่องการจ้างงานคนรุ่นใหม่ นักศึกษาจบใหม่จำนวนมากกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน พวกเค้าจำเป็นต้องมีงานทำ และ 5.งานที่เกี่ยวกับการทำงานต่างๆ เหล่านี้ จะต้องทำด้วยความซื่อสัตย์ โปร่งใส่ และรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทุกคนในสังคมมีบทบาทหน้าที่ ที่จะช่วยกันนำพาประเทศ ก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปให้ได้
 

     +++ พล.อ.ประยุทธ์ บอกอีกว่า ตอนนี้กำลังเดินหน้าดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถที่อยู่ในภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ให้มาช่วยกันคิดและขับเคลื่อนประเทศด้วย ในช่วงเดือนนี้ และเดือนหน้า จะเริ่มทำเวิร์คช็อปกับภาคส่วนต่างๆ ซึ่งจะเข้ามานำเสนอวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนภาคส่วนของเขา นำเสนอมุมมองเกี่ยวกับโอกาสที่เขามองเห็น และมุมมองเกี่ยวกับบทบาทของรัฐบาลในการสนับสนุนภาคส่วนนั้นๆ ให้เดินหน้าได้เร็วยิ่งขึ้น โดยจะเข้าร่วมรับฟังการนำเสนอของทุกภาคส่วนด้วยตัวเอง สิ่งที่ผมต้องการสำหรับประเทศไทย คือ เมื่อถึงเวลาที่วิกฤติโควิดเริ่มหายไป ประเทศไทยของเราจะไปอยู่ในจุดที่จะกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งได้อย่างรวดเร็ว สร้างโอกาสการจ้างงานมหาศาล และทำให้ประเทศไทยอยู่ในจุดที่ดีขึ้นกว่าก่อนที่โควิดจะเกิดด้วยซ้ำ

     +++ นายกรัฐมนตรี ย้ำในตอนท้ายว่า ขอพูดต่อหน้าประชาชนคนไทยทุกคนว่า กรุณาปฏิเสธความเกลียดชัง และการแบ่งแยกทางการเมือง ขอให้ปฏิเสธการเมืองแบบเก่า ที่แพร่กระจายเชื้อโรคของความแตกแยก ระหว่าง ความเชื่อที่แตกต่าง คนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า คนรวย คนจน หรือความแตกต่างอะไรก็ตามที่ถูกใส่เข้ามาในสังคมของเรา อนาคตเป็นของคนรุ่นใหม่ และอนาคตก็อยู่ในมือคนรุ่นใหม่ ให้คนรุ่นใหม่แสดงออกมาให้ทุกคนเห็นว่า เขามีพลังที่จะเดินหน้าประเทศ ไปในเส้นทางที่จะร่วมแรงร่วมใจกันทุกคนทุกฝ่าย ก้าวข้ามความคิดเห็นที่อาจจะแตกต่างกันบ้าง เพื่อช่วยแก้ปัญหาปากท้องในปัจจุบัน และก้าวไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น เราต้องอยู่เหนือการโต้เถียงกัน และเราต้องอยู่เหนือการเมือง เพราะเรามีสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากรออยู่ตรงหน้า นั่นคือความอยู่รอดในการหาเลี้ยงชีวิตของคนนับล้าน
 

     +++ ปิดฉากไปแล้วสำหรับผลการสอบสวนของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงการใช้ดุลพินิจข้าราชการตำรวจกรณีไม่เห็นแย้งอัยการสูงสุด ในคดี นายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ “บอส อยู่วิทยา” ทายาทเจ้าสัวกระทิงแดง ขับรถชนตำรวจสน.ทองหล่อ ตาย เมื่อปี 2555 โดยผลการสอบสวนเป็นไปตามความคาดหมาย คือ พล.ต.ท.เพิ่มพูน ชิดชอบ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผู้ช่วย ผบ.ตร.) คนสั่งไม่เห็นแย้งกับอัยการสูงสุด “รอด” ไม่พบความผิดพลาด บกพร่อง แต่อย่างใด
 

     +++ พล.ต.ท.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ที่ร่วมแถลงข่าวให้เหตุผลที่ “พล.ต.ท.เพิ่มพูน” ไม่มีความผิดว่า เนื่องจากการพิจารณาคำแย้งคำสั่งพนักงานอัยการ แย้งได้เฉพาะประเด็นข้อกฎหมาย กฎระเบียบ ว่าตามที่พนักงานอัยการกล่าวอ้างมาถูกต้องหรือไม่ โดยจะนำความในคำพิพากษาศาลฎีกา หรือความเห็นทางกฎหมายจากผู้เชี่ยวชาญประกอบเหตุผลการพิจารณา และพิจารณาจากข้อเท็จจริง พยานหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนที่อัยการส่งมาเท่านั้น และแย้งได้เฉพาะประเด็นที่สามารถกลับความเห็นของพนักงานอัยการได้ ไม่มีอำนาจทำการสอบสวนพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือหยิบยกพยานหลักฐานนอกสำนวนมาพิจารณาได้ เนื่องจากอำนาจการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว เมื่อส่งสำนวนให้พนักงานอัยการ ในประเด็นข้อเท็จจริงที่นำมาพิจารณาต้องประกอบด้วยพยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญอันสามารถหักล้างความเห็นไม่ฟ้องของพนักงานอัยการได้
 

     +++ ตำรวจระดับสูงรอดไป แต่ตำรวจระดับชั้นล่างลงมา มี 14 รายที่ไม่รอด ต้องถูกดำเนินการทางวินัย และอาจเจอ “อาญา” ด้วย โทษฐานที่ทำสำนวนคดี “บกพร่อง” โดยเฉพาะในเรื่องยาเสพติด (โคเคน) ให้โทษ ซึ่งมีอัตราโทษจำคุก 6 เดือน ถึง 3 ปี หรือปรับ 1 หมื่น ถึง 6 หมื่นบาท และอีกเรื่องคือ ความเร็วรถ ซึ่ง พ.ต.อ.ธนสิทธิ์ แตงจั่น นักวิทยาศาสตร์ สำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ รับไปเต็มๆ ที่จะถูกสอบวินัย และดำเนินคดีตามประมาลกฎหมายอาญามาตรา 157 รวมทั้งหมด 14 นาย เป็นพนักงานสอบสวนชุดเก่า 11 นาย และชุดใหม่ 3 นาย