การผลิตไฟฟ้า : ธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยง

09 ส.ค. 2563 | 03:00 น.

 

 

ธุรกิจผลิตไฟฟ้าในบ้านเราเป็นธุรกิจที่ไม่มีความเสี่ยงหรือความเสี่ยงต่ำ เมื่อเทียบกับธุรกิจพลังงานประเภทอื่นๆ ที่ผลิตพลังงานเพื่อความมั่นคงเหมือนกัน อย่างเช่นโรงกลั่นน้ำมันเป็นต้น

โรงกลั่นน้ำมันผู้ลงทุนต้องรับความเสี่ยงเองทั้งหมด ทั้งการซื้อขายน้ำมันดิบที่ราคาต้องเปลี่ยนแปลงไปตามตลาดโลกและคาดเดาได้ยาก เมื่อกลั่นออกมาเป็นน้ำมันสำเร็จรูปจะขายได้ราคาเท่าไรก็ยังไม่ทราบ เพราะใช้โครงสร้างราคาแบบราคาอ้างอิง (Reference Price) ต้องแล้วแต่ราคาตลาดในขณะนั้นว่าเป็นอย่างไร จึงมีความเสี่ยงสูงทั้งทางด้านการจัดหาวัตถุดิบ (Supply) และราคาขาย (Pricing)

เมื่อกลั่นน้ำมันออกมาแล้วไม่มีการประกันการซื้อขายโดยภาครัฐ จะขายได้หรือไม่ก็เป็นเรื่องของ Demand/Supply กลั่นได้มากเกินไป มีน้ำมันล้นตลาด ก็ต้องแข่งกันขาย แข่งกันลดราคา หรือไม่ก็ต้องไปขวนขวายหาตลาดส่งออกเอาเอง สรุปก็คือธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันเป็นธุรกิจที่ขึ้นอยู่กับกลไกการตลาดอย่างแท้จริง

แต่ธุรกิจผลิตไฟฟ้าเป็นธุรกิจที่ออกแบบมาให้มีการปิดความเสี่ยงให้กับผู้ลงทุน โดยมีสัญญาซื้อขายทั้งเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าและราคาขายไฟฟ้าที่แน่นอนตลอดอายุสัญญาระยะยาว นอกจากนั้นโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้ายังเป็นแบบ Cost Plus คือคิดผลตอบแทนการลงทุนและค่าใช้จ่ายทั้งหมดลงในราคาไฟฟ้าที่ขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งก็เท่ากับเป็นการประกันความเสี่ยงให้กับผู้ผลิตตลอดอายุสัญญาโรงไฟฟ้านั่นเอง เราจึงเห็นราคาหุ้นของบริษัทผลิตไฟฟ้าไม่เปลี่ยนแปลงมากนักไม่ว่าตลาดจะขึ้นหรือลงมากแค่ไหน

โครงสร้างค่าไฟฟ้าปัจจุบันแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ 1.ค่าไฟฟ้าฐาน (ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, ระบบสายส่ง, ระบบจำหน่าย, ค่าผลิตพลังงานไฟฟ้าภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิงและผลตอบแทน ณ วันที่กำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้า)

2. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที (สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือการควบคุมเช่น ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากค่าไฟฟ้าฐาน, ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ เช่น ค่าส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า หรือAdder ค่า Feed in Tariff-FiT, กองทุนพัฒนาไฟฟ้า)

3. ค่าบริการรายเดือน ซึ่งจะแตกต่างไปตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก, ขนาดกลาง, ขนาดใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง, องค์การที่ไม่แสวงหากำไร, กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว) 

4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม ปัจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.61 บาทต่อหน่วย ต้นทุนส่วนใหญ่จะมาจากระบบผลิต ถึงประมาณ 79% รองลงมาคือค่าระบบจำหน่ายทั้งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ประมาณ 15% และค่าระบบส่ง ประมาณ 7%

จะเห็นว่าค่าลงทุนในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบส่ง ระบบจำหน่าย ตลอดจนผลตอบแทนการลงทุนและค่าใช้จ่ายต่างๆในการผลิตไฟฟ้า รวมทั้งค่าพลังงานที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไปจากสัญญาซื้อขายพลังงานระยะยาวที่ตกลงกันไว้ตั้งแต่สร้างโรงไฟฟ้า ล้วนถูกคิดรวมไว้ในค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บจากประชาชนทั้งสิ้น (ข้อ 1 และ 2)

นอกจากนั้นในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกฟผ.กับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (IPP) ยังมีค่าไฟฟ้าที่เรียกว่าค่า AP (Availability Payment) หรือค่าความพร้อมจ่าย เป็นค่าไฟฟ้าที่จ่ายให้โรงไฟฟ้าประเภทใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน จะจ่ายให้ “เมื่อโรงไฟฟ้ามีความพร้อมจ่ายไฟฟ้า (available)” ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าที่สัญญาว่า จะจ่ายไฟฟ้าได้มั่นคง

ในสัญญายังมีเงื่อนไขเรื่องการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าประเภทจำเป็นต้องรับซื้อขั้นต่ำตามสัญญา (Must Take) และโรงไฟฟ้าที่จำเป็นต้องเดินเครื่อง เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง (Must Run) แม้ต้นทุนจะสูงกว่าโรงอื่นก็ตาม

จะเห็นได้โครงสร้างราคาและรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ดังกล่าว เป็นรูปแบบที่รัฐปิดความเสี่ยงให้ผู้ผลิต และผลักภาระทั้งหมดให้กับผู้บริโภคจริงๆ !!!

หน้า 9 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563