ภารกิจเร่งด่วน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ

09 ส.ค. 2563 | 02:00 น.

ภารกิจเร่งด่วน แก้ปัญหาเศรษฐกิจ : บทบรรณาธิการฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3599 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 9-12 ส.ค.2563

 

ภารกิจเร่งด่วน

แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
 

     จัดทัพคณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียบร้อยแล้ว คาดว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จะมาเป็นหัวหน้าทีมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ในการประสานการทำงานกับกระทรวงเศรษฐกิจที่สำคัญต่างๆ ภายใต้วิกฤติเศรษฐกิจที่ยังรุนแรง
 

     โจทย์ใหญ่ของทีมเศรษฐกิจ เวลานี้คงต้องพุ่งเป้าการแก้ปัญหาไปที่เครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เวลานี้ดับทุกตัว ไม่ว่าการลงทุนของภาคเอกชน การส่งออก การท่องเที่ยว การบริโภค ทำให้หลายสำนักออกมาคาดการณ์ตัวเลขการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจหรือจีพีดีพีของประเทศในปีนี้อาจะติดลบถึงตัวเลข 2 หลัก อย่างสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย คาดการณ์ติดลบไว้ที่ 8.4% ถึงติดลบ 11% ขณะที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) คาดการณ์ อยู่ในกรอบติดลบ 9% ถึงติดลบ 7% ส่วนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประเมินตัวเลขจีดีพีอีกครั้งในเดือนกันยายนนี้ จากที่คาดการณ์ติดลบที่ 8.1%
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 
ไหวมั้ย? “ทีมเศรษฐกิจใหม่” รัฐบาลลุงตู่
ปรับครม.เพื่อใคร
ปรับครม. อย่าให้ร้อง “ยี้”
ปรับครม. แรงกดดัน จากพลังประชารัฐ
 

     เรื่องหลักๆ ที่ต้องเร่งแก้ปัญหา ตามที่มีเสียงสะท้อนจากหลายฝ่าย อยากจะให้ทีมเศรษฐกิจพุ่งเป้าไปที่การแก้ปัญหาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี ที่ประสบปัญหากับการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มภาคท่องเที่ยวและบริการ ที่มีปัญหาจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ขาดรายได้หรือรายได้ที่ลดลง จำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างหนี้ และการจัดหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้

 

     อีกทั้ง การเข้ามาช่วยเหลือภาคการส่งออก ที่มีการประเมินว่าทั้งปี 2563 นี้จะติดลบ 10% ถึงติดลบ 12% ซึ่งทางสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐเข้ามาช่วยเหลือหรือประคองธุรกิจให้อยู่รอด ไม่ว่าจะการเร่งรัดการดำเนินมาตรการเยียวยาด้านการเงินสำหรับเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และเสนอให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ต้องเข้ามาเพิ่มการค้ำประกันให้กับการกู้เงินของภาคเอกชนจากธนาคารพาณิชย์เป็นรายบริษัท และต้องสนับสนุนเงินทุนเพิ่มเติมให้กับ บสย. เพื่อให้มีวงเงินที่เพียงพอ
 

     รวมทั้งให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามารักษาเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทให้สามารถแข่งขันได้ เช่น อยู่ระดับ 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และผ่อนปรนนโยบายการปล่อยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ (Soft loan) เป็นต้น
 

     นอกจากนี้ ทีมเศรษฐกิจจะต้องเร่งรัดการสร้างงาน สร้างอาชีพโดยเร็ว เพื่อลดภาวะการว่างงาน ที่ขณะนี้สถานการณ์ตกงานเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะการเร่งอนุมัติโครงการตามแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ยังค้างอยู่กว่า 5 หมื่นล้านบาท จากที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติไปแล้วราว 10 โครงการ วงเงินกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งหากอนุมัติได้เร็ว และเม็ดเงินทั้งหมดลงถึงท้องถิ่น ก็จะช่วยให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพได้กว่า 4 แสนคน
 

     ดังนั้น ความคาดหวังต่อทีมเศรษฐกิจใหม่ ที่มี นายสุพัฒนพงษ์ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ และมี นายปรีดี ดาวฉาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่มาจากภาคธุรกิจ น่าจะเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น และต้องเร่งแก้ปัญหาโดยด่วน เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้า และทุกภาคส่วนอยู่รอดได้