คืนความศักดิ์สิทธิ์กฎหมาย กอบกู้กระบวนการยุติธรรม

01 ส.ค. 2563 | 06:00 น.

คืนความศักดิ์สิทธิ์กฎหมาย กอบกู้กระบวนการยุติธรรม : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3597 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 2-5 ส.ค.2563

คืนความศักดิ์สิทธิ์กฎหมาย

กอบกู้กระบวนการยุติธรรม
 

     ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) มีคำสั่งไม่ฟ้องทุกข้อหา “บอส อยู่วิทยา” ทายาทเจ้าสัวเครื่องดื่มชูกำลังกระทิงแดง ฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ดาบตำรวจวิเชียร กลั่นประเสริฐ ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 3 กันยายน 2555 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291 ซึ่งมีกำหนดจะหมดอายุความในวันที่ 3 กันยายน 2570 พร้อมมีการถอนหมายจับในทุกคดี ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามมาอย่างกว้างขวางว่า “คุกมีไว้ขังคนจน” สร้างความสั่นคลอนให้กับกระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นอย่างมาก
 

     ต้องไม่ลืมว่าในคดีนี้ยังมีอีกหลายคำถามที่สังคมยังเคลือบแคลง ไม่ว่าจะเป็นที่อ้างว่ามีการสอบพยายนใหม่ 2 คน คือ พล.อ.ท.จักรกฤช ถนอมกุลบุตร และ นายจารุชาติ มาดทอง ที่ให้การเพิ่มเติมหลังเหตุการณ์ผ่านไปแล้ว 8 ปี แต่ล่าสุดมีเอกสารที่ลงนามโดย นายพินันพ์ ลักษณ์ศิริ อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ปฏิบัติราชการในหน้าที่อัยการพิเศษฝ่ายคดีร้องขอความเป็นธรรม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2562 ระบุว่าพยานทั้ง 2 คน ได้มีการสอบปากคำไปแล้วก่อนหน้านี้ จึงไม่ใช่พยานใหม่
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง
รื้อคดี “บอส อยู่วิทยา” ความหวังอยู่ที่ “หลักฐานใหม่”
ศรีสุวรรณจี้ ป.ป.ช.เอาผิดตำรวจ สั่งไม่ฟ้องมีโคเคนจากทำฟัน“บอส อยู่วิทยา”
ชูวิทย์ ชี้ "คดีบอส อยู่วิทยา" เรื่องมันจบไปแล้ว
ไว้อาลัยขบวนการอยุติธรรม คดีอัปยศ “ตร.-อัยการ”

     ขณะที่การคำนวณความเร็วรถเฟอร์รารีคันเกิดเหตุ ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงในสังคม เพราะเดิมคำนวณความเร็วได้ 177 กม./ชม. แต่เมื่อมีการคำนวณใหม่ความเร็วกลับลดลงมาอยู่ที่ 79.23 กม./ชม. ซึ่งต่างกันมาก ยังไม่นับรวมกรณีสารเสพติดโคเคนที่พบในตัวนายวรยุทธ ที่ทางพนักงานสอบสวนไม่ได้มีการฟ้องร้องดำเนินคดี โดยอ้างว่าสารที่ตรวจพบในร่างกายนายวรยุทธ เป็นยาที่ใช้ในการรักษาฟันที่มีส่วนผสมของสารโคเคน ซึ่งขัดแย้งกับข้อมูลของทันตแพทย์หลายรายที่ยืนยันตรงกันว่า เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าและพัฒนาไปไกลมากแล้ว จึงไม่มีการนำสารโคเคน ที่ถูกระบุว่าเป็นสารเสพติด เข้ามาใช้เกี่ยวกับทางทันตกรรมอย่างแน่นอน
 

     หากพิจารณาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ป.วิอาญา) มาตรา 145 การที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่ฟ้อง ส่งผลให้คดีถือเป็นที่สุด ยกเว้นญาติผู้เสียหายจะฟ้องร้องเอง แต่ก็มีคำถามตามมาว่ากระบวนการพิจารณาทั้งหมดจนกระทั่งมีคำสั่งดังกล่าวออกมา สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ความเป็นธรรม ความยุติธรรม หรือไม่
 

     ดังนั้นเพื่อกอบกู้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อกระบวนการยุติธรรม นอกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องชี้ข้อสงสัยต่างๆ ทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนพฤติการณ์และบุคลเกี่ยวข้องอย่างโปร่งใสและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายแล้ว สิ่งสำคัญคือจะต้องบังคับใช้กฎหมาย อย่างเป็นธรรม ไม่เลือกปฏิบัติ เพื่อกอบกู้กระบวนการยุติธรรม คืนความยุติธรรมให้กับประชาชน