เงินผันเฉียดหมื่นล้าน สร้างงานทุกตำบล

29 ก.ค. 2563 | 03:00 น.

เงินผันเฉียดหมื่นล้าน สร้างงานทุกตำบล : คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3596 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 30 ก.ค.-1 ส.ค.63 โดย... พรานบุญ

เงินผันเฉียดหมื่นล้าน

สร้างงานทุกตำบล

 

     คึกลิด แกเป็นคน คิดลึก

     กลางคืนดึกๆ

     แกนั่งนึก นอนคิด

     คิดช่วย คนยาก คนจน

     ให้สภาตำบล สร้างถนน เชื่อมติด

     พวกเรา ก็ไปรับจ้าง (ซ้ำ)

     ขุดคลอง สร้างทาง เอาสตางค์คึกลิด...

 

     ลิง ค่าง บ่าง ชะนี อีเห็น ร้องเพลงเก่ายุคโบราณกันดังไปทั้งท้องทุ่ง
 

​​​​​​​     เพราะนึกไม่ถึงนโยบายเงินผันของรัฐบาลของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อปี 2518 จะหวนกลับมาสร้างความคึกคักให้กับผู้คนในท้องถิ่นบ้านไร่ปลายนาอีกครั้งในยุครัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
 

​​​​​​​     ยุคนั้น “เงินผัน” ถือเป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลที่จัดสรรงบประมาณ 2,500 ล้านบาท มอบให้สภาตำบลทั่วประเทศใช้จ้างแรงงานท้องถิ่น ทำโครงการที่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ เช่น สร้างถนน สร้างโรงเรียน ขุดคูคลอง ทำฝายเก็บน้ำ
 

​​​​​​​     เงินผัน 2,500 ล้านบาท ในปี พ.ศ.2518 เมื่อก๋วยเตี๋ยวราคาชามละ 3 บาท ถือเป็นเงินก้อนใหญ่ มีเสียงคัดค้าน เสียงตำหนินโยบายนี้มากมาย บ้างล้อเลียนว่าเป็น “เงินผลาญ” หรือ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ” รวมทั้งได้รับข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน

     นายกฯ คึกฤทธิ์ โต้ข้อกล่าวหานั้นว่า “ถ้าจะพูดถึงคอร์รัปชัน ผมยอมรับ มันมี ไม่ได้มากมายอะไร...ก็โครงการเงินผันนั้น ราษฎรมีโอกาสครั้งแรกตั้งแต่ตั้งเมืองไทยมา" จนฮือฮาไปทั่วประเทศ
 

     ยุคนี้ 8 ก.ค.2563 รัฐบาลนายกฯลุงตู่ อนุมัติเงินก้อนโตกว่า 9,800 ล้านบาท เห็นชอบโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้ "เฉลิมชัย ศรีอ่อน" รมว.เกษตรและสหกรณ์ ไปทำโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อแก้ปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) โดยให้ลงไปถึงระดับหมู่บ้าน โดยใช้หลักของเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดินเพื่อการอยู่อาศัยและมีชีวิตอย่างยั่งยืน
 

​​​​​​​     สาระหลักจะมีการแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ได้แก่ พื้นที่น้ำ พื้นที่ดินเพื่อเป็นที่นาปลูกข้าว พื้นที่ดินสำหรับปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น พืชไร่นานาพันธุ์ และที่สำหรับอยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์ ในอัตราส่วน 30:30:30:10 เป็นหลักการในการบริหารจัดการที่ดินและน้ำ เพื่อการเกษตรในที่ดินขนาดเล็กให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
 

​​​​​​​     โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ จะกำหนดคุณสมบัติเกษตรกร จัดทำคู่มือการดำเนินการเกษตรทฤษฎีใหม่ รับสมัครและคัดเลือกเกษตรกรที่จะเข้าร่วมโครงการ โดยต้องมีพื้นที่เกษตรตั้งแต่ 3 ไร่ และพร้อมอุทิศตนเป็นต้นแบบศูนย์เรียนรู้ชุมชน

     ผู้เข้าร่วมจะได้รับสระเก็บน้ำความจุรวม 4,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อส่งเสริมและปัจจัยการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจากกรมประมง การปรับสภาพและบำรุงดิน
 

​​​​​​​     จากกรมพัฒนาที่ดิน การส่งเสริมปัจจัยด้านปศุสัตว์และพืชเลี้ยงสัตว์
 

​​​​​​​     ที่สำคัญเกษตรกรจะได้รับการอบรมบ่มเพาะ ให้มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่
 

​​​​​​​     เป้าหมายการดำเนินงานคาดว่าจะมีกลุ่มเกษตรกรเกิดขึ้นราว 4,009 ตำบล เฉลี่ยตำบลละ 16 ราย รวมทั้งสิ้น 64,144 ราย
 

​​​​​​​     จะมีการจ้างงาน ตำบลละ 8 คน รวม 32,072 ราย คนเข้าร่วมจะมีรายได้เดือนละ 9000 บาท/ราย เป็นระยะเวลา 12 เดือน
 

​​​​​​​     อีเห็นบอกว่า ตามแผนงานของโครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ คาดว่าจะมีพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืน เพิ่มขึ้นรวม 192,432 ไร่ พื้นที่เก็บกับน้ำจุได้ รวม 256 ล้าน ลูกบาศก์เมตร พื้นที่ปลูกป่าเพิ่มขึ้น 19,253 ไร่
 

​​​​​​​     อะแฮ่มจะมีเกษตรกรได้รับการพัฒนาให้มีความมั่นคงในอาชีพอย่างยั่งยืนถึง 64,144 ราย เกิดการจ้างงาน 32,072 คน
 

​​​​​​​     รัฐมนตรีเฉลิมชัยประกาศชัดว่าจะแปลงต้นแบบเพื่อการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่กว่า 64,144 แปลง....wowww มั่ย?
 

​​​​​​​     เงินกำลังจะหมุนไปใส่มือประชาชน