หน้าตาที่เปลี่ยนไป ของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด-19  (1)

06 ส.ค. 2563 | 06:50 น.

หน้าตาที่เปลี่ยนไป ของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด-19  (1) คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร

คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ  ฉบับที่ 3,598 วันที่ 6 - 8 สิงหาคม พ.ศ. 2563

 

พลันที่รัฐบาลจีนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 (เม.ย.-มิ.ย.) ของปี 2020 ซึ่งสูงกว่าที่หลายสำนักคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้มาก ก็ทำเอาผู้คนต่างสงสัยว่าเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวเร็วและแรงเช่นนี้ได้อย่างไร หลายคนมองข้ามช็อตอยากรู้ว่าหากสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 และเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ดำเนินไปเช่นนี้ หน้าตาของเศรษฐกิจโลกจะเป็นเช่นไรในสิ้นปีนี้ 

 

ปัจจัยพลิกฟื้นเศรษฐกิจจีน รัฐบาลรับเครดิต

 

ภายหลังการยอม “กินยาขม” เพื่อคุมเข้มการติดเชื้อโควิด-19 และเร่งการเปิดกิจการและสายการผลิตอีกครั้งหลังจากปิดไประยะหนึ่ง รัฐบาลจีนก็เดินหน้าอัดมาตรการด้านการเงินการคลัง และชูธงจัดกิจกรรมกระตุ้นเศรษฐกิจจำนวนมากในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน จนกลายเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญที่จัดการกับวิกฤติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 อย่างเห็นได้ชัด

 

การเติบโตในอัตรา 3.2% ในไตรมาสที่ 2 ดังกล่าว ได้ส่งสัญญาณการฟื้นตัวเป็นตัววีอย่างชัดเจน ซึ่งช่วยชดเชยการชะลอตัวทางเศรษฐกิจในไตรมาสแรกที่ -6.8% ซึ่งย่ำแย่สุดครั้งหนึ่งของจีนในช่วงครึ่งศตวรรษที่ผ่านมาได้เป็นอันมาก ส่งผลให้เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งปีแรกหดตัวลง -1.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

 

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นได้ชัดเจนก็คือ จีนพยายามเน้นการกระตุ้นและใช้ประโยชน์จากหลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่กำกับควบคุมได้ในระดับที่สูงเป็นสำคัญ ขณะการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจก็ยังขาดสมดุล โดยเครื่องยนต์เศรษฐกิจด้านอุปทานดูจะแรงกว่าด้านอุปสงค์ กล่าวคือ

 

ประการแรก ในด้านอุปทาน รัฐบาลจีนเดินหน้าเร่งเปิดกิจการและภาคการผลิตอีกครั้ง นับแต่เดือนเมษายนจนกลับสู่สภาวะเกือบเป็นปกติในปัจจุบัน แต่บางส่วนก็ยังเดินสายการผลิตต่ำกว่ากำลังการผลิตที่แท้จริง ทำให้เศรษฐกิจจีนได้รับประโยชน์จากภาคการผลิตที่ฟื้นตัวจากที่เดิมเคยหดตัวถึง -7.1% ในไตรมาสแรก กลับมาเป็นขยายตัว 4.4% ในไตรมาสที่ 2 โดยสินค้าเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยานยนต์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์นับว่ามีบทบาทสูงในช่วงเวลาดังกล่าว

 

ประการที่สอง การลงทุนในสินทรัพย์คงที่ ซึ่งเป็นมาตรวัดการใช้จ่ายในโครงสร้างพื้นฐานอสังหาริมทรัพย์ และเครื่องจักรเครื่องมือ ส่งสัญญาณเชิงบวกจากหดตัวลง 6.3% ในช่วง 5 เดือนแรก เหลือลดลง -3.1% ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ก็โดยลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในอุตสาหกรรมไฮเทคที่สอดคล้องกับนโยบาย Made in China 2025 ขยายตัว 6.3% พลิกสถานการณ์จากที่เคยหดตัวถึง -12.1% ในไตรมาสแรก 

หน้าตาที่เปลี่ยนไป  ของเศรษฐกิจโลกยุคหลังโควิด-19  (1)

 

 

ขณะเดียวกัน ภาคบริการก็เป็นอีกเครื่องยนต์หนึ่งที่จุดติดและวิ่งฉิว จากที่เคยดำดิ่ง -5.2% ในช่วงไตรมาสแรกให้พลิกกลับมาเติบโต 1.9% ในไตรมาสที่ 2 โดยส่วนสำคัญก็ได้แก่ การค้าออนไลน์ที่ขยายตัวในอัตราที่สูงมาก และการท่องเที่ยว โดยรัฐบาลจีนทยอยเปิดพื้นที่การท่องเที่ยวจากภายในมณฑล/มหานคร ขยายเป็นภายในภูมิภาค และกระจายออกไปทั่วประเทศ 

 

การประกาศปิดน่านฟ้าและไม่เปิดให้มีการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ ซึ่งในด้านหนึ่งก็กระทบกับธุรกิจที่พึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างมาก แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็ถูกชดเชยด้วยตลาดนักท่องเที่ยวภายในประเทศ และดูจะได้ประโยชน์ในภาพรวมเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะปกติในแต่ละปี ชาวจีนจะออกไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากกว่าที่ต่างชาติเข้ามาเที่ยวจีนอยู่มาก

 

ในภาคการบริโภค มูลค่าการค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกพุ่งขึ้นแตะ 17.2 ล้านล้านหยวน แต่ก็ยังไม่ร้อนแรงมากนัก เพราะในภาพรวมยังคงหดตัวในอัตราหลักสิบเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มสินค้าที่จำเป็น นอกจากนี้ กำลังซื้ออาจดูดีในเฉพาะในเขตเมือง แต่อ่อนแรงในชนบท

 

แต่ครั้นรัฐบาลจีนควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสร้ายได้ ก็พยายามกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในประเทศครั้งใหญ่ โดยร่วมมือกับภาคเอกชนจัดกิจกรรมใหม่หลายรูปแบบจ่ายใช้สอยทั่วประเทศ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ กลางวันและกลางคืน อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อชดเชยกิจกรรมที่ยกเลิกไปในช่วงไตรมาสแรกกลับคืนมา อาทิ เทศกาลดับเบิ้ล 5 เศรษฐกิจหาบเร่แผงลอย และเศรษฐกิจยามราตรี ซึ่งส่งผลให้ภาคการบริโภคฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องจากที่เคยหดตัว -20.5% ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ที่รัฐบาลจีนประกาศล็อกดาวน์หลายเมือง ขยับเป็น -7.5% ในเมษายน -2.8% ในพฤษภาคม และเหลือเพียง -1.8% ในเดือนมิถุนายน 

 

นับแต่ต้นปี ผลจากโควิด-19 ทำให้อุปสงค์หดหายไป และกดดันให้ราคาและต้นทุนการผลิตสินค้าไม่สามารถขยับขึ้นได้ อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของภาคการบริโภคและการผลิตทำให้อัตราเงินเฟ้อ (CPI) และดัชนีราคาสินค้าหน้าโรงงาน (PPI) เริ่มผงกหัวขึ้นเป็นครั้งแรกในเดือนที่ 6 ของปี

 

ประการถัดมา การลงทุนของภาครัฐซึ่งถูกใช้เป็นกลไกหลักในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ก็ดูจะเปี่ยมด้วยพลัง โดยหลังเกิดวิกฤติโควิด-19 รัฐบาลจีนได้เห็นชอบให้รัฐบาลท้องถิ่นออกพันธบัตรเพื่อระดมเงินลงทุนสำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกระลอกใหม่ เช่น รถไฟใต้ดินที่เมืองต้าเหลียน และสถานีรถไฟที่เมืองซีอาน


 

 

ขณะเดียวกัน ถนน รถไฟความเร็วสูง เครือข่ายระบบ 5G และอื่นๆ ก็ยังถูกผลักดันสู่พื้นที่ตอนกลางและซีกตะวันตก ขณะที่หลายเมืองใหญ่ก็เร่งโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถไฟใต้ดิน และการทดลองใช้นวัตกรรมในเขตเมือง 

 

บางเมืองก็ปรับผังเมืองไปอีกระดับหนึ่ง อาทิ นครเซี่ยงไฮ้เดินหน้าขยายถนนคนเดิน “หนานจิงลู่” ไปจนถึงไว่ทัน หรือ หาดเจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้ที่คนไทยรู้จัก โดยวางแผนจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน ศกนี้ ซึ่งนั่นหมายความว่า ในช่วงฉลองวันชาติจีน เราจะเห็นผู้คนหลั่งไหลเป็นรูปตัวทีจากต้นถนนคนเดินฝั่งตะวันตกทอดยาวไปด้านซีกตะวันออกจนถึงริมแม่น้ำหวงผู่

 

นอกจากนี้ นับแต่ต้นปี แหล่งช้อปปิ้งในเขตจิ้งอันบนถนนหนานจิงและถนนซ่านซีที่อยู่ติดกัน ซึ่งปกติจะเห็นมูลค่าการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยกว่า 15% ต่อปีก็ทยอยเปิดร้านต้นแบบและร้านสินค้าแบรนด์เนมของต่างชาติและของจีนขนาดใหญ่มากมาย ช้อปเสร็จก็สามารถใช้แอพเรียกรถแท๊กซี่ไร้คนขับเดินทางกลับบ้านได้

 

ในด้านการค้าระหว่างประเทศ จีนยังคงเกินดุลการค้าในช่วงครึ่งปีแรก โดยการส่งออกของจีนมีมูลค่าราว 1.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ชะลอตัว -6.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 0.9 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ชะลอตัว -7.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ สัญญาณที่ดีก็คือ การส่งออกและนำเข้าขยายตัวมาเป็นบวกได้ในเดือนมิถุนายน ซึ่งส่วนหนึ่งต้องถือเป็นความโชคดีที่ราคาน้ำมัน ทองแดง และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นในตลาดโลกลดลง

 

ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ การค้าระหว่างจีนและอาเซียนขยายตัวอย่างมากในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่การค้าระหว่างจีนกับคู่ค้าหลักอื่น อาทิ สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ชะลอตัว ซึ่งส่งผลให้อาเซียนกลายเป็นคู่ค้าอันดับแรกของจีนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์

 

เกี่ยวกับผู้เขียน :  : ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน ผู้เชี่ยวชาญที่สั่งสมความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับตลาดจีน มุ่งหวังนำข้อมูลและมุมมอง ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจ ธุรกิจ การตลาดและอื่น ๆ  ที่อยู่ในกระแสของจีนมาแลกเปลี่ยนกับผู้อ่าน เพื่อเราจะไม่ตกขบวน “รถไฟความเร็วสูง” ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของจีน