สิ่งที่อาเซียนต้องทำ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

01 ส.ค. 2563 | 01:30 น.

 

คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,597 หน้า 5 วันที่ 2 - 5 สิงหาคม 2563

 

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2020 ที่ผ่านมา หัวหน้ารัฐบาลของทั้ง 10 ประเทศสมาชิกอาเซียนได้เข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 36 ผ่านระบบประชุมทางไกล ซึ่งถือเป็นการประชุมสุดยอดผู้นำอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่ใช้ระบบประชุมทางไกล แม้ว่าจะได้เคยมีการประชุมทางไกลไปแล้ว 1 ครั้ง แต่นั่นก็เรียกว่าเป็น ประชุมสุด ยอดอาเซียน สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) โดยจัดไปแล้วเมื่อวันที่ 14 เมษายน 2020

 

แต่ไม่ว่าจะเป็นการประชุมอย่างเป็นทางการครั้งแรก หรือครั้งที่ 2 สาระสำคัญของการประชุมก็คือ อาเซียนทั้ง 10 ประเทศยังยืนยันเจตนารมณ์ในการขับเคลื่อนประชาคมอาเซียนที่มีประชาชนเป็นจุดศูนย์กลาง และการเสริมสร้างควสามร่วมมือเพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยอาเซียนจะร่วมมือกันเพื่อพัฒนายาและวัคซีน อาเซียนจะร่วมกันพิจารณาเพื่อผ่อนปรนมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทางในอาเซียน และยืนยันที่จะส่งเสริม Digital Technology เพื่อช่วยควบคุมการแพร่ระบาด

 

อาเซียนยังประกาศจัดตั้งกองทุน COVID-19 ASEAN Response Fund อย่างเป็นทางการ โดยเบื้องต้น จะมีการนำเงินจากกองทุน ASEAN Development Fund จำนวน 3 แสนดอลลาร์สหรัฐฯไปใช้เป็นเงินทุนเริ่มต้น เพื่อการจัดซื้ออุปกรณ์ในการตรวจโรค ป้องกันกันติดต่อ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยเฉพาะให้กับประเทศที่มีความเปราะบางสูง

 

ประเทศไทยประกาศจะสมทบกองทุนนี้เพิ่มอีก 1 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของ ครม. เพื่อผ่านมติครม. งบประมาณที่ไทยจัดสรรไว้แล้วก็จะถูกโอนไปให้อาเซียน ในขณะที่เกาหลีใต้ ซึ่งก็ร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน +3 สมัยพิเศษเมื่อวันที่ 14 เมษายน ก็ยืนยันจะสมทบกองทุนนี้เพิ่มอีก 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเชื่อว่าทั้งจีน และญี่ปุ่นเองก็คงจะสนับสนุนเงินทุนเพิ่มขึ้น และยังสัญญาที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับอาเซียนหากแต่ละประเทศสามารถพัฒนาวัคซีนได้สำเร็จ

 

สิ่งที่ยังจะต้องเดินหน้าต่อไปคือการที่ทุกประเทศต้องร่วมมือกันจัดทำแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ครอบ คลุมในระดับภูมิภาค รวมทั้งการถอดบทเรียนจากการแพร่ระบาดครั้งนี้เพื่อวางมาตรการรับมือหากเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในลักษณะเช่นนี้อีกในอนาคต

 

ตัวผมเองได้มีโอกาสเป็นหนึ่งในคณะกรรมการสมาคมอาเซียน-ประเทศไทย และเมื่อวันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ก็ได้เข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการสมาคม ซึ่งประกอบไปด้วยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศทั้งในอดีตและปัจจุบัน อดีตรัฐมนตรี อดีตเอกอัครราชทูต อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่เคยทำงานกับสำนักเลขาธิการอาเซียน นักธุรกิจ นักวิชาการ สื่อสารมวลชน และตัวแทนภาคประชาสังคม สิ่งที่คณะกรรมการหารือและนำเสนอกับกรมอาเซียนที่น่าสนใจเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ไทยควรจะเร่งนำเสนอกับสมาชิกอาเซียนต่อไป หลักๆ น่าจะมีอยู่ 2 ประการคือ

 

ประการแรก ขณะนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดในการสร้างความร่วมมือกันทั้ง 10 ประเทศ เพื่อสร้างอำนาจต่อรองในการขอซื้อและ/หรือขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี รวมทั้งจองโควตากับผู้ผลิตที่มีแนวโน้มว่าจะสามารถผลิตวัคซีนได้ในระยะเวลาอันใกล้ เราทราบดีว่าขณะนี้สหรัฐเตรียมงบประมาณไว้มากกว่า 1,950 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือมากกว่า 61,000 ล้านบาท เพื่อซื้อวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่บริษัทพัฒนาร่วมกับบริษัทไบโอเอ็นเทคของเยอรมนี จำนวน 100 ล้านโดส ซึ่งนั่นหมายความว่ายาหนึ่งโดสจะมีราคาในราว 19.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ผู้รับวัคซีนแต่ละคนต้องรับยา 2 โดส หรือมีต้นทุนในราว 39 ดอลลาร์สหรัฐฯ/คน (1,240 บาท/คน) เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน

 

 

ในขณะที่ไทยเองก็กำลังจะเริ่มต้นเจรจากับมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด เพื่อขอรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี หากวัคซีนที่ผ่านการทดลองในมนุษย์แล้วสามารถผลิตและใช้งานได้จริง โดยไทยเตรียมงบประมาณไว้อีก 600 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในการผลิตยาวัคซีนนี้

 

สิ่งที่อาเซียนต้องทำ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

 

คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วสำหรับทั้งประชาคมอาเซียนล่ะ ทุกประเทศมีความพร้อมหรือไม่ 1,240 บาท เพื่อซื้อวัคซีนอาจจะเป็นเงินจำนวนไม่มากสำหรับประชาชนบางประเทศ แต่สำหรับบางประเทศสมาชิก นี่คือเงินจำนวนมหาศาลที่คนในประเทศ อาจจะไม่มีกำลังซื้อมากเพียงพอ

 

ดังนั้นไทย ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกที่มีบทบาทนำในประชาคมอาเซียนมาโดยตลอด น่าจะเป็นผู้ประสานงาน เพื่อให้ทั้งอาเซียนสามารถรวมอุปสงค์ต่อวัคซีนดังกล่าวเข้าด้วยกัน จัดซื้อหรือจองโควตาด้วยกัน เพื่อให้มีปริมาณคำสั่งซื้อที่สูง ซึ่งจะเพิ่มอำนาจการต่อรองจากบริษัทผู้ผลิต จนได้วัคซีนในราคาที่ตํ่าลง

 

ทั้งนี้ต้องอย่าลืมว่าในคราวที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปีที่แล้ว ประเทศไทยได้ผลักดันจนผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศลงนามในปฏิญญาอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและการพึ่งตนเองด้านวัคซีนในภูมิภาค (ASEAN Leaders’ Declaration on ASEAN Vaccine Security and Self-Reliance: AVSSR) ดังนั้นไทยต้องพยายามนำกลไกที่ได้จัดตั้งไปแล้วนี้มาใช้ประโยชน์ให้เต็มที่

 

ประการที่ 2 ที่เป็นข้อห่วงกังวลและอาเซียนเองก็เคยตกลงกันไว้แล้วในปฏิญญาของการประชุมสุดยอดอาเซียนสมัยพิเศษว่าด้วย COVID- 19 (Declaration of the Special ASEAN Summit on COVID-19) ที่จะ มีการสนับสนุนและสร้างหลักประกัน ว่าการเคลื่อนย้ายอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยา เวชภัณฑ์ และสินค้าต่างๆ ที่มีความจำเป็นในการรับมือกับไวรัสโควิด-19 ต้องไม่มีอุปสรรคทั้งในเรื่องของกฎระเบียบ กติกา และมาตรการทางการค้าต่างๆ ของประเทศสมาชิก

 

 

คำถามที่สำคัญคือ ปัจจุบันได้มีการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับสิ่งอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitations: TF) ในประเด็นนี้ไปแล้วมากน้อยเพียงใด และเมื่อพิจารณาถึงการเชื่อมโยงที่ไร้รอยต่อเพื่อความจำเป็นในด้านสาธารณสุขเช่นนี้ เราคงไม่คำนึงถึงเฉพาะมาตรการที่บริเวณชายแดน (Border Measures) เท่านั้น หากแต่คงต้องคำนึงถึงมาตรการที่นอกเหนือจากชายแดน (Beyond- Border Measures) ซึ่งหมายถึงการบริหารจัดการในมิติการเชื่อมโยงของกฎหมาย ระเบียบ และกติกา อีกด้วย

 

ในที่นี้ยังต้องหมายรวมถึงการเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบ เช่น ศึกษาหาช่องทางในการใช้ สิทธิเหนือสิทธิบัตรยา (Compulsory Licensing: CL) หรือการใช้ CL ยา เพื่อผลิตวัคซีนที่อาจจะมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจนทำให้ราคายามีราคาที่สูงจนเกินกว่าที่ประชาชนจะเข้าถึงได้ การศึกษาเตรียมการไว้ล่วงหน้า จะทำให้อาเซียนสามารถสร้างหลักประกันทางสาธารณสุขให้กับประชาชนอาเซียนได้

 

แน่นอนการดำเนินการในมิตินี้อาจต้องมีการสร้างความร่วมมือกับประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญและมีฐานการผลิตยาและเวชภัณฑ์ที่มีมาตรฐานสูงและเชี่ยวชาญการใช้ CL ยา อย่างเช่น ประเทศอินเดีย

 

ดังนั้นในวาระที่อาเซียนจะมีอายุครบ 53 ปี ในวันที่ 8 สิงหาคม 1967-2020 ประเทศสมาชิกยังต้องเดินหน้า สร้างความร่วมมือ เพื่อพ้นวิกฤติทางด้านสุขภาพนี้ไปด้วยกันอย่าง ยั่งยืน ทั้งนี้เพื่อสำหรับประชาคมอาเซียนแล้ว ประชาชน คือ จุดศูนย์กลาง