อุตสาหกรรมไทย : ครึ่งปีแรกถอยหลังไป 10 ปี

06 ส.ค. 2563 | 02:50 น.

ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมไทย (Manufacturing Production Index: MPI) ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ที่ประกาศผลผลิตภาคอุตสาหกรรมครึ่งปีแรกของปี 2563 พบว่า ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อนถึง -12.9% นับเป็นเปอร์เซ็นต์ของการลดลงที่ต่ำสุดตั้งแต่วิกฤติน้ำท่วมในปี 2554  

              ถ้านับเป็นรายเดือน ก็ถือว่าผลผลิตที่ลดลง -23.8% ในเดือนพฤษภาคม 2563 มีระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบสิบปี ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2554 ที่อัตราการขยายตัวลดลงถึง -45.4% ซึ่งเรากำลังเจอเหตุการณ์วิกฤติน้ำท่วม และทุกคนยังจำวลีเด็ด “เอาอยู่” กันได้ดี นับว่าเป็นการช็อค (Supply Shock) ที่สุดของการขยายตัวการผลิตของอุตสาหกรรมไทย แต่อย่างไร ภาคอุตสาหกรรมไทยก็ใช้เวลาเพียงสามเดือนเพื่อฟื้นตัวกลับมายืนอีกครั้งมาอยู่ในระดับเกือบปกติในต้นปี 2555

สำหรับไตรมาสที่สอง (เมษายน – มิถุนายน) ของปีนี้ ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมมีอัตราการขยายตัวลดลงกว่า -20% ถือว่าเป็นอัตราขยายตัวที่แย่ที่สุดในรอบกว่าสิบปีนับตั้งแต่ไตรมาสที่สามของปี 2554 แต่คราวนี้อาจจะต่างจากเหตุการณ์น้ำท่วมคราวก่อน แม้ว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมจะลดลงเหมือนกัน ครั้งก่อนลดลงเพราะการผลิตหยุดชะงัก และระบบห่วงโซ่อุปทานในประเทศถูกตัดขาด ทั้ง ๆ ที่ต่างประเทศยังมีความต้องการซื้ออยู่

แต่ครั้งนี้กลายเป็นว่าด้านการผลิตถูกระงับจากมาตรการด้านสาธารณสุขของรัฐ การขนส่งสินค้าระหว่างประเทศหยุดชะงัก และอุปสงค์ของโลกลดลงอย่างกระทันหัน เนื่องจากทุกประเทศในโลกหันไปทุ่มเทกับสิ่งที่ห่วงใยมากที่สุดคือไวรัสโคโรนา รวมทั้งผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายและจัดลำดับความสำคัญต่อสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตในช่วงไวรัสมากขึ้นทำให้ชะลอการบริโภคสิ่งอื่นออกไป

แม้ว่าวิกฤติโควิด-19 จะทำให้ผลผลิตในหลายอุตสาหกรรมลดลงอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 แต่มีหลายอุตสาหกรรมที่ได้โอกาสจากวิกฤติไวรัสครั้งนี้ ไม่ว่าอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุตสาหกรรมยา ฯลฯ ช่วยพยุงผลผลิตภาพรวมอุตสาหกรรมได้บางส่วน ทำให้ผลผลิตภาพรวมแม้ว่าทรุดลงมาก แต่ก็ไม่มากเท่ากับในช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ปี 2554 แม้ว่าในสองสถานการณ์นี้อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปจะมีอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นทั้งสองช่วง เพราะผู้คนต่างหวาดระแวงการขาดแคลนอาหาร แต่ในสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 นั้น อุตสาหกรรมอาหารที่วัตถุดิบจากภาคเกษตรกรรมขาดแคลนอย่างหนัก

แต่ในไตรมาสที่สองของปี 2563 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมอาหารเกษตรแปรรูปไม่ได้รับผลกระทบทางด้านวัตถุดิบแต่อย่างใด ทำให้อัตราการขยายตัวสูงขึ้นมากและช่วยพยุงไม่ให้อุตสาหกรรมในภาพรวมตกลงไปมากเหมือนตอนน้ำท่วมใหญ่

อุตสาหกรรมไทย : ครึ่งปีแรกถอยหลังไป 10 ปี

 

สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีน้ำหนักสำคัญในดัชนีอุตสาหกรรมรวมนั้นสถานการณ์ในช่วงปี 2563 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และลงต่ำสุดในเดือนพฤษภาคมที่ลดลง -68.7% และในเดือนมิถุนายนลดลง -57.5% ส่งผลทำให้ในครึ่งปีแรกของปี 2563 ผลผลิตลดลง -42.5% ซึ่งถ้ามองย้อนกลับไปจะพบว่าการผลิตในปัจจุบันของยานยนต์อยู่ในปริมาณที่ถอยหลังไปน้อยว่าการผลิตในปี 2552-2553 ซึ่งเป็นปีที่ทั่วโลกกำลังเผชิญวิกฤติทางการเงินที่เรียกว่า “วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (Subprime Crisis)”

และลึกกว่าช่วงที่ประเทศประสบปัญหาน้ำท่วมในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 ที่ระบบห่วงโซ่อุปทานขาดสะบั้นเสียอีก จากดัชนีผลผลิตยานยนต์ทั้งรายเดือนและรายไตรมาสแสดงให้เห็นว่า ผลผลิตเราถอยลงไปลึกกว่าช่วงน้ำท่วมและแย่กว่าในช่วงวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ เรียกว่าถอยไปไกลถึงกว่า 20 ปี ถึงปี 2543 - 2545 เรียกว่าความพยายามที่ผ่านมากว่า 20 ปีหายวับไปพร้อมกับโควิด-19

ส่วนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นจะขึ้นเร็วเป็นตัว “วี” แบบก้นแหลมในช่วงน้ำท่วม หรือ “วี” แบบก้นหนาในช่วงวิกฤติการเงินโลก ก็คงขึ้นกับสถานการณ์ของตลาดโลกเป็นสำคัญ เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยกว่า  60% พึ่งพิงตลาดต่างประเทศ ดังจะเห็นในช่วงน้ำท่วมซึ่งถือว่าเป็นปัญหาทางด้าน “ซัพพลาย” พอเราแก้ไขเรื่องน้ำท่วมได้ เปิดโรงงานได้ ทุกอย่างก็กลับสู่ปกติ เพราะโลกไม่มีปัญหา

แต่วิกฤติการณ์ครั้งนี้ไม่เหมือนเดิมที่เป็นเพียงด้านอุปทานและในประเทศเท่านั้น แต่คราวนี้อุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญปัญหาทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานทั้งโลกและทั้งคนซื้อและการผลิต ดังนั้น โอกาสการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมนี้ก็คงหวังให้เป็นตัวเร่งได้ไม่ง่ายอย่างที่คิด เนื่องจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่ยังไม่มีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากนัก ทำให้การขยายตัวของยานยนต์ประเภทปิกอัพและเอนกประสงค์ (SUV และ MUV) ภายในประเทศยังขยายตัวได้ยาก นอกจากนี้ เทคโนโลยีใหม่ของยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงทำให้การขยายการลงทุนใหม่ในเทคโนโลยีเดิมอาจมี
ไม่มาก ในขณะที่การยอมรับของผู้บริโภคต่อยานยนต์ในเทคโนโลยีใหม่ยังต้องใช้เวลาอีกสักระยะ ทำให้การฟื้นของอุตสาหกรรมนี้เป็นไปอย่างช้า ๆ และเปราะบางในเทคโนโลยีเดิม

อุตสาหกรรมไทย : ครึ่งปีแรกถอยหลังไป 10 ปี

ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ อาทิ เหล็กและเหล็กกล้า ปิโตรเลียม ยางรถยนต์ ฯลฯ ต่างได้รับผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยเฉพาะเหล็ก การชะลอตัวของงบประมาณปี 2563 และโครงการก่อสร้างของรัฐหลายโครงการที่เลื่อนออกไปและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่ประสบปัญหาทางเศรษฐกิจ อุปสงค์ลดลง และการชะลอสินเชื่อของธนาคารทำให้โครงการอสังหาริมทรัพย์ใหม่ๆ เลื่อนออกไป ผู้ประกอบการหลายรายพยายามดิ้นรนอยู่รอดโดยการลดราคาแข่งขันกัน ส่งผลต่อการขยายตัวของเหล็กและเหล็กกล้าลดลง -13.0% ส่วนอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ที่อิงอยู่กับอุตสาหกรรมยานยนต์มีการขยายตัวลดลงถึง -26.9%

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมอาหารสำเร็จรูปและอื่น ๆ ได้รับอานิสงส์จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากมาตรการล๊อคดาวน์ที่ต้องทำงานอยู่กับบ้าน ทำให้ผู้บริโภคพึ่งพิงอาหารสำเร็จรูปมากขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไปและยอมรับอาหารสำเร็จรูปมากขึ้น ทำให้การส่งออกของอาหารยังมีอัตราการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ยังมีอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์บางชนิด อาทิ ชุดถ่ายเลือดและให้น้ำเกลือ และอุปกรณ์ทางการแพทย์จำพวกใช้แล้วทิ้ง (Disposable) มีความต้องการมากขึ้น ยังไม่พอความต้องการถุงมือตรวจโรคและทางการแพทย์มีความต้องการมาก จนถึงขณะนี้ออร์เดอร์ถุงมือยางยังล้นมือของโรงงานต่าง ๆบางออร์เดอร์ต้องรอถึง 7-8 เดือน 

อุตสาหกรรมไทย : ครึ่งปีแรกถอยหลังไป 10 ปี

ไม่ต้องสงสัยว่าวิกฤติไวรัสครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อผลผลิตภาคอุตสาหกรรมลดลงอย่างมาก ทำให้ผลผลิตถอยหลังไปเกือบสิบปี แม้จะไม่มากเท่ากับช่วงวิกฤติน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554 ปลายปี แต่คราวนั้น เป็นปัญหาระยะสั้นแม้จะรุนแรง กระทบอุตสาหกรรมไม่เลือกหน้า แต่วิกฤติครั้งนี้มีผลกระทบหนักในบางอุตสาหกรรม แต่บางอุตสาหกรรมก็ได้ประโยชน์พอสมควรทำให้ผลกระทบรวมไม่ลดลงมากเหมือนไตรมาสสุดท้ายของปี 2554

แต่สิ่งที่ต้องกังวลก็คือ ครั้งน้ำท่วม ตลาดต่างประเทศไม่มีปัญหา ลูกค้ารอซื้อเมื่อเราพร้อมผลิต ทำให้สามารถฟื้นตัวได้ไว ใช้เวลาเพียงไตรมาสเดียวก็กลับสู่ภาวะเกือบปกติ แต่วิกฤติคราวนี้ ลูกค้าทั่วโลกมีปัญหา เศรษฐกิจในประเทศไม่มีวี่แววว่าจะกลับมาเหมือนเดิมได้เมื่อไร การท่องเที่ยวไม่รู้อนาคต ธุรกิจบริการชักหน้าไม่ถึงหลัง ผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดระวังทั้งรายได้ที่ไม่แน่นอน

และมีพฤติกรรมใหม่ในการใช้จ่าย ทำให้การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมไทยดูไม่แน่นอน แม้ว่าดัชนี MPI รายเดือนของเดือนมิถุนายนจะขึ้นจากจุดต่ำสุดในเดือนพฤษภาคมจากลดลง -21.0% ในเดือนพฤษภาคม มาเป็น -17.1 ในเดือนมิถุนายน แต่เราต้องเข้าใจว่าผลผลิตยังขยายตัวติดลบ มองในแง่ดีก็เรียกว่า แย่น้อยลง แต่ต้องไม่ลืมว่า ยังแย่อยู่

              ถามว่าเราจะกลับมาเหมือนเดิมเมื่อไร นอกจากเราต้องรอดูสถานการณ์อื่น ๆ ประกอบ เช่น วัคซีนจะมีใช้เมื่อไร มาตรการปลดล็อคทำได้มากน้อยขนาดไหน ความรุนแรงของปัญหาการค้าระหว่างประเทศระหว่างจีนกับสหรัฐ แล้ว ผู้เกี่ยวข้องคงต้องเร่งยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือในระยะสั้นนี้โดยเร็ว ผมว่าภาคอุตสาหกรรมเหมือนคนตกลงไปในหลุมลึก นอนสลบในระยะแรก ตอนนี้เริ่มรู้สึกตัว พยายามลุกขึ้นนั่ง …. รัฐจะต้องไม่เพียงแต่นั่งที่ปากหลุมแล้วตะโกนถามว่าเมื่อไรจะขึ้นมาจากหลุมได้ เพราะเอาแค่วันนี้หายมึนก็หนักพอแล้ว หากจะให้เขามีเรี่ยวแรงขึ้นมาบ้างคงต้องส่งอาหารลงไปในเบื้องต้น แล้ววางแผนต่อบันได หรือโยนเชือกดึงเขาขึ้นมา ดีกว่าครับ